ธปท.หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง คลังไม่กังวลแค่ซื้อรถคันแรก

ธปท.หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง คลังไม่กังวลแค่ซื้อรถคันแรก

ธปท.หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง คลังไม่กังวลแค่ซื้อรถคันแรก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์ชาติเผยหนี้ภาคครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 17% จากที่ผ่านมาอยู่ที่ 13% หลังเศรษฐกิจขยายตัวดี ดอกเบี้ยต่ำผู้บริโภคเข้าถึงแหล่ง เงินทุนได้มากขึ้น ขณะที่สถาบัน การเงินต่างแข่งระดมปล่อยสินเชื่อ ด้านคลังไม่กังวล ชี้เริ่ม มีสัญญาณปกติหลังจากนโยบายรถคันแรกได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันเป็นประเด็นที่สาธารณะให้ความสำคัญและมีความกังวลถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้ โดยในปี 2555 ยอดสินเชื่อรวมมีจำนวน 11.27 ล้านล้านบาท ขยายตัว 15.3% หากแยกเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่คิดเป็น 25.8% ของสินเชื่อทั้งหมด มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 21.6% จากปัจจัยโครงการรถยนต์คันแรก หากไม่รวมสินเชื่อรถยนต์ จะพบว่าสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพียง 17.4% ขณะเดียวกัน ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในหมวดอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเพียง 2.4%

สำหรับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ของปีนี้ สินเชื่อรวมขยายตัว 15.8% สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 20% มาจากสินเชื่อรถยนต์ หากไม่รวมสินเชื่อรถยนต์ จะทำให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 15.1% หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไม่กระทบฐานะการดำเนินของธนาคารพาณิชย์ เพราะยังพบว่ามีหนี้เสียในอัตราที่ต่ำ โดยล่าสุด ยอดค้างสินเชื่อเกิน 3 เดือนขึ้นไปต่อสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 2.2% ของสินเชื่อบัตรเครดิต สะท้อนว่าครัวเรือนยังมีความสามารถในการชำระหนี้

ทั้งนี้ สศค.ประเมินว่าหนี้ครัวเรือนจะเริ่มมีสัญญาณปกติหลังจากนโยบายรถคันแรกได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัว 33.9% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการรถคันแรกของภาครัฐที่ส่งผล โดยตรงต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคที่เร่งการซื้อรถยนต์คันแรก

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในประเด็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจากข้อมูลของ ธปท. ต่อรายได้ของภาคครัวเรือน สศค. พบว่า ในปี 2555 สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 82 ซึ่งยังอยู่ในระดับปกติในปัจจุบัน แต่ถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามถึงแนวโน้มในอนาคตต่อไป

ขณะที่นายพสิษฐ์ โชติวัฒนะกุล เศรษฐกร ทีมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน 1-2 สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 17% จากที่ผ่านมาอยู่ที่ 13% เพราะเศรษฐกิจขยายตัวดี ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ภาคเอกชนทั้งครัวเรือนและธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมทั้งบรรดาสถาบันการเงินต่างระดมปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย ซึ่งหากการก่อหนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวเร็วและมากกว่าการขยายตัวของรายได้เหมือนในปัจจุบัน ก็มีความเสี่ยงจะเกิดปัญหาการก่อหนี้เกินตัวในอนาคต ที่สำคัญอาจกลายเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะฟองสบู่ในราคาหลักทรัพย์ได้ หากเป็นการกู้ยืมเพื่อลงทุนและเก็งกำไรในหลักทรัพย์ โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน 78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

"หนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น อาจหมายถึงเศรษฐกิจขยายตัวดี ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย แต่หากวันหนึ่งเศรษฐกิจชะลอตัว รวดเร็วและการว่างงานสูงขึ้น จะส่งผลกระทบ ต่อรายได้ภาคครัวเรือน ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และการบริโภค ของประชาชนลดลงไปด้วย จึงมีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซาเป็นเวลานานได้เช่นกัน เช่นเดียวกับสหรัฐ เมื่อเกิดฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตก ราคา ที่อยู่อาศัยตกอย่างรวดเร็ว ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนหายไป"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook