ทำความรู้จักสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กับบทบาทสำคัญที่ผู้ฝากเงินควรรู้
หลังจากที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศลดวงเงินคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาท ลดลงเหลือวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 คนผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 64 เป็นต้นไป สร้างความตกใจให้กับนักออมเงินอยู่ไม่น้อย
แน่นอนว่าบางคนเกิดคำถามที่ว่า ทำไมต้องคุ้มครองเงินฝาก ใครได้ประโยชน์ และการประกาศลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท จะมีผลกระทบกับใครบ้าง Sanook Money ได้รวบรวมข้อมูลจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และธนาคารแห่งประเทศไทย มาฝากกัน
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 ทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้กับผู้ฝากเงิน หากสถาบันการเงินในความคุ้มครองเกิดล้ม หรือปิดกิจการ โดยผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากตามจำนวนเงินตามเกณฑ์ที่คุ้มครอง และได้รับคืนโดยเร็วสุด (1 ล้านบาท ต่อ 1 ผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน) เท่ากับว่า ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตาม เอกสารการเปิดบัญชีซึ่งในกรณีที่ผู้ฝากมีบัญชีเงินฝากหลายบัญชีที่เปิดอยู่กับ สถาบันการเงิน 1แห่งจะต้องนำเงินฝากในทุกสาขาและทุกบัญชีมารวมคำนวณ
- เช่น นาย ก. มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร A จำนวน 2 บัญชี นับเป็น 1 ราย ส่วนนาย ข. มีบัญชีเงินฝากกับ 3 ธนาคาร นับเป็น 3 ราย
ส่วนสาเหตุที่ต้องคุ้มครองเงินฝากนั้น ก็เพราะในอดีตประเทศไทยไม่มีระบบคุ้มครองเงินฝากที่ชัดเจน กระทั่งปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบัน การเงินรับประกันเงินฝากเต็มจำนวน เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ต่อระบบสถาบันการเงินและลดกระแสการถอนเงินที่รุนแรง ในขณะนั้นขณะเดียวกันก็ให้มีการศึกษาระบบการคุ้มครองเงินฝาก ที่มีการกำหนดวงเงินคุ้มครองตามมาตรฐานสากลเพื่อให้เกิด ความชัดเจน และเสริมสร้างให้ระบบสถาบันการเงินพัฒนา ภายใต้กลไกตลาดด้วย เนื่องจากการที่รัฐคุ้มครองเงินฝาก ทั้งจำนวนตลอดไป อาจส่งผลให้สถาบันการเงินประกอบ ธุรกิจที่สุ่มเสี่ยง (Moral Hazard) และเป็นภาระต่อภาษีของประชาชนโดยรวม
สำหรับผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากนั้น ก็คือคนทั่วไป หรือนิติบุคคลที่เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารถูกต้องตามกฎหมายนั้นเอง และแน่นอนว่าชาวต่างชาติที่เกิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารถูกต้องตามกฎหมายก็ได้รับความคุ้มครองเงินฝากที่อยู่ในไทยด้วยเช่นกัน แต่เงินฝากจะต้องเป็นสกุล "บาท" เว้นแต่เป็นเงินฝากใน "บัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ" ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะให้ความคุ้มครองกับประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ 35 สถาบันการเงิน โดยแบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ 19 แห่ง, สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 11 แห่ง, บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง
ซึ่งผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก เป็นเงินสกุลบาทและเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ในปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่
- เงินฝากกระแสรายวัน
- เงินฝากออมทรัพย์
- เงินฝากประจำ
- บัตรเงินฝาก
- ใบรับฝากเงิน
ส่วนผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภทไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น
- เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
- เงินลงทุนในตราสารต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF, RMF)
- เงินฝากในสหกรณ์
- แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน
- เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)
- ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน
- สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
หากสถาบันการเงินที่เราฝากเงินไว้ล้ม หรือเพิกถอนใบอนุญาต มีหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงินนั้น ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะหักหนี้ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และรายการอื่นๆ ที่ค้างชำระทั้งหมด (เฉพาะยอดหนี้ที่ครบกำหนดชำระแล้วเท่านั้น) ออกจาก จำนวนยอดเงินฝากทุกบัญชีรวมกันของผู้ฝาก แล้วจึงจ่ายเงินฝากที่เหลือคืนให้ แก่ผู้ฝากเงินไม่เกินวงเงินคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับยอดหนี้ที่ยัง ไม่ถึงกำหนดชำระซึ่งยังไม่ต้องถูกหักจากเงินฝาก ลูกหนี้ยังคงมีหน้าที่ต้องชำระ ตามเงื่อนไขของสัญญาต่อไป ทั้งนี้ขั้นตอนการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเป็นไปตาม มาตรา 52 และ 53 แห่ง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 กำหนด
ส่วนกรณีที่หลายคนสงสัยว่าการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท จะกระทบใครนั้น คำตอบคือ คนที่มีเงินฝากหลายบัญชีรวมกันในธนาคารแห่งหนึ่งรวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนภายใน 30 วัน แต่ผู้ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท จะได้รับคืนก่อน 1 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่มีสิทธิได้คืนจากการที่ สคฝ. นำทรัพย์สินของสถาบันการเงินไปขายเพื่อนำจ่ายให้กับผู้ฝากเงินเพิ่มเติม