สภาพัฒน์ฯ หั่น GDP ปี 64 โต 0.7-1.2% จากเดิมที่คาดไว้ 1.5-2.5%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวถึงการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2 ปี 64 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ในปีนี้
ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้ มาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 4.6% และการลงทุนรวมขยายตัว 8.1% โดยการลงทุนจากภาคเอกชนขยายตัว 9.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.6% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 36.2%
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวราว 2% จากฐานปีก่อนที่ต่ำผิดปกติ และมีการขยายตัวในบางสาขาสำคัญ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคส่งออกเป็นหลัก ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 7.5% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 64 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัว -2.6% โดยเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกแรกในเดือน เม.ย.63 อีกทั้งการส่งออกสินค้า และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐชะลอลง และการส่งออกบริการลดลง
ด้านการผลิต สาขาการผลิตอุตสาหกรรมและสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งการขายปลีก และการซ่อมแซมฯ และสาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ กลับมาขยายตัว ขณะที่สาขาการก่อสร้างชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีก่อน ขยายตัวได้ 0.8% จากไตรมาส 3 ปี 63 ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ของปี 64 ขยายตัว 0.2% จากไตรมาส 4 ปี 63 และล่าสุดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 64 ขยายตัว 0.4% จากไตรมาส 1 ปี 64 ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสแล้ว ในทางเทคนิคจะถือว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ และไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย
“เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง ในทางเทคนิคถือว่ายังขยาย และไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย เพียงแต่เศรษฐกิจไทยเริ่มมีโมเมนตัมที่ขยายตัวลดลงจากการระบาดที่รุนแรงในวงกว้างตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา…จะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในช่วงล็อกดาวน์เริ่มลดลง ส่งผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่สีแดงเข้มที่เป็นฐานการผลิตในสัดส่วนที่สูงถึง 50% ของจีดีพีประเทศ”
นอกจานี้ สภาพัฒน์ฯ ยังได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 ลงมาเป็นขยายตัว 0.7-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1% จากประมาณการเดิมคาดว่าจะเติบโต 1.5-2.5% โดยมีสมมติฐานว่าการแพร่ระบาดภายในประเทศผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 64 และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมในหลายพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดในต่างประเทศไม่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตาคือภาคการส่งออกที่ขณะนี้สถานการณ์โควิดเริ่มมีผลกระทบจากภาคการผลิตบ้างแล้ว, การฟื้นตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ขณะที่ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถดถอยแต่โมเมนตัมของการขยายตัวลดลงจากผลกระทบสถานการณ์โควิดระบาดหนัก