เวนคืน1,600 ไร่ผุด"ไฮสปีดเทรน"สายอีสาน ลุ้นย้าย3สถานีประเดิม"สระบุรี-ปากช่อง-โคราช"อยู่หรือไป!
เปิดแนวไฮสปีดเทรนเฟสแรกสายอีสาน "กรุงเทพฯ-โคราช" ระยะทาง 250 กิโลเมตร เวนคืนที่ดิน 1,600 ไร่ จาก "ภาชี" ยัน "โคราช" เคลียร์พื้นที่วางรางรถไฟฟ้า ออกแบบปักหมุด 3 สถานีหลัก "สระบุรี-ปากช่อง-โคราช"
แต่ยังต้องมีลุ้นจะอยู่ที่สถานีรถไฟเดิมหรือย้ายเข้าใช้พื้นที่กรมธนารักษ์-เวนคืนที่ดินเอกชนเพิ่ม เผยงานเข้าโรงผลิตปูน "เอสซีจี-ปูนนครหลวง-ทีพีไอ" โครงการผ่าพื้นที่ประทานบัตรต้องเจาะอุโมงค์ลอดกว่า 3 กิโลเมตร เร่งยื่นขออีไอเอโครงการ ส.ค.นี้
นายนิรัตน์ ตันสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการศึกษาออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย กลุ่มบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้การศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ จากกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร ใกล้จะแล้วเสร็จในส่วนของเฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร
เฟสแรกเร่งยื่นขออีไอเอ ส.ค.นี้
ความคืบหน้าล่าสุด เตรียมเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้คณะกรรมการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนผลการศึกษาภาพรวมทั้งโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2557
ทั้งนี้ โครงการไฮสปีดเทรนสายกรุงเทพฯ-หนองคาย จะมีสองเฟส โดยเฟสแรกเป็นช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งออกแบบเสร็จแล้ว ส่วนเฟสสองช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มีระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร เป็นแผนงานในอนาคต
นายนิรัตน์กล่าวอีกว่า ภาพรวมการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย แนวเส้นทางยังคงใช้พื้นที่เขตทางรถไฟเดิมเป็นหลัก ยกเว้นบางช่วงที่ต้องมีการปรับรัศมีความโค้งให้มีความเหมาะสมกับการเดินรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนที่ดินจำนวนมาก แต่จะให้กระทบต่อการเวนคืนให้น้อยที่สุด โดยแนวเส้นทางช่วงแรกจากกรุงเทพฯ-ภาชี ระยะทาง 84 กิโลเมตร จะใช้โครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่
เซ็นทรัลแอบลุ้นสถานี "สระบุรี"
สำหรับแนวเส้นทางเฟสแรก (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) จุดเริ่มต้นอยู่ที่สถานีบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีพระนครศรีอยุธยา จนมาถึงชุมทางบ้านภาชี จากนั้นแนวจะเข้าสู่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน จากบ้านภาชีมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดสระบุรี ผ่านสถานีปากช่อง จากนั้นเส้นทางจะเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองไปยังสถานีนครราชสีมา
โดยมี 3 สถานี แต่ตำแหน่งที่ตั้งยังไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจน ประกอบด้วย 1.สถานีสระบุรี มี 2 ทางเลือกคือ อยู่สถานีรถไฟสระบุรีในปัจจุบัน หรือสร้างบนที่ดินเอกชนติดถนนเลี่ยงเมือง ซึ่งจะเยื้องกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล สระบุรี
2.สถานีปากช่อง มี 2 ทางเลือกว่า จะอยู่ที่สถานีรถไฟปากช่องเดิม หรือสร้างบนที่ดินของกรมธนารักษ์ กรณีที่ดินกรมธนารักษ์ปัจจุบันใช้ประโยชน์เป็นโรงงานที่ 5 สายพลาธิการ และ 3.สถานีนครราชสีมา ทางเลือกคือจะอยู่ที่เดิมสถานีรถไฟนครราชสีมา หรือเวนคืนที่ดินเอกชนเพิ่มย่านสถานีภูเขาลาด
ขณะเดียวกัน สำหรับเฟสสองจากนครราชสีมา-หนองคาย มี 3 สถานีคือ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย
ภาชี-โคราช เวนคืน 1.6 พันไร่
สำหรับรูปแบบโครงสร้างตลอดเส้นทาง จะมีทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้น สะพานบก และอุโมงค์ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ที่เส้นทางพาดผ่าน สำหรับแผนในเฟสแรกจะมีทางยกระดับกว่า 100 กิโลเมตร เนื่องจากตัดผ่านพื้นที่เขตเมืองจำนวนมาก โดยทางระดับพื้นมีระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร สะพานบก 4 กิโลเมตร และอุโมงค์ช่วงแก่งคอยประมาณ 6.3 กิโลเมตร เนื่องจากตัดผ่านพื้นที่เหมืองประทานบัตรปูนซีเมนต์ 3 บริษัท คือ ปูนซิเมนต์ไทย ปูนนครหลวง และปูนทีพีไอฯ
นายนิรัตน์กล่าวว่า เงินลงทุนในเฟสแรกจะอยู่ที่ประมาณ 170,450 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนกว่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากจะต้องมีการเวนคืนที่ดินตั้งแต่ช่วงภาชี-นครราชสีมา รวมพื้นที่ประมาณ 1,500-1,600 ไร่
มีค่าก่อสร้างประมาณ 140,855 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาประมาณ 3,000 ล้านบาท และระบบรถไฟฟ้าอีกประมาณ 31,700 ล้านบาท ส่วนเฟสสอง (นครราชสีมา-หนองคาย) ประเมินเบื้องต้นค่าก่อสร้างน่าจะอยู่ที่ประมาณ 108,245 ล้านบาท
สร้างอุโมงค์ลอดโรงปูน 3 ยี่ห้อ
อย่างไรก็ตาม แนวเส้นทางเฟสแรกจะมีปรับแนว 2 ช่วง คือ 1.ช่วงแก่งคอยที่ตัดผ่านพื้นที่เหมืองประทานบัตรของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)
นายนิรัตน์กล่าวว่า ข้อสรุปคือจะสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับจากสถานีมาบกะเบา ก่อนข้ามทางเข้าออกและสายพานลำเลียงของโรงผลิตปูนซีเมนต์นครหลวง เพื่อใช้พื้นที่ประมาณ 2,000 เมตรให้พอกับรัศมีโค้ง จากนั้นแนวจะเบี่ยงลงทางด้านทิศใต้ ข้ามทางรถไฟเดิม 2 จุด ห่างจากสถานีผาเสด็จประมาณ 150 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง มีแผนจะขยายโรงงานในอนาคต บริเวณนี้จะเจาะอุโมงค์ยาว 3.3 กิโลเมตร และช่วงอุโมงค์จะพาดผ่านพื้นที่ประทานบัตรของปูนซิเมนต์ไทยและทีพีไอฯ
2.ช่วงบริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จะสร้างทางวิ่งเป็นทางยกระดับเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง และยกระดับข้ามทางรถไฟเดิม จากนั้นแนวเส้นทางจะเลียบอ่างเก็บน้ำ ก่อนจะข้ามทางรถไฟเดิมอีกครั้ง แล้วจึงกลับมาขนานกับแนวทางรถไฟเดิม ระยะทางบริเวณนี้ประมาณ 17 กิโลเมตร