เทคนิคการจัดการ งานที่ยุ่งเหยิง

เทคนิคการจัดการ งานที่ยุ่งเหยิง

เทคนิคการจัดการ งานที่ยุ่งเหยิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ผมจะแนะนำเทคนิคการบริหารจัดการกับงานที่ยุ่งเหยิงให้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายโดยไม่ต้องฝืนใจ เป็นวิธีเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ทั้งการบริหารเวลา การสื่อสารกับคนรอบข้าง การจัดเก็บข้อมูล การวางแผน และการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สามารถทำงานสำเร็จลุล่วงด้วยผลงานที่ดี มีเวลาเหลือให้กับตัวเองและครอบครัวได้อย่างจริงจังและสมบูรณ์มากขึ้น

จึงเป็นประโยชน์ทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เพิ่มเวลาของตนเองและลดเวลาของคนอื่นลง ปฏิบัติงานโดยคิดด้วยตัวของตัวเอง เพิ่มเวลาของตนเองให้มากขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ก็สามารถที่จะเปลี่ยนเวลาของคนอื่นให้เป็นเวลาของตัวเองได้ เรามาดูกันครับว่าเทคนิคง่าย ๆ นี้ มีอะไรบ้าง


1.ใช้เวลาของวันนี้เตรียมการสำหรับงานในวันพรุ่งนี้
ทำตัวให้มีเวลาว่างสัก 5% สำหรับเตรียมการเพื่อวันพรุ่งนี้ จะทำให้สามารถบรรลุผลงานในวันนี้ได้อย่างราบรื่น ทำให้มีเวลาว่างใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นได้อีกแทนที่จะรอให้ถูกตามงาน ต้องส่งมอบงานก่อนเวลา กำหนดเวลาส่งมอบงานของตัวเองให้เร็วกว่าเวลาส่งมอบงานจริง แล้วเคลียร์งานให้เรียบร้อย
เทคนิคการใช้เวลาในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ ต้องแบ่งเวลา 1 วันเป็น 3 ส่วน แล้วผ่อนหนักผ่อนเบาในการทำงานแต่ละวัน

ช่วงเช้า - เหมาะที่จะใช้ทำงานที่ต้องใช้ความคิด สติปัญญา เช่น คิดหาไอเดียใหม่ ๆ ทบทวนวิธีการทำงานที่ทำอยู่ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะมากกับงานที่ต้องใช้สัญชาติญาณหรืองานที่ต้องมีการวางแผน
ช่วงกลางวัน - เป็นช่วงเวลาที่ควรจะตั้งใจใช้เวลาที่มากเพียงพอเพื่อทำงานอะไรสักอย่างให้เสร็จสิ้นไป เพราะความสามารถในการพิจารณาตัดสินและความฉับไวในการคิดจะลดน้อยลงไปตามเวลาที่ผ่านไป ช่วงกลางวันจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะจะทำงานที่มีวิธีการกำหนดไว้แล้ว
ช่วงเย็น - เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับส่วนตัวของแต่ละคนที่สามารถกำหนดวิธีการใช้เวลาได้ด้วยเจตนารมณ์ของตนเอง ช่วงเย็นนั้นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งที่เราสามารถใช้ปรับสภาวะจิตใจของเราในแต่ละวันได้

 

2.กำหนดความสำคัญของงานแต่ละอย่าง แล้วทำให้เสร็จทีละอย่าง
ใช้วิธีบันทึกงานที่ควรจะทำลงในสมุดบันทึก หากใช้กระดาษติดแปะ (แบบ Post-it) จะทำให้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะจะเห็นได้ง่าย และหากเป็นกระดาษสีเหลืองก็จะช่วยกระตุ้นสมอง กระตุ้นให้อยากทำงานมากขึ้นอีกด้วย เมื่อทำงานเสร็จไปหนึ่ง อย่าง ก็เอากระดาษติดแปะที่เป็นเรื่องของงานนั้นทิ้งลงตะกร้าไป ทำให้รู้สึกว่างานได้สำเร็จลุล่วงไปอย่างหนึ่งแล้ว เป็นการเปลี่ยนความรู้สึกให้มีความสบายใจมากขึ้น สำหรับงานใหญ่ที่ต้องใช้เวลามากนั้น ต้องเขียนลงไปในกำหนดการว่าจะทำช่วงไหน เมื่อไร เพื่อจะได้เตรียมเวลาเอาไว้ หากจำไว้ในใจเพียงอย่างเดียว ก็จะมีแต่ความกดดันจากความรับผิดชอบที่มีอยู่ ทำให้รู้สึกว่ามีภาระหนักมาก

 

3.ต้องมีเวลา Golden Time เป็นของตัวเอง
คือเวลาที่ทำงานแล้วรู้สึกสนุกสนาน สามารถทำงานอย่างมีสมาธิ และมีประสิทธิภาพสูง เวลาทองสำหรับตัวเองก็คือเวลาที่ตัวเองสามารถทำงานอดิเรก หรือสิ่งที่ตัวเองชอบได้ นอกจากนั้นยังต้องค้นหาเวลาทองสำหรับครอบครัวด้วย เพิ่มความรวดเร็วในการทำงานด้วย การกำจัดความสูญเปล่าความไม่สม่ำเสมอและการฝืนทำกำจัดความสูญเปล่าเวลาทำงานที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์โดยตรง จริงๆ แล้วมีไม่ถึงครึ่ง การกำจัดความสูญเปล่าจะทำให้เราเพิ่มงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากขึ้น การวางแผนแล้วทำงานอย่างมีแผน จะช่วยลดความสูญเปล่าได้

 

4.เลือกทิ้งงานบางอย่าง เพื่อทำงานที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า
ถ้าอยากทำไปหมดทุกเรื่อง ก็ไม่สามารถทำงานที่สำคัญจริง ๆ ได้ ต้องทำงานแต่ละอย่างที่อยู่ในมือให้เสร็จเรียบร้อย งานที่ทำได้ทันทีก็ต้องรีบจัดการเคลียร์ให้เรียบร้อยไปก่อน เป็นการลดจำนวนของงานลงได้ชัดเจน ถ้างานแต่ละอย่างล้วนแต่ทำคั่งค้างครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็จะทำให้กังวลใจ ไม่มีสมาธิที่จะทำงานอย่างอื่นต่อไปได้

 

5.การสรุปทันที ตัดสินใจทันที ลงมือทำทันทีด้วยความรวดเร็ว
หากเราทำงานอย่างรวดเร็วจะช่วยให้เกิดกำลังใจในการทำงาน และกระตุ้นความรู้สึกในการบรรลุเป้าหมาย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง ให้ใช้วิธีหักลบในการทำงาน

 

6.สะสางสิ่งที่อยู่รอบตัว เพื่อให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น
สะสาง สะดวก คือ การทิ้ง เก็บรวบรวม กำหนดสถานที่เก็บ ดูแลรักษา ซ้ำหลาย ๆ ครั้งเป็นประจำ จะทำให้สามารถใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เป็นประโยชน์สูงสุด
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะสามารถทำให้เราบริหารจัดการงานของเราได้เป็นอย่างดี ในสัปดาห์หน้า ผมจะนำเทคนิคดี ๆ มาให้ท่านผู้อ่านเพิ่มเติมนะครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะสนุกกับการนำเทคนิคต่าง ๆ ไปปรับใช้ และเห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจนครับ

 

 

ผู้เขียน : ดร.สมสิทธิ์ มีแสงนิล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook