แหล่ง 'พัก' เงินของคนยุคใหม่

แหล่ง 'พัก' เงินของคนยุคใหม่

แหล่ง 'พัก' เงินของคนยุคใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยุคสมัยเปลี่ยนไปวัยเปลี่ยนผ่าน แหล่งเก็บหอมรอมริบเงินทองก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เงื่อนไขการคัดสรรว่าจะเก็บเงินก้นถุงหรือเงินถุงเงินถังไว้ที่ไหนอย่างไรก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในอดีต "ความปลอดภัย" จากขโมยขโจรมาเป็นอันดับ 1 เรื่อง " ผลตอบแทน " ไม่ต้องพูดถึง สมัยอดีตกาลนานมากๆ ธนาคารยังไม่มีหรือมีก็น้อยเต็มที แถมอยู่ในถิ่นที่มีความเจริญอย่างตัวเมือง

ซึ่งห่างไกล คนในอดีตจึงเลือกเก็บเงินทองไว้ใกล้ตัวแต่ก็ต้องหาที่ลับเพื่อความปลอดภัย ย้อนกลับไปกว่า 100 ปีที่แล้ว เราอาจจะคุ้นชินกับการขุดทรัพย์สมบัติของเจ้าคุณปู่ที่ฝังไว้ในไหบริเวณเรือนไทยหลังเก่าพร้อมลายแทงบอกจุดหรือแหล่งที่เจ้าคุณปู่จะกระซิบบอกทายาทไว้ให้ไปขุดหาก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไป (อาจจะอิงละครไทยมากไปหน่อย555 เอาขำๆ คลายเครียด) หรือยุคต่อมาภูมิปัญญาไทยมีมากขึ้น

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า " เสาซ่อนทรัพย์" บ้านผู้มีอันจะกินมักเก็บทรัพย์สมบัติไว้ในเสาไม้ภายในบ้านไม่ต้องนำไปไว้ไกลตาขุดดินใส่ไหฝังให้ลำบาก โดยทำเป็นช่องให้สามารถนำทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองและทำช่องปิดพลางตาพวกขโมยให้เหมือนเป็นเสาไม้ธรรมดาไม่มีอะไรซ่อนอยู่ เป็นต้น

ข้างต้น เราจะเห็นภาพ "สมัยก่อน" จะหาสถานที่เก็บเงินหรือทรัพย์สมบัติ " ความปลอดภัย" ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวไกลส่งผลให้ระบบความปลอดภัยของแหล่งเงินทองต่างๆ พัฒนาขึ้นมาก

ไม่ว่าจะ สถาบันการเงินต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายที่ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เปิดรับเงินฝากเงินจากประชาชนอย่างเราๆ แถมประเภทเงินฝากก็มีให้หลากหลายชนิด รวมไปถึง ตู้เซพ มีรหัสมิดชิดที่หลายคนสามารถซื้อหาไปไว้ที่บ้านสำหรับใส่แก้วแหวนเงินทองโฉนดที่ดินหรือเอกสารสำคัญ หรือแม้ที่แต่ที่สถาบันการเงินต่างๆ ก็มีตู้เซพให้เช่าเช่นกัน

แม้การฝากเงินในสถาบันการเงินหรือตู้เซฟจะปลอดภัยจากขโมยขโจรและเหล่าทัพสัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่าง "หนู" " ปลวก" " มด" แต่ก็ยังมีศัตรูตัวร้ายอย่าง " อัตราเงินเฟ้อ" ที่ถึงแม้ร่องหนไม่เคยเห็นตัวแต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้เงินนิ่งๆ ของเราด้อยค่าไปได้อย่างไม่รู้ตัวจนน่าใจหาย ฉะนั้น คนยุคปัจจุบันจึงต้องเร่งมองว่าแหล่งพักพิงเงินที่แน่นอนต้องปลอดภัย แต่ในที่นี้หมายรวมไปถึงปลอดภัยจาก " อัตราเงินเฟ้อ"

ฉะนั้น " ผลตอบแทน" จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญว่าเราควรจะเก็บออม "เงิน"ไว้ที่ไหนดี คนทั่วไปมักจะคุ้นชินกับการนำเงินไปฝากกับธนาคารได้ดอกเบี้ยตอบแทนสักเล็กน้อย และมักจะเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยบัญชีเงินฝากประเภท " ออมทรัพย์" เหตุสำคัญก็เพราะสภาพคล่องสูงเบิกถอนได้ดั่งใจจะใช้เมื่อไหร่ไม่ต้องวุ่นวาย แถมปัจจุบันยังมีบัตร ATM ทำให้ใช้ได้คล่องขึ้นไม่ต้องไปขึ้นรถลงเรือไปเบิกถอนที่เคาเตอร์ธนาคาร

แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนเริ่มมาตระหนักมากขึ้นว่าดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝากประเภท "ออมทรัพย์" ช่างน้อยนิด ปัจจุบันดอกเบี้ยประเภทเงินฝาก "ออมทรัพย์" ทั่วไป ของธนาคารพาณิชย์ อยู่ประมาณ 0.75 % ต่อปี (กรณีทั่วไปไม่มีเงื่อนไขพิเศษ) แถมตรงนี้หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าดอกเบี้ยที่รับเข้ากระเป๋าจริงๆ จริงหากเกินยอด 20,000 บาท ยังถูกเก็บภาษี 15 % อีกด้วย คำนวณให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ถ้าเรามีเงินอยู่ 1 ล้านบาท ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์แบบไม่ถอนเลยเป็นระยะเวลา 1 ปี ในอัตราดอกเบี้ย 0.75 % ฉะนั้น คิดเบ็ดเสร็จออกมา ฝาก 1 ล้านบาท จะได้ดอกเบี้ย 7,500 บาท !! เท่านั้น


เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคนยุคใหม่อย่างเราๆ ที่มีสิทธิ์ที่จะ " เลือก" จึงเริ่มมองหาแหล่งพักเงินที่เพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น แม้จะไม่ได้มากมายก็ตามหากเทียบกับช่องทางการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น แต่เอาเป็นว่าขอปลอดภัย สภาพคล่องพอตัว แล้วได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยก็ยังดี คนยุคใหม่จึงเริ่มมองหาแหล่ง " พักเงิน" แห่งใหม่ ซึ่งก็มีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ดังต่อไปนี้


1.บัญชีประเภท " ออมทรัพย์ " พิเศษ


ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับกลยุทธ์ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากรูปแบบใหม่ได้ดอกเบี้ยมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับเงื่อนไขของการลดสภาพคล่องการเบิกถอนลงสักเล็กน้อย อาทิ ได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้นประมาณ 2-3 % ต่อปี ( ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ย ของตลาดในแต่ละช่วงเวลา) แต่เบิกถอนได้ต่อเดือนไม่เกินครั้งละ 2-3 ครั้ง ถ้ามากกว่านั้นก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการถอนเป็นรายครั้งไป

บัญชีเงินฝากประเภทนี้อาจจะใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป และกำหนดวงเงินขั้นต่ำในการฝากแตกต่างกันออกไปแล้วแต่เงื่อนไขของธนาคาร บางธนาคารไม่กำหนดวงเงินขั้นต่ำเปิดโอกาสให้กับรายย่อย บางธนาคารเปิดเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องการพักเงินไว้สำหรับดึงมาหมุนเวียนในธุรกิจถ้าเป็นเงื่อนไขนี้วงเงินขั้นต่ำที่ฝากได้ก็จะสูงหน่อย

ส่วนเรื่องภาษีสำหรับดอกเบี้ยที่รับเข้ากระเป๋าก็ยังคงใช้หลักการเดียวกับออมทรัพย์ทั่วไป คือ หากได้รับดอกเบี้ย 20,000 บาทขึ้นไป ผู้ฝากจะต้องเสียภาษีในส่วนเงินฝาก 15 % ต่อปีด้วย

ถ้ามองในแง่รายย่อยหรือบุคคลทั่วไป การพักเงินออมไว้ในช่องนี้ถือเป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องด้วยช่วยให้เราได้ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นอีกหน่อย แม้สภาพคล่องจะน้อยลงไปนิด แต่มองในมุมกลับกันถือเป็นผลดีสำหรับคนที่กำลังสร้างวินัยด้านการเงิน เพื่อจำกัดการใช้เงินต่อเดือนของตนเอง หลายคนเลือกบัญชีประเภทนี้เป็นเงินเดือนด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างง่ายๆ แม้จะถอนได้เดือนละไม่เกิน 2 ครั้ง คุณก็ลองคำนวณเงินที่ต้องใช้รายเดือน ( เท่าที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ) เพียงแค่นี้ก็จะสร้างวินัยให้กับผู้ฝากได้ อย่างน้อยถ้าไม่มีเงื่อนไขต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม หากถอนมากกว่า 2- 3 ครั้งต่อเดือนอาจทำให้เราใจไม่แข็งพอสุดท้ายก็ถอนเงินออกมาใช้จนกระทั่งไปเบียดเบียนเงินที่เป็นส่วนของเงินออมได้ในที่สุด


2.กองทุนรวมตลาดเงิน ( Money Market)


ยุคหลังเครื่องไม้เครื่องมือการลงทุนเพิ่มมากขึ้น นอกจาก "ธนาคาร" ที่เป็นแหล่งพักพิงให้เราฝากเงินออมที่เพียรเก็บมาหรือใช้เป็นแหล่งรองรับรายได้รายเดือนเข้าไปเก็บไว้แล้ว ยังมี "บริษัทจัดการกองทุน" หรือเรียกชื่อเล่นว่า "บลจ." ซึ่งตั้งขึ้นมาในภายหลัง ว่ากันว่าเป็นแหล่งรวบรวมมืออาชีพในการด้านลงทุนมากมาย

โดยแต่ละบลจ. จะบรรจุกองทุนมากมายหลายประเภทแบ่งไปตามความเสี่ยงและสินทรัพย์ที่ลงทุน เครื่องมือที่ดูจะเสี่ยงน้อยหน่อยและเข้าตาสำหรับใช้เป็นแหล่งพักเงินเห็นทีจะหนีไม่พ้นกองทุนประเภท ตลาดเงินหรือ Money Market ซึ่งเป็นกองทุนที่ขึ้นชื่อในเรื่องความเสี่ยงต่ำ "สภาพคล่อง" สูสีกับบัญชีออมทรัพย์แต่อาจจะด้อยกว่าเล็กน้อยเนื่องจากถอนเงินวันนี้จะได้รับเงินในวันพรุ่งนี้(T+1)

แต่ตรงนี้ก็ถือว่าไม่เป็นอุปสรรคเพราะจุดเด่นของการพักเงินในกองทุนประเภทนี้คือ อัตราผลตอบแทนหรือดอกผลที่ได้จะสูงกว่าการฝากเงินกับบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา และที่สำคัญกว่าคือผลตอบแทนสุทธิไม่ว่าจะจำนวน 20,000 บาท หรือมากกว่าจะไม่มีการเสียภาษีทั้งสิ้น แต่เนื่องด้วยเป็นการฝากให้มืออาชีพเป็นผู้บริหารก็จะมีค่าบริหารจัดการกองทุนซึ่งอัตราเท่าไหร่นั้นก็แล้วแต่ละ บลจ.กำหนด แต่โดยส่วนใหญ่ค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดกกองทุนประเภท Money Market จะค่อนข้างต่ำกว่ากองทุนประเภทหุ้นหรืออื่นๆ

อย่างที่บอกไปว่ากองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำหลายคนคงสงสัยว่าหากฝากเงินไว้ที่นี่ มืออาชีพ (ผู้จัดการกองทุนหรือ Fund Manager )ที่ว่าจะนำเงินไปลงทุนผ่านช่องทางใด กองทุนรวมตลาดเงินหรือ Money Market เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นกว่า 1 ปี พันธบัตรรัฐบาล และ ตั๋วเงินคลัง จึงจัดเป็นกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำที่สุดในบรรดากองทุนประเภทอื่นๆ ปัจจุบันกองทุนประเภทนี้เริ่มเป็นที่นิยม คนยุคใหม่เริ่มหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น


3.กองทุนตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)


ยังคงอยู่ในแวดวงกองทุนรวมแต่ขยับปรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอีกนิด พร้อมๆกับการลุ้นรับผลตอบแทนสูงขึ้นอีกหน่อย คือ การลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)

คนยุคใหม่เริ่มหันมาสนใจพักเงินอยู่ในกองทุนประเภทนี้มากขึ้น อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 2.5 - 4 % ต่อปี ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยโนบายในช่วงนั้นตลอดจนสินทรัพย์และสัดส่วนการลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนเลือกลงทุนด้วย บางกรณีบางกองอาจเคยให้ผลตอบแทนโดดเด่น 5-6% แต่สินทรัพย์ที่ลงทุนก็อาจจะเสี่ยงสูงขึ้นตามไปด้วย คิดจะลงทุนก็อย่างมุ่งเพียงตัวเลขผลตอบแทนควรศึกษาไส้ในการลงทุนและการแบกรับความเสี่ยงของตัวเองให้ดีก่อน ส่วนเรื่องภาษีก็ตัดออกไปได้รับผลตอบแทนเท่าไหร่ก็เข้ากระเป๋าไปเต็มๆไม่ต้องถูกหักภาษี

เนื่องด้วยกองทุนตราสารหนี้ฟังดูแล้วอาจจะดูใกล้เคียงกับการลงทุนผ่านกองทุนรวม Money Market แต่ลักษณะการลงทุนคล้ายกันแตกต่างกันเล็กน้อยอาจจะมีผสมผสานกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทน อาทิ ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน ( ตรงนี้อาจพิจารณาเรื่องเครดิตเรตติ้งของหุ้นกู้ที่ตราสารหนี้กองนั้นๆเข้าไปลงทุน) ตราสารหนี้ต่างประเทศ ฯลฯ ส่วนสภาพคล่องในการลงทุนก็ใกล้เคียงกับกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) ถอนวันนนี้ได้เงินพรรุ่งนร้หรือบางกองอาจจะใช้เวลา 2 วัน ต้องสอบถามกองทุนในที่ก่อนตัดสินใจ



4.ออมผ่านธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Banking


ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆก็ทันสมัย Smart Phone กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทำอะไรก็สามารถทำธุรกรรมผ่าน Internet ได้อย่างสะดวกสบายรวดเร็ว ที่ผ่านมาสถาบันการเงินต่างๆก็ปรับเพิ่มช่องทาง Internet Banking เพื่อเพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมตอบโจทย์ไลฟ์สไตส์คนยุคใหม่มากขึ้น

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีการพัฒนา ช่องทางการออมเงินล่าสุดคือ "ธนาคารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Banking" ฝากเงิน-ถอนเงินได้เพียงแค่ปลายนิ้วคลิ๊กตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องมีสมุดบัญชีเงินฝาก ไม่ต้องเดินไปธนาคาร ไม่ต้องเจอสาวแบงค์หน้าแฉล้มแช่มช้อยที่เคาเตอร์เบิกถอนอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ(Operation Cost) ต่ำลง หรือพูดง่ายๆต้นทุนของธนาคารถูกลงนั่นเอ งทำให้ธนาคารสามารถเจียดเงินมาเพิ่มในส่วนของดอกเบี้ยๆที่ได้รับจึงสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ธรรมดาค่อนข้างชัดเจน โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการฝาก ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของการฝากเงินผ่าน Electronic Banking จะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธรรมดาประมาณ 4 เท่า หรือคิดเป็นตัวเลขกลมๆ ณ ปัจจุบัน (พ.ค. 2556) อยู่ที่ 3 % ต่อปี


เงื่อนไขสำคัญของการฝากเงินประเภทนี้คือ ทำธุรกรรมด้วยตนเองผ่าน Internet ไม่ว่าจะฝากหรือถอน กรณีถอนเงินนั้นเงินจะถูกโอนผ่านไปเข้าอีกบัญชีที่เราแจ้งผูกไว้(เป็นบัญชีที่เรามีอยู่และเปิดกับสถาบันการเงินไหนก็ได้ ) โดยบัญชีดังกล่าวจะต้องแจ้งหมายเลขบัญชีกับระบบในตอนแรกที่เราทำรายการแจ้งความประสงค์เปิดบัญชี ฉะนั้นหากทำรายการถอนเงินผ่านระบบ Electronic Banking เงินก็จะถูกโอนมาที่บัญชีที่เราผูกไว้หรือแจ้งไว้ตั้งแต่แรก ส่วนสภาพคล่องก็คงต้องแลกกันหน่อยแจ้งทำรายการถอนเงินวันนี้จะได้รับเงินในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เหมือนกับกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนตราสารหนี้

อย่างไรก็ตามแม้จะค่อนข้างสะดวกสบายในขณะที่ผลตอบแทนก็ใช้ได้เลยทีเดียว แต่ข้อจำกัดสำหรับการ "พักเงิน" ไว้ในแหล่งนี้ก็ คือ เรื่องของเทคโนโลยีและวิถีชีวิตว่าเอื้ออำนวยหรือไม่ หากคุณไม่ชื่นชอบเทคโนโลยี ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือหรือความรู้ความเข้าใจที่ดีพอที่สามารถจะทำธุรกรรมแบบนี้ได้อย่างสะดวกก็ลองมองหาช่องทางพักอื่นน่าจะเหมาะกว่า แต่หากไลฟ์สไตส์คุณ "ใช่" ก็นับว่าแหล่งพักเงินผ่าน "Electronic Banking" น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว และไม่แน่นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโลกการเงินในอนาคตที่คนยุคหลังจากนี้ไปต้องเริ่มเรียนรู้กันแล้วก็เป็นได้


เหล่านี้เป็นอีกทางเลือกสำหรับแหล่ง " พักเงิน" สำหรับคนยุคใหม่ที่ลองสรุปแบบย่นย่อมาให้ลองพิจารณากันดู ต้องยอมรับว่าโลกเราค่อยๆหมุนไปพร้อมๆกับการพัฒนาของสิ่งต่างๆรอบตัวไม่เว้นแม้แต่ช่องทางของการเก็บออมเงิน ถึงแม้ยุคนี้หลายคนจะพุ่งเป้าไปที่การลงทุนอื่นๆที่ซับซ้อนกว่านี้แล้วก็ตามไม่ว่าจะหุ้น อนุพันธ์หรือฟิวเจอร์ แต่อย่าลืมว่าต่อให้พอร์ตจะซับซ้อนหรือแม้แต่เบสิกสักแค่ไหน แหล่ง "พักเงิน" ที่ต้องเน้นสภาพคล่องก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนต้องมีตราบใดที่ "เงิน" ยังคงเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่เราต้องจับจ่ายใช้สอยเพื่อการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันกัน แต่จะเลือกช่องทางไหนก็สุดแล้วแต่ " ความถนัด" " ความสะดวก" ที่สำคัญที่สุดคือ " ความสบายใจ" ที่จะใช้เป็นแหล่งพักให้ "เงินเอนหลัง" ได้อย่างไร้กังวล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook