รู้จัก "เมซง ทาคุยะ" แบรนด์ระดับโลกฝีมือคนไทย

รู้จัก "เมซง ทาคุยะ" แบรนด์ระดับโลกฝีมือคนไทย

รู้จัก "เมซง ทาคุยะ" แบรนด์ระดับโลกฝีมือคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจลักเซอรี่และการออกแบบมาเป็นเวลาระยะยาวนานกว่า 20 ปี "ฟรองซัวส์ รุสโซ" ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์เครื่องหนังแบรนด์ดังระดับโลก

อย่าง "เมซง ทาคุยะ" Maison Takuya ในปี 2551 ได้พลิกแนวคิด ย้ายฐานทัพจากฝรั่งเศสมาตั้งทัพผลิตเครื่องหนังใหม่อยู่ที่เมืองไทย ด้วยความคิดและความรู้สึกที่ว่าเมืองนี้ทำให้สงบ สามารถทำให้มีสมาธิที่จะครีเอทีฟผลงานพวกนี้ได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งฟรองซัวส์ได้เห็นผลงานที่ละเอียดอ่อนของช่างไทย จึงจุดประกายให้ฟรองซัวส์ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย ในปี 2007 ซึ่งเขาไม่เคยมาอยู่หรือเที่ยวในฐานะนักท่องเที่ยวมาก่อน แต่สาเหตุที่เขาตัดสินใจย้ายมานั้น จากความคิดที่มองเห็นว่า ผลงานและคุณภาพของการผลิตด้วยมือ ในทางฝรั่งเศสก็ดี อิตาลีก็ดี มีฝีมือการผลิตที่ลดลง และถดถอยลงเรื่อย ๆ เขาจึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาเครื่องหนังที่เย็บด้วยมือและก่อตั้งแบรนด์ลักเซอรี่ชั้นนำแห่งแรกในเอเชีย โดยเลือกให้ฐานผลิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

"ผมเห็นเทรนด์จากการที่แบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ในส่วนของความละเอียดของการผลิตตั้งแต่ปี 1990 ในยุโรปมีคุณภาพที่ตกต่ำลง ในขณะที่ทางโซนเอเชีย ศิลปะการทำด้วยมือยังคงเพิ่มขึ้น นั่นคือเหตุผลหลักที่ผมรู้สึกว่า การจะสานฝันการทำลักเซอรี่โปรดักต์ จริง ๆ มันเกิดขึ้นจริงได้ แต่ไม่สามารถทำให้เกิดในโซนยุโรปได้แล้ว"

นิวลักเซอรี่โปรดักต์อย่าง "เมซง ทาคุยะ" อาจจะเทียบได้กับแบรนด์ชั้นนำอย่าง Louis Vuitton, Prada และ Hermes ที่กำลังเจาะตลาดบรรดาผู้ชื่นชอบเครื่องหนัง โดยมีรูปแบบการดีไซน์ที่มีเสน่ห์ เรียบหรู ไม่หวือหวา ซึ่งโครงสร้างของแบรนด์ เมซง ทาคุยะ มีจุดเด่นคือ ทิศทางการออกแบบอย่างชัด

"ตอนที่เริ่มทำตรงนี้ไม่ได้เป็นอะไรที่ง่าย ช่างไทยมีฝีมือจริง แต่ว่าไม่ได้มีความชำนาญเฉพาะทาง เพราะฉะนั้นต้องนำช่างจากต่างประเทศเข้ามาฝึกเป็นแรมปี สิ่งต่าง ๆ อาจทำให้รู้สึกว่ามันยากและท้อแท้ แต่ทุกครั้งที่รู้สึกว่ามีอะไรติดขัด มักจะมีเหตุการณ์ที่สามารถพลิกสถานการณ์ให้เป็นโอกาสขึ้นมา จึงทำให้มีทุกวันนี้"

ฟรองซัวส์มองว่า ช่างฝีมือคนเชียงใหม่เหมาะกับเมซง ทาคุยะ ในเรื่องของงานฝีมือ สายตา และความละเอียดอ่อน ที่จะผลิตงานสานเล็ก ๆ ซึ่งคนเชียงใหม่นี่แหละจะสามารถตอบโจทย์โครงสร้างแบรนด์เขาได้

ด้วยความเป็นไทยโกอินเตอร์ไม่ได้ การที่จะทำให้ลักเซอรี่ของไทยเข้าตากรรมการที่อยู่ทั่วโลก มันจะต้องมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ที่สำคัญเป้าหมายไม่ได้ต้องการแค่ผลิต

และประสบผลสำเร็จกับแบรนด์นี้ แต่อยากทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตลักเซอรี่แบรนด์ใหม่ในอนาคต ฝรั่งเศสอาจเคยเป็นจุดศูนย์รวม หรือเป็นลักเซอรี่โปรดักต์ แต่ไม่เสมอไป เราสามารถสร้างประเทศที่จะผลิตลักเซอรี่แบรนด์ขึ้นมาใหม่ได้

ฟรองซัวส์คัดสรรหนังสัตว์ที่ดีในลักษณะต่างๆ มาทำเครื่องหนังเมซง ทาคุยะ ไม่ว่าจะเป็นหนังนกกระจอกเทศ, แกะ, ฉลาม, จระเข้, ปลากระเบน, งู และลูกวัวเยอรมัน ซึ่งการหาหนังแต่ละโปรดักต์ค่อนข้างยาก

เพราะเครื่องหนังบางอย่างอย่างเช่น กระเป๋า ต้องใช้หนังแผ่นเดียว และหนังต้องไม่มีตำหนิ อีกทั้งเมซง ทาคุยะ ยังเป็นเจ้าแรกที่พัฒนาซิปที่ใช้กับหนังโดยการเย็บ เพราะการเย็บจะทำให้หนังไม่ย่นนั่นเอง และในแต่ละเดือนโรงงานจะผลิตเครื่องหนังและแอ็กเซสซอรี่ได้ประมาณ 2,800 ชิ้น แบ่งเป็นกระเป๋า 10% แอ็กเซสซอรี่ 90%

"รูปแบบการออกแบบขึ้นอยู่กับฟังก์ชั่นหนังและการใช้งาน ผมคำนึงถึงการนำไปใช้ ทำอย่างไรเพื่อให้คนใช้เมซง ทาคุยะ แล้วไม่เสียความรู้สึก"

สำหรับเครื่องหนังที่ได้รับความนิยมมากของเมซง ทาคุยะ คือกระเป๋ารุ่น unibody ที่มีราคาตั้งแต่ 1,200-35,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีวางขายในร้านค้าและห้างชั้นนำราวกว่า 160 แห่ง ใน 19 ประเทศทั่วโลก เช่น Collete ที่ปารีส, Bergdorf Goodman ที่นิวยอร์ก และ Shinsagae ที่โซล

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ รู้จัก "เมซง ทาคุยะ" แบรนด์ระดับโลกฝีมือคนไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook