Facebook เก็บ VAT 7% จากการยิง Ads ประเดิมเดือน ก.ย. 64 ใครได้รับผลกระทบบ้าง

Facebook เก็บ VAT 7% จากการยิง Ads ประเดิมเดือน ก.ย. 64 ใครได้รับผลกระทบบ้าง

Facebook เก็บ VAT 7% จากการยิง Ads ประเดิมเดือน ก.ย. 64 ใครได้รับผลกระทบบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่ Facebook ประกาศชัดเจนว่าจะเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% จากการยิงโฆษณา โดยจะเริ่มพร้อมกันทั่วไทยในวันที่ 1 ก.ย. 64 สร้างความตกใจให้กับผู้ใช้แพลตฟอร์ม Facebook ไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ค้าออนไลน์ เพราะเท่ากับว่านอกจากจะต้องจ่ายค่ายิง Ads แล้ว ยังต้องจ่าย VAT 7% เพิ่มเข้าไปอีก การเก็บ VAT ของ Facebook ดูเหมือนจะเป็นการผลักภาระมาให้บริโภครวมถึงผู้ค้าออนไลน์ต้องแบกรับอย่างปฏิเสธไม่ได้ แล้วอะไรดลใจให้ Facebook ต้องเก็บ VAT ด้วย?

อันที่จริงการจัดเก็บ VAT ของ Facebook มาจากกฎหมาย e-Service ของไทยได้กำหนดไว้ว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศ ที่ให้บริการในไทยจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากร โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. 64 โดยสาเหตุของการเก็บภาษี e-Service คือการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องยื่นแบบ และจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาให้บริการในไทยกลับไม่ต้องยื่นแบบเสียภาษี เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มต่างชาตินั่นเอง

การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ ย่อมมีหลักเกณฑ์ระบุไว้ชัดเจนว่านอกจาก Facebook แล้วยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรูปแบบไหนบ้างที่เข้าข่ายเสียภาษี e-Service และบทสรุปของการเก็บ VAT ของ Facebook ในครั้งนี้่จะกระทบใครบ้าง ผู้ค้าออนไลน์ต้องปรับตัวหรือรับมืออย่างไรกับเรื่องนี้ Sanook Money ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เพื่อปลดล็อกทุกข้อสงสัยในเรื่องนี้กัน

istock-1189050047

แพลตฟอร์มต่างชาติที่เข่าข่ายเสียภาษี e-Service

ผศ.ดร.ยุทธนา เล่าว่า ภาษี e-Service เป็นการเรียกเก็บจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติที่ให้บริการในไทย มีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยมีการให้บริการออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ (E-Commerce)
  • แพลตฟอร์มโฆษณา เช่น Facebook หรือ Google
  • แพลตฟอร์มบริการออนไลน์จองที่พัก-โรงแรม ตั๋วเดินทาง เช่น Booking.com, Agoda
  • แพลตฟอร์มตัวกลาง เช่น เรียกรถรับส่ง สั่งอาหาร
  • แพลตฟอร์มบริการออนไลน์ เช่น เกม ดูหนัง ฟังเพลง ระบบ Clound ประชุมออนไลน์ Subscription และ Digital Content อื่นๆ เช่น App Store, Play Store, PlayStation Store, Netflix, Youtube, Spotify, Zoom หรือ Dropbox

ซึ่งผู้ให้บริการที่เข้าข่ายเสียภาษี e-Service จะต้องเข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) ซึ่งกรมสรรพากรได้อัปเดตรายชื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติที่จดทะเบียนแล้ว ล่าสุดมีจำนวนผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรแล้ว 61 ราย (ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 64) โดยคาดว่าจะมีแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติรายอื่นๆ ลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 100 ราย เข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในไทย

istock-1249669064

Facebook เก็บค่า VAT 7% งานนี้สะเทือนใคร?

ผศ.ดร.ยุทธนา มองว่า แทบไม่กระทบผู้ค้าออนไลน์บน Facebook เลยด้วยซ้ำ เพราะภาษี e-Service เป็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติเท่านั้น หากจะถามว่าผู้ค้าและผู้ประกอบการไทยที่ใช้ Facebook จะปรับตัวอย่างไรขอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้

คนธรรมดาค้าขายออนไลน์ที่ไม่ได้จด VAT หากยิง Ads จะต้องจ่ายค่าโฆษณา และ VAT 7% ตามนโยบายของ Facebook แต่ถ้าไม่ได้ซื้อ Ads ก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

ส่วนผู้ประกอบการที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็แทบไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก แค่แจ้งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีให้กับทาง Facebook รับทราบเท่านั้น และก็ยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งสรรพากรตามปกติ

หากผู้ใช้บริการไม่ยอมจ่าย VAT ให้กับ Facebook จะโดนอะไรบ้าง คำตอบง่ายๆ คือ ผู้ค้าที่ไม่ได้จด VAT ก็อาจจะถูก Facebook ระงับการใช้บริการตามระเบียบ และนโยบายของบริษัทฯ ส่วนผู้ค้าที่จด VAT ถ้าไม่ยื่นแบบ ภ.พ.36 ส่งกรมสรรพากร ก็จะโดนค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้ง เงินเพิ่ม หรือดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน)

istock-917475538

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากเก็บภาษี e-Service 

ผศ.ดร.ยุทธนา ระบุ การเก็บภาษี e-Service จะทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาเท่ากับผู้ประกอบการในไทย สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้เล่น และแน่นอนว่าอาจมีการผลักภาระภาษีมาให้ผู้บริโภคด้วย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ประกอบการต่างชาติด้วยเช่นกัน ว่าจะเลือกแบกรับภาระไว้เองทั้งหมดหรือไม่

ดูเหมือนว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากภาษี e-Service ก็คือ Facebook นั่นแหละ เพียงแต่ Facebook เลือกที่จะผลักภาระมาให้กับผู้บริโภคนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook