"ศรีมันตะ" ครอบครัวต้นแบบน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงแก้จน
จากความทุกข์ยากที่หาเลี้ยงครอบครัว 5 ชีวิต ที่อาศัยเพิงพักพิงอยู่ท้ายหมู่บ้านห่างจากชุมชนกว่า 200 เมตรเหมือนกับว่าชีวิตของเขาและครอบครัวถูกโดดเดี่ยวจากชุมชน แต่ความดีและการพากเพียรตลอดจนการนำคำสอนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติกับชีวิตภายในครอบครัวจนได้รับโอกาส
เมื่อสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทรายมูลออกสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนตามโครงการ "ยโสธรโมเดล" ที่นายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ต้องการให้ทุกครอบครัวของจังหวัดยโสธรมีความเป็นอยู่ที่ดี และจากโครงการดังกล่าวจึงทราบว่าครอบครัว นายทองใบ ศรีมันตะ ทั้ง 5 ชีวิต มีรายได้ไม่เพียงพอและตกเกณฑ์ จปฐ.
พัฒนาชุมชนจึงได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือประกอบกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยโสธรได้จัดประกวดการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวที่มีรายได้ตกเกณฑ์ จปฐ.ทั้งจังหวัดเมื่อปี 2555 และนายทองใบ ก็ชนะเลิศได้รับเงินรางวัลอีกจำนวน 40,000 บาท จากความขยันอดทนความเอื้ออาทรและเสียสละต่อส่วนรวม
นายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ลงไปเยี่ยมบ้านนายทองใบ และเห็นสภาพความเป็นอยู่โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่หลับนอนหลังคาไม่สามารถกันฝนได้ และจากความดีนายทองใบ ที่สู้ชีวิตเดินตามรอยพ่อตาม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้เกิด บ้านเทิดไท้องค์ราชัน เพื่อมอบให้ครอบครัวนายทองใบ อยู่อย่างมีความสุข
นายทองใบ กล่าวถึงการหาเลี้ยงครอบครัวว่า ตนมีพื้นที่นาและที่อยู่อาศัยรวมกันแล้ว 9 ไร่ และตลอดระยะที่ผ่านมาอาชีพหลักคือการทำนา แต่ที่นาของตนเป็นพื้นที่สูงหากฝนตกลงมาหรือเกิดปีไหนฝนฟ้าไม่ดีนาข้าวที่ปลูกไว้ก็ไม่ได้ผลแต่หากฝนดีก็ได้ผลพอจะมีข้าวเก็บไว้กินตลอดปี นอกจากทำนาแล้วตนและภรรยาจะปลูกพืชแทบทุกอย่างไว้กินส่วนไม้ผลและไม้ยืนต้นนั้นก็จะมีมะม่วง มะพร้าว ต้นตาล แต่อย่างละไม่กี่ต้นเพราะพื้นที่มีน้อยซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกตามคันนาและที่ดอนตรงหัวนา มะม่วงนั้นไม่ได้ขายเพียงแต่ไว้กินไม่ต้องชื้อ ส่วนตาลนั้นก้านหรือใบตาล จะมีคนมาชื้อเพื่อนำไปประกอบเป็นกระติ๊บข้าวเหนียว ลูกตาลที่สุกก็มีชาวบ้านมาขอบ้างเพื่อไปทำขนมตาลแต่บางคนก็ขอซื้อก็เก็บเล็กผสมน้อย
นอกจากนั้น เราก็อาศัยของป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติคือเก็บเห็ด หาไข่มดแดงและอาหารอื่นๆ ที่ชาวอีสานชอบ ขณะเดียวกันตนก็ทำเตาเผาถ่าน จากไม้แห้งและหักลงมาจากป่า เพื่อมีรายได้เข้าครอบครัว ต่อมาได้ขุดสระน้ำบนที่นาของตนเองเพื่อจะเลี้ยงปลาและเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง แต่ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้หวังว่าจะนำน้ำในสระไว้ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อจะได้มีรายได้ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดแต่ตนเองและครอบครัวก็ไม่เคยท้อแม้จะอดบ้างมีกินบ้าง
นายประวัติ กล่าวว่า จากโครงการ ยโสธรโมเดล ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนบนวิถีความพอเพียงและได้ทำการคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบดีเด่นเมื่อปี 2555 คือครอบครัวของนายทองใบ ศรีมันตะ ที่ขยันไม่ท้อต่อชะตาชีวิตอีกทั้งเป็นคนดีที่คอยช่วยเหลือในทางด้านสังคมทางด้านแรงงานที่ตนสามารถที่จะทำได้จากความดีและพากเพียรอดทนอุตสาหะก็ได้รับโอกาส
นายประวัติ ยังกล่าวอีกว่า ดังนั้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจทางจังหวัดยโสธรจึงได้ช่วยเหลือชื้ออุปกรณ์ในการปรับปรุงบ้านจำนวน 5 หมื่นบาท และทางองค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ ได้สนับสนุนปูนซีเมนต์ 30 กระสอบ และทางอำเภอทรายมูลตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ได้สนับสนุนด้านแรงงานจนสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยแบบถาวรโดยใช้งบประมาณรวมแล้ว 1 แสนบาท และได้ทำการมอบบ้านให้กับนายทองใบ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
"ขอให้ประชาชนชาวจังหวัดยโสธรได้ดำเนินชีวิตในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติในการดำรงชีวิตเหมือนกับนายทองใบ ศรีมันตะ ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จและมีความสุขแบบพอเพียง" ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าว
รายงานพิเศษ : สมหมาย พาลผล
สวยมาก! รีสอร์ทลงทุน 60 ล้านของ "ภูริ หิรัญพฤกษ์"
ศรีพันวา รีสอร์ท 6,000 ล้านของตระกูล "อิสสระ"