ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ 70% ทำรัฐต้องหารายได้เพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ 70% ทำรัฐต้องหารายได้เพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ 70% ทำรัฐต้องหารายได้เพิ่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังมีมติเห็นชอบขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อ GDP เป็น 70% ต่อ GDP เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง

ทั้งนี้ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้ภาครัฐได้มีการใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านทางมาตรการทางการคลัง โดยผ่านแหล่งเงินงบประมาณประจำปี 2563-2564 และ พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รวมถึงการกู้เงินขาดดุลงบประมาณที่มีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเม็ดเงินกู้ต่างๆ เหล่านี้ ประกอบกับฐาน GDP ไทยที่หดตัวลึก คาดว่าจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยแตะระดับ 60% ต่อ GDP ในปี 2564 นี้เป็นอย่างเร็ว อย่างไรก็ดี หลายประเทศทั่วโลกมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ในแทบทุกประเทศทั่วโลกมีการอัดฉีดมาตรการการคลังในการเยียวยาประชากรและกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น จะเห็นยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนนำมาสู่การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจะไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น โดยรัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว

ดังนั้น ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการ roll over หนี้ที่ครบกำหนดไม่ทันจึงมีอยู่จำกัด นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ต้นทุนของภาระหนี้ (debt service burden) ในกรอบเวลาระยะสั้นนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม จุดสนใจอยู่ที่การบริหารจัดการการคลังในระยะกลางถึงยาวที่จำเป็นต้องมีแผนการจัดหารายได้ภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อลดการขาดดุลทางการคลังในระยะข้างหน้า ในขณะที่การใช้งบประมาณต้องก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีความเสี่ยงมากหรือน้อยยังอยู่ที่ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีในระยะข้างหน้า ระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอาจไม่น่ากังวลเท่าหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวหรือเติบโตในอัตราที่ต่ำ ดังนั้น บทสรุปสุดท้ายจึงอยู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

vpนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุ การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นร้อยละ 70 ต่อ GDP เป็นหนึ่งในข้อเสนอของภาคเอกชน เพื่อให้ภาครัฐมีช่องว่างที่จะกู้เงินได้อีก 1 ล้านล้านบาท มาชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป

โดยมองว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ภาครัฐจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 5 แสนล้านบาท และในไตรมาสที่ 1 ปีหน้าอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ โดยที่ผ่านมา หอการค้าไทย เคยเสนอให้เพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง อีกคนละ 3,000 บาท ซึ่งจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 แสนหมื่นล้านบาท รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย

เชื่อว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะจะไม่กระทบกับเสถียรภาพการคลังในระยะยาว และหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น ภาครัฐก็ยังเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเอกชนยินดีจ่าย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ รัฐต้องใช้เงินให้ตรงจุด โปร่งใส และเยียวยาช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจและประชาชนที่เดือดร้อนจริง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook