หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อ จ่ายไม่ไหวทำอย่างไร "คลินิกแก้หนี้" คือคำตอบ!
ทำความรู้จัก "คลินิกแก้หนี้" ตัวช่วยดีๆ สำหรับคนมีหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล ที่จ่ายไม่ไหว พร้อมเงื่อนไขที่ต้องรู้ก่อนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ
โครงการคลินิกแก้หนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 1 เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคารเจ้าหนี้ให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เบ็ดเสร็จครบวงจรในที่เดียว ธนาคารเจ้าหนี้ 16 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ มอบหมายให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ทุกราย ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการวางแผนและวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้องด้านการลดความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย และสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินที่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่ในสังคม นำไปสู่การลดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม
ปี 2562 โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 ขยายขอบเขตให้รวมลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ non-bank 19 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงลูกหนี้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่ 15 พ.ค. 62 เป็นต้นไป ทำให้โครงการคลินิกแก้หนี้สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกในการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างกว้างขวางและครบวงจรอย่างแท้จริง
ปี 2563 โครงการคลินิกแก้หนี้เดินหน้าเข้าสู่ “ระยะที่ 3” โดยได้ขยายขอบเขตให้สามารถแก้ไขหนี้บัตรที่มีเจ้าหนี้รายเดียว และหนี้บัตรที่อยู่ในกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษาแล้ว รวมทั้งปรับปรุงคุณสมบัติผู้เข้าโครงการจากเดิมต้องมีหนี้บัตรที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 62 มาเป็นวันที่ 1 ม.ค. 63 และปรับเงื่อนไขจากเป็นหนี้เสีย (NPL) ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 63 มาเป็นวันที่ 1 ก.ค. 63 เมื่อช่วงปลายปี
ปัจจุบันโครงการฯ ได้ปรับปรุงคุณสมบัติผู้เข้าโครงการจากเดิมต้องมีหนี้บัตรที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก่อนวันที่ 1 ก.ค. 63 มาเป็นวันที่ 1 ก.พ. 64
สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้มีดังนี้
- เป็นบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้ อายุไม่เกิน 70 ปี
- เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มี หลักประกันของสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ
- เป็นหนี้เสีย (NPL) ก่อน 1 ก.พ. 64*
- หนี้รวมไม่เกิน 2 ล้านบาท
*ตามรายงานเครดิตบูโร ณ เดือน ม.ค. 64 ต้องมีสถานะค้างชำระ 91-120 วันขึ้นไป
ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้
ขั้นตอนที่ 1 : ตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ
ขั้นตอนที่ 2 : กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มใบสมัคร
ขั้นตอนที่ 3 : จัดเตรียมเอกสารประกอบการเข้าร่วมโครงการ ดังนี้
- ใบสมัครเข้าร่วมโครงการ
- รายงานเครดิตบูโร
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
- เอกสารแสดงรายได้ (แยกตามกรณี)
กรณีพนักงานประจำ : สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 1 เดือน
กรณีอาชีพอิสระ : รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 3 เดือน
หรือหนังสือรับรองรายได้ (ตามแบบฟอร์มแนบท้ายใบสมัคร)
ขั้นตอนที่ 4 : ส่งเอกสารมาที่ ตู้ปณ. 40 ปณฝ.ซันทาวเวอร์ส กรุงเทพฯ 10905 (แนะนำส่งผ่านไปรษณีย์ไทย เพื่อสามารถตรวจสอบการจัดส่งและป้องกันการสูญหายของเอกสาร)
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้
- ไม่ถูกทวงถามจากเจ้าหนี้หลายราย
- แก้ไขหนี้หลายรายได้ครบ จบในที่เดียว
- ทำสัญญาแก้หนี้เพียงฉบับเดียว
- ผ่อนสบายๆ ตามตารางชำระหนี้
- ผ่อนได้นาวๆ ไม่เกิน 10 ปี ดอกเบี้ยขั้นต่ำ 5% ต่อปี
- ไม่ก่อหนี้เพิ่ม ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ
สำหรับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ทั้ง ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank มีดังนี้
ธนาคาร
- ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารซิตี้แบงค์ เอ็น.เอ.
- ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
Non-bank
- พรอมิส
- เมืองไทย แคปปิตอล
- แมคคาเล กรุ๊พ
- ศักดิ์สยามลิสซิ่ง
- กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์
- บัตรอิออน
- ยูเมะพลัส
- เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง
- สินเชื่อ ไอทีทีพี
- เอ มันนี่
- จี แคปปิตอล
- เจ มันนี่
- บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน
- ซัมมิท แคปปิตอล
- สินเชื่อซิตี้คอร์ป
- บัตรโลตัส มันนี่ พลัส
- นครหลวง แคปปิตอล
- บัตรเครดิตกรุงศรีอยุธยา