เวิลด์แบงก์ เร่งรัฐกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวแปรฉุดเศรษฐกิจไทยพุ่ง

เวิลด์แบงก์ เร่งรัฐกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวแปรฉุดเศรษฐกิจไทยพุ่ง

เวิลด์แบงก์ เร่งรัฐกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวแปรฉุดเศรษฐกิจไทยพุ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น.ส.เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุ เศรษฐกิจไทยในปีนี้ถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวที่ 2.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค. 64 ที่ 3.4% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในปีนี้มีจำนวนลดลง โดยคาดว่าเหลือเพียง 6 แสนคน เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 40 ล้านคน

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่การรับมือด้วยมาตรการความคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนของรัฐบาล ส่งผลเป็นที่น่าพอใจ พื้นที่การคลังของไทยยังมีเพียงพอสำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนยากจนในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า” ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุ

น.ส.ฟรานเชสกา ลามานนา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก ระบุ ประเทศไทยมีการรับมือด้านการคลังที่รวดเร็วและค่อนข้างดี เนื่องจากรัฐบาลได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินให้กับประชาชนจากเดิมที่อยู่ในระดับที่ไม่มากนัก มาเป็นชุดของมาตรการเยียวยาเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งธนาคารโลกได้จำลองสถานการณ์เบื้องต้นไว้ว่าในปี 63 ประเทศไทยจะมีคนจนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 780,000 คน หากรัฐบาลไม่เพิ่มมาตรการความช่วยเหลือทางด้านสังคม

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวที่ 5.1% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะโตที่ 2.2% ซึ่งปัจจัยมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้นจากอุปสงค์โลก โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักรกล รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงไว้ 3 ปัจจัย คือ การระบาดของไวรัสโควิดที่ควบคุมได้ยากขึ้น, การกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ รวมถึงการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้มีข้อเสนอในเชิงนโนบายสำคัญถึง 3 ประเด็น

  1. การจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาอีกครั้ง เพื่อเป็นแรงหนุนให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจภาคการบริการ และการบริโภคภายในประเทศ
  2. นโยบายด้านการคลังของไทยยังมีพื้นที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายและสามารถรักษาเสถียรภาพไว้ได้ แต่การใช้นโยบายควรตรงกลุ่มเป้าหมาย
  3. ประเทศไทยควรใช้โอกาสที่สถานการณ์การค้าโลกมีทิศทางสดใสด้วยการปฏิรูปโครงสร้างระหว่างประเทศ เน้นการลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ไทยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวการค้าและการลงทุนของโลก

สำหรับมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ในขณะนี้นั้น มองว่ากระทบกับเศรษฐกิจไทยไม่มากนักเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีความเข้มงวด ซึ่งภาคธุรกิจ รวมถึงภาคครัวเรือนได้รับปรับตัวไปก่อนแล้ว ทำให้ภาคการบริโภครวมถึงการบริการในปีนี้ ขยายตัวได้ 1.3% พร้อมคาดในปี 65 จะขยายตัวได้ 3.9% เห็นได้จากการเดลิเวอร์รี่ เป็นต้น

ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงเกินเพดานที่ 60% นั้นเป็นผลมาจากรายได้ครัวเรือนที่หายไปจากการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจชั่วคราว ทำให้ประชาชนแบกรับภาระหนี้สูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ลดลง รวมถึงการว่างงาน ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะช่วยได้คือมาตรการเยียวยารายได้ของประชาชน เพื่อช่วยแรงงานเข้าสู่ระบบการจ้างงาน รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดยืดเยื้อจนถึงไตรมาสที่ 3 ในปีนี้ คาดว่าจีดีพีไทยอาจลดลงเหลือ 1.2% จากปัจจุบันที่คาดว่าขยายได้ 2.2%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook