เลิกเบื่องาน ก่อนตกงาน ปรับทัศนคติ “คิดบวกก็แก้เบื่อ”

เลิกเบื่องาน ก่อนตกงาน ปรับทัศนคติ “คิดบวกก็แก้เบื่อ”

เลิกเบื่องาน ก่อนตกงาน ปรับทัศนคติ “คิดบวกก็แก้เบื่อ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่านเคยมีอาการเช่นนี้หรือไม่

...ตื่นเช้ามาอย่างหมดแรง หมดอาลัยตายอยาก ไม่คิดอยากเดินทางไปทำงาน
...บ่นให้คนรอบข้างฟังเสมอว่า เบื่อ เซ็ง กับงานที่ทำอยู่
...ทนทำงานให้หมดไปวัน ๆ และเฝ้ารอให้ถึงวันศุกร์เร็ว ๆ เพื่อวันเสาร์-อาทิตย์จะได้เที่ยวพักผ่อน
...ทำงานอย่างเช้าชามเย็นชามไปวัน ๆ ไปทำงานสายเป็นประจำ แต่ตกเย็นมักจะรีบกลับบ้านก่อนเพื่อน

หากส่อเค้ามีอาการดังกล่าว พึงระวัง! ท่านอาจกำลังป่วยเป็น "โรคเบื่องาน" เข้าให้แล้ว


โรคเบื่องานเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ความเบื่อหน่ายจากลักษณะงาน อาทิ บทบาทงานที่ตนรับผิดชอบนั้นไม่ตรงกับความชอบความถนัด การได้ทำงานเดิม ๆ ซ้ำซากจำเจ ไม่ท้าทายความสามารถ หรือความเบื่อหน่ายที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน อาทิ เบื่อระบบงานที่เชื่องช้าซ้ำซ้อนไร้ประสิทธิภาพ มีปัญหากับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานจนทำให้พาลเบื่องานไปด้วย


ผู้ที่มีอาการของโรคเบื่องานมักจะหาทางออกให้ตนเองหลุดพ้นจากความเบื่อหน่ายที่มีอยู่ โดยในขั้นแรกอาจด้วยการพยายามอดทนทำงานนั้น ๆ ต่อไป เนื่องจากยังไม่มีทางออกอื่นที่ดีกว่า ต่อมาเมื่อความเบื่อดำเนินมาถึงขีดสุดจึงอาจผันตัวจากงานที่ตนทำอยู่ด้วยการเปลี่ยนงาน หรือลาออกจากงานเดิมไปหางานอื่นทำ เพื่อหลีกหนีจากความซ้ำซากจำเจเดิม ๆ ไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ งานใหม่ที่คิดว่าน่าจะดีกว่า


ในความเป็นจริง ไม่ว่าเราจะทำงานที่ใดองค์กรใดก็ตาม ย่อมประสบปัญหาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก การเปลี่ยนงานอาจไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในเรื่องความเบื่อหน่ายที่ถูกต้องตรงจุดก็เป็นได้


สิ่งสำคัญที่ควรตระหนัก คือ เราไม่สามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวเราให้เป็นไปตามที่ใจเราต้องการได้เสมอไป เช่น ลักษณะงานที่ทำ เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ การใช้วิธีหนีปัญหาทุกครั้งด้วยการลาออกหรือเปลี่ยนงานใหม่ย่อมไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และยังเป็นการบ่มเพาะนิสัยการเป็นคนไม่หนักเอาเบาสู้ อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานระยะยาวต่อไป


ความเบื่อหน่ายในงานที่ทำสามารถเกิดขึ้นได้กับ "ทุกอาชีพ" แต่ทางออกของความเบื่อหน่ายนั้นอาจขึ้นอยู่กับ "ทัศนคติ" ต่องานที่ทำ และการ "ปรับตัว" ให้เข้ากับงานที่ทำมากกว่าการเปลี่ยนงาน ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าเราจะทำงานได้อย่างมีความสุขและพึงพอใจในสิ่งที่ทำ


ปรับทัศนคติ "คิดบวกก็แก้เบื่อ" เป็นความจริงที่ว่า ถ้าเราเบื่องานที่ทำ ยิ่งบ่น ก็ยิ่งเบื่อ ความคิดว่าไม่อยากทำงานจะยิ่งทำให้เราหมดกำลังใจและไม่อยากทำงาน ทำไปเพียงวัน ๆ ให้เสร็จตามหน้าที่ และรับรายได้ การที่เรายอมจำนนต่อการอยู่ในวงจรชีวิตที่น่าเบื่อหน่าย นอกจากจะทำให้ความสุขลดลงแล้ว ยังทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตทรุดโทรมเร็วยิ่งขึ้น

ดังนั้น ทางที่ดีกว่า ถ้าเราเปลี่ยนงานไม่ได้ ให้เราลองเปลี่ยนมุมมองต่องานดู โดยมองว่างานนั้นมีคุณค่า มีความสำคัญ มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กร หรืองานในภาพรวม และคิดเสมอว่าเราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้ความสำเร็จของงานนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ถ้าเราคิดถูก แม้เราเป็นเพียงเด็กล้างจาน เราก็สามารถล้างจานได้อย่างดีเลิศ จานที่สะอาดสะอ้านก็นำความสุขมาให้กับเราได้


ปรับตัวให้เข้ากับงาน "งานไม่น่าเบื่อ เพราะเราทำให้ไม่น่าเบื่อ"

ความสนุกกับงานที่ทำนั้น ส่วนสำคัญอยู่ที่เราเป็นคนกำหนดขึ้นเอง เช่น คนกวาดถนน หลายคนกวาดถนนอย่างมีความสุข มีรอยยิ้ม ไม่รู้สึกว่าเบื่อแม้ต้องทำงานแบบเดิมทุกวัน เคล็ดลับอยู่ที่ในขณะทำงาน เขาได้ทักทายผู้คน เขาได้นำอาหารมาให้สุนัขจรจัด เขาเก็บวัสดุรีไซเคิลไปขาย เขาให้กำลังใจคนไร้บ้านให้สู้ชีวิต แต่ละวันที่ผ่านไปจึงทำให้เขาทำงานได้อย่างมีความสุข และพบเห็นสิ่งใหม่ ๆ ได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ เราทุกคนก็เช่นกัน หากเราลองมองหาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่ทำให้เรามีความสุขกับการทำงาน อาจเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน ขณะเดียวกันก็ทำงานได้อย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ ย่อมทำให้เรามีความสุขในสิ่งที่ทำได้


คำว่า "เบื่อ" จะไม่เกิดขึ้นในพจนานุกรมการทำงานของเราอีกต่อไป หากเราลบคำว่า "เบื่อ" ด้วยการมีทัศนคติคิดบวกและเรียนรู้ที่จะเติมความสุขให้กับงานเดิม ๆ ที่ต้องทำในแต่ละวัน


โรคเบื่องาน ในชีวิตของเรา เราให้นิยามการทำงานอย่างไร ชีวิตเราก็จะเป็นอย่างนั้น หากเราคิดว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ดี ชีวิตเราก็จะมีความสุข แต่ถ้าเราคิดตรงกันข้าม เราจะจมกับความทุกข์ความเบื่อหน่ายกับงานไปตลอดชีวิต

 

 

ผู้เขียน : ศ.ดรเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ kriengsak@kriengsak.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook