"ศุภชัย" มังกรธุรกิจรุ่นใหม่ "เจียรวนนท์" "ศุภชัย เจียรวนนท์"

"ศุภชัย" มังกรธุรกิจรุ่นใหม่ "เจียรวนนท์" "ศุภชัย เจียรวนนท์"

"ศุภชัย" มังกรธุรกิจรุ่นใหม่ "เจียรวนนท์" "ศุภชัย เจียรวนนท์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กฎระเบียบของตระกูลเจียรวนนท์กำหนดไว้ว่า "ลูกหลานไม่ควรเข้ามาในธุรกิจที่ถือว่าดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว หรือมีผู้ที่มีความสามารถหรือมืออาชีพที่สามารถทำธุรกิจนั้นได้ดีอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าลูกหลานจะทำอะไรให้ไปเริ่มในที่เป็นเรื่องใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือไม่ก็ให้ออกไปทำธุรกิจเอง"

แนวความคิดนี้ มีความหมายที่เป็นนัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ กล่าวคือ ถ้าลูกหลานเป็นคนมีความสามารถและไปทำในธุรกิจที่ถือว่าทำได้ดีอยู่แล้วหรือเติบโตได้ดีอยู่แล้วและมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง

ต่อให้ลูกหลานของตระกูลธุรกิจนั้นมีความสามารถก็อาจจะไม่ได้แสดงความสามารถ และถ้าไม่มีความสามารถก็อาจทำให้ธุรกิจนั้นเสียหายได้ ดังนั้นแนวทางที่ดีก็คือต้องให้ลูกหลานไปทำเรื่องใหม่ และด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปเริ่มต้นในธุรกิจโทรคมนาคมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หลังจากที่จบการศึกษาในปี พ.ศ.2532

ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นอีก 1 กลุ่มธุรกิจในเครือฯที่ก่อตั้งขึ้นโดยการริเริ่มของท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์ เนื่องจากมีความเห็นว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ทำอาหารท้องแล้ว ก็ให้ทำอาหารสมองด้วย จึงไปเริ่มต้นที่โครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 2 ล้านเลขหมาย ในเขตกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นยุคต้นๆ ที่รัฐบาลเปิดให้สัมปทานในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ


ประสบการณ์คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

ย้อนกลับไปในอดีต ตอนเข้ามหาวิทยาลัยนั้นมีความตั้งใจจะเรียนด้านวิศวกรรมเพราะมีความถนัดด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และวางแผนต่อไปว่าเมื่อจบปริญญาตรีก็จะไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจหรือ MBA

จากนั้นจึงไปปรึกษาคุณพ่อ (ธนินท์ เจียรวนนท์) คุณพ่อถามว่าถ้าจบออกมาแล้ว ตั้งใจจะทำอะไร เมื่อผมตอบไปว่าคงทำธุรกิจ คุณพ่อก็ตอบว่าถ้าทำธุรกิจ แล้วจะไปเรียนวิศวกรรมทำไม ก็เรียนธุรกิจไปเลย

ผมจึงถามต่อไปว่าจะเรียนต่อปริญญาโทด้านไหนดี คุณพ่อบอกว่าไม่ต้องต่อ หากต้องการทำธุรกิจ ต้องการทำงาน ก็ให้ทำงานเลย ซึ่งนั่นหมายความว่า "ประสบการณ์คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด"

ผมถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า ไม่ควรเลือกงาน แม้ว่าจะเรียนจบมาทางด้านการเงิน มีความสนใจในธุรกิจด้านการเงินและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อมีโอกาสและเห็นว่าธุรกิจโทรคมนาคมก็เป็นเรื่องน่าสนใจ จึงสมัครใจเข้ามาเริ่มบุกเบิก ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของการก้าวสู่การบริหารงานธุรกิจโทรคมนาคมของผม


จากรุ่นสู่รุ่น "ใช้เทคโนโลยี และสร้างแบรนด์" ตั้งแต่รุ่นปู่

คุณพ่อเป็นลูกคนที่ 9 เกิดในห้องแถว แถววัดสัมพันธวงศ์ ในอดีตที่ผ่านมาที่พอจำได้คือคุณพ่อเป็นคนทุ่มเททำงานหนักมาก สิ่งที่คุณพ่อสอน คือ การพูดถึงคุณปู่ (เจี่ย เอ็กชอ) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเจียไต๋ ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักซึ่งเป็นต้นกำเนิดธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณพ่อเล่าว่าคุณปู่เป็นผู้ที่นำเมล็ดพันธุ์ผักมาขายในเมืองไทย และเป็นคนแรกๆ ที่นำเมล็ดพันธุ์ผักที่จะขายบรรจุลงในซองกระดาษ ซึ่งลูกๆ ก็ช่วยกันพับกระดาษและแปะกาวบนซอง นอกจากนี้คุณปู่ยังใส่วันหมดอายุบนซองเมล็ดพันธุ์ผักอีกด้วย

จะเห็นว่าสิ่งที่คุณปู่สอนไว้ในเบื้องต้นก็คือความซื่อสัตย์ และการคำนึงถึงผู้อื่น นั่นก็คือลูกค้าต้องได้ของที่ดีและมีคุณภาพ ถ้าได้ของไม่ดีไปลูกค้าก็จะเสียหาย เสียเวลาหมดไป 1 ฤดูกาล เพราะไม่สามารถที่จะสร้างผลผลิตได้ นั่นคือสิ่งที่ท่านเล่าให้ฟัง

ในยุคสมัยนั้น คุณปู่ยังเป็นคนแรกที่นำเมล็ดพันธุ์ใส่กระป๋อง ซึ่งในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นนวัตกรรม สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากรุ่นคุณปู่ในเหตุการณ์นี้ คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะว่าการสร้างผลผลิต หรือการสร้างความสามารถในการแข่งขันก็คือความสามารถในการที่จะทำสิ่งที่ดีกว่าเดิม ได้ประสิทธิผลมากกว่าเดิม จึงต้องนำเทคโนโลยีมาใช้

นอกจากนั้น คุณพ่อยังบอกว่าคุณปู่ใส่ตรายี่ห้อบนกระป๋องเมล็ดพันธุ์ผักด้วย เป็นตรายี่ห้อเรือบิน ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเมล็ดพันธุ์เลย สิ่งนี้สำคัญและมีความหมาย เนื่องด้วยในยุคนั้นความทันสมัยที่สุดคือเครื่องบิน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็คือเป็นเรื่องของ Branding กับ Marketing ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้รับทราบตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก


คำสอนของพ่อ ปลูกฝังความเป็น "ผู้นำ"

สิ่งที่คุณพ่อสอนเองนั้น หลักใหญ่สุดที่ผมจำแม่น ประการแรกบอกว่าต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นสิ่งสำคัญมากและสอนตั้งแต่ผมเป็นเด็ก

ประการที่สอง คุณพ่อมักจะเล่าเปรียบเปรยเสมอ ไปที่ไหนก็จะพูดเสมอว่า ถ้าวันนี้เราเอาเวลาไปเที่ยวเล่น ดูหนังฟังเพลงหรืออะไรก็แล้วแต่ พอวันนี้ผ่านไปเป็นพรุ่งนี้มาถึง สิ่งที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นความฝัน แต่ถ้าเกิดว่าเราเอาวันนี้ไปปลูกต้นไม้สักต้น พอผ่านไปพรุ่งนี้อาจมีใบไม้น้อยๆ งอกออกมา สิ่งที่สอนก็คือ เป็นการบอกว่าการใช้เวลาอย่างมีคุณค่า การใช้เวลาในการสร้างคุณค่าเป็นเรื่องสำคัญมาก นี่คือสิ่งที่ท่านสอนมาโดยตลอด

อีกประการที่จำแม่นและได้ประสบการณ์จากตนเองด้วยคือที่ท่านสอนว่า "ในวิกฤติเป็นโอกาสเสมอ" ถ้านำมาประยุกต์หรือตีความหมายก็คือ "ความเปลี่ยนแปลง สร้างโอกาสเสมอ" และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ก็จะทำให้เข้าใจดีว่า "ผู้ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เห็นว่าอะไรกำลังจะเปลี่ยนคือผู้ที่มีวิสัยทัศน์ ผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นก็คือ Pioneer หรือ นักบุกเบิก ผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงคือผู้ที่สามารถอยู่รอดได้"

นี่คือสิ่งที่ได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจว่า การเป็นผู้นำในองค์กร สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญนั่นคือ ผู้ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง สร้างความเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

สิ่งสำคัญที่สุดในแง่การบริหารและทำธุรกิจที่คุณพ่อสอนนั้น ประการแรกคือ เรื่อง Branding ตามที่ได้เล่าให้ฟังซึ่งที่คุณพ่อพูดถึงนั่นก็คือ " Value" หรือ "คุณค่า" ถ้าคุณค่านั้นเป็นคุณค่าที่ยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร การคิดถึงผู้อื่น การรู้จักเรียนรู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ เหล่านี้เป็นคุณค่าที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้นในธุรกิจครอบครัว

สิ่งสำคัญประการที่ 2 เป็นเรื่อง "คน" ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ก็เพราะคน ความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ก็เพราะคน ฉะนั้นการเลือกคน การมองคนให้ออก ว่าคนคนไหน สามารถเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา และคนคนไหนสามารถทำงานร่วมกับเราได้

และคงไว้ซึ่งคุณค่าที่ใกล้เคียงกัน นั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งไม่ได้สำคัญว่าต้องเป็นลูกหลาน แต่อาจจะเป็นมืออาชีพ หรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวก็ได้ เพราะในที่สุดแล้วต้องหาคนที่มีคุณค่าและมีความสามารถมากที่สุด คือได้คนที่ดีที่สุดมาทำงาน

แต่นั่นต้องประกอบด้วยว่าบุคคลคนนั้นต้องมีคุณค่าที่ถูกต้อง มีหลักคุณธรรมที่ถูกต้อง ก็สามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องได้ และถ้าลูกหลานอาจไม่ได้เก่งเท่า แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าที่ถูกต้อง ก็จะเกื้อกูลผู้บริหาร นี่ก็เป็นหลักที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องของคน ที่ใช้คำว่า "people" และ "partner" เป็นเรื่องใหญ่มาก พ่อเล่าให้ฟังว่า สมัยที่จะสร้างโรงงานอาหารสัตว์โรงแรก ก็ได้มาขอเงินกู้จาก คุณชิน โสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจอาหารสัตว์เป็นการแตกตัวออกมาจากธุรกิจเจียไต๋ที่ขายเมล็ดพันธุ์ผักมาเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ ต่อเนื่องมาถึงคุณชาตรี โสภณพนิช และจนถึงรุ่นผมที่ทำกิจการสื่อสารก้าวหน้ามาถึงวันนี้ก็ได้อาศัยคุณชาติศิริ โสภณพนิช ที่ให้การสนับสนุน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของคำว่า "people" และ "partner" ซึ่งอาจไม่ใช่บุคคลในครอบครัว อาจไม่ใช่ผู้บริหารมืออาชีพ แต่องค์ประกอบสำคัญคือเรามี partner ที่ดีหรือไม่ ที่คอยสนับสนุนเราในภาวะวิกฤติ หรือคอยสนับสนุนให้เราสามารถก้าวกระโดดได้


บทพิสูจน์ทายาทรุ่นลูก

ตอนแรกที่เริ่มเข้ามาทำงานโดยมีนามสกุลครอบครัวอยู่ข้างหลัง เป็นสิ่งเราต้องเข้าใจเลยว่า เราต้องทุ่มเทและทำงานหนักกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะโดยมุมมองทั่วไปนั้นผู้บริหารมืออาชีพของธุรกิจครอบครัวก็ต้องมองว่าเราอาจจะ Fast Track หรืออาจจะมองว่าเรามีความสามารถหรือไม่ และต่อให้มีความสามารถก็ตาม ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะให้ผู้บริหารมืออาชีพยอมรับ

สิ่งสำคัญคืออะไร คุณพ่อสอนผมว่าการเป็นผู้นำไม่ใช่เพราะว่าเราต้องการเป็น ผู้นำคือคนอื่นให้เราเป็น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว คือคนอื่นให้เราเป็น ถ้าเราไม่ทุ่มเท ไม่เสียสละมากกว่าผู้อื่น ก็ยากที่จะเกิดการยอมรับ ซึ่งไม่ได้สำคัญกว่าเป็นที่นามสกุล แต่นามสกุลมีส่วนดี อย่างน้อยที่คือได้รับโอกาส ได้รับความไว้วางใจเร็วถ้าเราทุ่มเทและเสียสละ ฉะนั้นในการทำงานในระบบที่เราต้องเจอกับมืออาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญว่าเราต้องแสดงให้เห็นเราว่าทุ่มเทและเสียสละไม่แพ้กัน และความจริงต้องมากกว่า เพราะลึกๆ แล้วส่วนหนึ่งในใจของมืออาชีพจะคิดว่าเราได้เปรียบหลายอย่าง ฉะนั้นต้องยอมเสียเปรียบเป็น

ส่วนในแง่ของการที่เราทำงานแล้วต้องมีสมาชิกครอบครัวอยู่ด้วย สิ่งสำคัญคือต้องมีความโปร่งใส (Transperancy) ยิ่งถ้าเราเป็นสมาชิกของครอบครัวแล้วเราบริหารงานรับช่วงต่อ และมีสมาชิกของครอบครัวรายอื่น ยิ่งต้องเป็นผู้เสียสละ คือไม่ใช่แค่ Fair หรือเป็นธรรมเท่านั้น แต่ต้องเสียสละ คือ ทำมากกว่า ได้น้อยกว่า ซึ่งเป็นปรัชญาในการทำธุรกิจที่คุณพ่อของผมใช้คือ รู้จักเสียเปรียบ เพราะความเสียสละสามารถสร้างความไว้วางใจ

ยิ่งเป็นญาติพี่น้องกันยิ่งต้องให้ความรู้สึกที่ห่วงใยเป็นพิเศษ ยิ่งต้องนอบน้อมถ่อมตน เพราะในความเป็นคนที่รู้จักกัน เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน หรือเป็นญาติพี่น้องกัน สิ่งแรกเลยคือเขามีทุนเดิมว่าเขาไว้วางใจเรา เขารักเราอยู่แล้ว ซึ่งคนที่รักเราอยู่แล้ว หรือไว้วางใจเราอยู่แล้ว ทำให้เกิดการผิดหวังได้ง่ายกว่าคนนอกโดยทั่วไป ฉะนั้นการระมัดระวังความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องให้เกียรติ ต้องห่วงใยกับความรู้สึก ต้องเสียสละ นี่เป็นสิ่งสำคัญ


มองเป้าหมาย 10 ปีเครือเจริญโภคภัณฑ์

มีบทวิจัยศึกษาว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ขนาดเศรษฐกิจของประชาเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC จะเติบโตเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกในปัจจุบัน ซึ่งถ้ามองไปแล้วในแถบเอเชียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ที่เติบโตมาก และมีโอกาสสำหรับธุรกิจในหลายๆ ด้าน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถือเป็นเหตุผลสำคัญในการขยายธุรกิจคือปัจจัยความเข้มแข็งในธุรกิจ สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นความเข้มแข็งจะอยู่บนธุรกิจด้านเกษตรและอาหาร ฉะนั้นแน่นอนว่าธุรกิจเกษตรและอาหารจะเป็นจุดแข็งที่เราใช้ขยายธุรกิจต่อเนื่อง และสร้างโอกาส ซึ่งแนวโน้มบนฐานของเอเชียจะสามารถเป็นผู้เล่นระดับโลกได้ ทั้งนี้ ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในด้านเกษตรและอาหารนั้นถือว่าเป็นผู้เล่นระดับโลกแล้ว แต่ว่ายัง Focus อยู่แถวเอเชียและยุโรปตะวันออก ยังไม่ได้ไปถึงยุโรปตะวันตกกับอเมริกาอย่างแท้จริง

ส่วนธุรกิจค้าปลีกก็เป็นอีกจุดแข็งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งก็ต้องมีการเติบโต ล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการแมคโคร เป็นที่สงสัยของหลายคนว่าทำไมค้าปลีกก้าวไปสู่ค้าส่ง เพราะการดำเนินธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven มีข้อจำกัดไม่ให้ทำธุรกิจในประเทศอื่น ในขณะที่ ธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทยของเครือเจริญโภคภัณฑ์เติบโตเข้มแข็ง และพร้อมจะขยายกิจการ ด้วยเหตุนี้การเข้าซื้อธุรกิจค้าส่งจึงเป็นแนวโน้มที่จะขยายต่อเนื่องทั้งในค้าส่งค้าปลีกในแถบภาคพื้นเอเชีย

สำหรับธุรกิจด้านโทรคมนาคม มีการตั้งเป้าหมายว่า "ขนาด" หรือ "Scale" เป็นเรื่องใหญ่ เราต้องเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาคให้ได้ นอกจากนี้ในกรณีของ Digital Media หรือที่สมัยนี้เรียกว่าดอทคอม ก็มีการตั้งเป้าหมายว่าเราควรจะต้องมีส่วนแบ่งในตลาดโลก หรือ อย่างน้อยเข้ามาใช้บริการโดยเฉพาะในเรื่องอีคอมเมิร์ซ หรือในเรื่องของ online content โดยตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 10% ของประชากรโลก

อย่างไรก็ตาม ผมเริ่มต้นธุรกิจ เข้าสู่ธุรกิจในปี พ.ศ.2533 สร้างโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานเสร็จในปี พ.ศ.2539 พอถึงปี พ.ศ.2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะฉะนั้นเราเห็นแนวโน้มว่า เงินเริ่มทะลักเข้ามาในไทยในภาคพื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายๆ อย่างเริ่ม inflate จนอาจจะเกินพื้นฐานความเป็นจริงต่อไปก็เป็นได้ ฉะนั้นในการมอง 10 ปีข้างหน้าว่าเราจะขยายและเติบโตไปกับภูมิภาค จึงจะต้องคิดถึงกรณีทางถอย ต้องคิดถึงกรณีที่เป็นวิกฤติเผื่อไว้ด้วย ฉะนั้นในการขยายธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ผ่านมาได้พยายามให้ธุรกิจที่เติบโตในสาขาใหม่ หรือในต่างประเทศ เป็นธุรกิจที่ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ไม่ให้มีปัญหากระทบมาถึงธุรกิจหลัก นี่คือนโยบายหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์คงไม่เป็นแค่ความเติบโตของเครือเจริญโภคภัณฑ์เท่านั้น แต่คงได้ช่วยสร้าง Platform และพื้นฐานหลายอย่างในทั้งระบบเศรษฐกิจในประเทศและในประเทศที่ไปลงทุน ตามหลัก 3 ประโยชน์ของท่านประธานธนินท์ คือประโยชน์ต่อประเทศนั้น ประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศนั้น และประโยชน์ต่อบริษัทมาเป็นสุดท้าย ปรัชญานี้เป็นหลักยึดเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ


ธุรกิจยั่งยืน ต้องรับผิดชอบต่อสังคม

เป็นที่ทราบกันว่า CSR หรือ Corporate social responsibility เป็นเรื่องที่สนับสนุนด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ธุรกิจที่ประกอบกิจการโดยคำนึงถึงลูกค้า คำนึงถึงความเป็นธรรมต่อลูกค้า และความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นธุรกิจที่โดยธรรมชาติแล้วจะต้องเกิดความยั่งยืน การผลิตสินค้า หรือการดำเนินการใดที่คำนึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เป็นเรื่องที่เครือเจริญโภคภัณฑ์คำนึงถึงและดำเนินการอยู่แล้ว

ส่วนแนวโน้มในอนาคตนั้น มีความเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่จะช่วยขับเคลื่อนรับผิดชอบสังคมได้มากขึ้น แต่ในอีกเชิงหนึ่งต้องยอมรับอยู่แล้วองค์กรธุรกิจในระดับหนึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของสังคมทั้งในแง่คุณค่าและเศรษฐกิจ

มีการโต้วาทีให้เหตุผลในหลายๆ เวทีว่าใครสามารถผลักดันโลกในหลายๆ ประเทศที่อยู่ในระดับยากจน อดยาก หนึ่งในทฤษฎี คือแน่นอนมีมุมมองบอกว่าต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล บางมุมมองบอกต้องล้มระบบเศรษฐกิจแบบ Capitalist

บางมุมมองบอกว่าต้องอาศัยระบบการปกครองหรือระบบการกระจายอำนาจ และบางมุมมองที่ผมว่าค่อนข้าง Realistic คือ อาศัยภาคเอกชนในการที่จะผลักดัน ฉะนั้นความรู้สึกรับผิดชอบต่อระบบสังคมโดยรวม

ความรู้สึกรับผิดชอบต่อสินค้าหรือกิจการที่ดำเนินการอยู่ในผลกระทบต่อสังคมโดยรวมและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการค้นคว้าวิจัย เพราะในการค้นคว้าวิจัยนั้นนอกเหนือจากการทำให้เราสามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อมลงไปได้ในการดำเนินกิจการของเรา ยังเป็นการสร้างภูมิความรู้ ซึ่งในที่สุดต้องแบ่งปันออกไปในระบบอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่เชื่อว่าการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นเรื่องใหญ่มากของเครือเจริญโภคภัณฑ์และเชื่อว่าทุกๆ บริษัทด้วย

ยิ่งหากต้องการที่จะเติบโตต่อเนื่องขึ้นไปในระบบเศรษฐกิจที่เป็นโลกาภิวัตน์หรือในระดับโลกก็เป็นอีกส่วนที่ต้องลงทุน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่ลงทุนเฉพาะในธุรกิจของตนเอง การลงทุนนี้เอกชนต้องลงทุนกับภาคมหาวิทยาลัย ภาคสถาบันและภาครัฐ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้ได้เร็วขึ้น

โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)


เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ตระกูลที่รวยที่สุดในไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook