ผ่ารายละเอียดนโยบายดึงต่างชาติพำนักระยะยาวในไทย หวังฟื้นเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท

ผ่ารายละเอียดนโยบายดึงต่างชาติพำนักระยะยาวในไทย หวังฟื้นเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท

ผ่ารายละเอียดนโยบายดึงต่างชาติพำนักระยะยาวในไทย หวังฟื้นเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่มติ ครม. เห็นชอบ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนด้วยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย" เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 64 ในลักษณะผู้พำนักระยะยาวในไทยโดยประกอบด้วย 2 มาตรการหลักๆ 

  1. การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวให้กับกลุ่มชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะได้รับการยกเว้นให้เป็นผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักอาศัยระยะยาว และวีซ่าประเภท Smart Visa ทั้งหมด ไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน
  2. การแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยูในและนอกราชอาณาจักรได้, การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน, การยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร และการศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน

ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตามองดูเหมือนจะเป็นเรื่อง "การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการถือครองที่ดิน" ซึ่งบางคนอาจมีความกังวลว่าหากเปิดทางให้ต่างชาติสามารถเข้ามาถือครองที่ดินได้ สุดท้ายต่างชาติก็จะกว้านซื้อที่ดินไปแล้วคนไทยจะกลายเป็นผู้เช่าในที่สุด

แต่อย่าเพิ่มตกใจว่ารัฐบาลจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินได้อย่างอิสระอย่างไร้ขอบเขต เพราะจะต้องมีสัดส่วนการถือครองที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังคงยึดถือหลักกฎหมายเดิม ตามพระราชบัญญัติอาคารชุดแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 กำหนดให้ต่างชาติสามารถซื้อ และถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือคอนโดมิเนียมในประเทศไทยได้สูงสุด 49% ของพื้นที่ขายของโครงการนั้นๆ และอีก 51% เป็นสิทธิของคนไทยถือครอง ส่วนอสังหาริมทรัพย์แนวราบนั้นยังไม่สามารถือครองได้ แต่จะทำได้ในลักษณะเช่าระยะยาว ซึ่งต้องมีกฎหมายพิเศษรองรับ เช่น การเช่าอสังหาริมทรัพย์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (เช่าไม่เกิน 50 ปี ต่อสัญญาเช่าไม่เกิน 49 ปี รวม 99 ปี) แต่ขอย้ำว่าเป็นการเช่าเท่านั้น ไม่ใช่การซื้อขายได้

นอกจากนี้ ในรายละเอียดมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง หากดูจาก 4 กลุ่มเป้าหมายที่ได้ระบุถึงคุณสมบัติที่จะพำนักระยะยาวในไทยนั้น น่าจะเรียกว่าเป็น "กลุ่มเศรษฐีต่างชาติ" เลยก็ว่าได้

1. กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง

  • ต้องมีการลงทุนขั้นต่้ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์

2. ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ

  • ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • มีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (กรณีไม่มีการลงทุน)

3. ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

  • รายได้ส่วนบุคคล (อาทิ เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป, ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา, ได้รับเงินทุน Series A และมีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี

โดยสิทธิประโยชน์ที่ทั้ง 3 กลุ่มจะได้รับคือ ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า, ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันด้วย และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน)

4. ผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

  • มีรายได้ส่วนบุคคล (เงินเดือน รายได้จากการลงทุน เป็นต้น) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยจะได้สิทธิประโยชน์หลักเช่นเดียวกับชาวต่างชาติประเภทอื่นๆ แต่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยอัตราเทียบเท่ากับอัตราภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการจ้างแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก

ซึ่งมาตรการดังกล่าว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าระยะเวลาดำเนินการมาตรการฯ ภายใน 5 ปี งบประมาณ (2565-2569) จะช่วยชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรายได้ที่สูญหายจากภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าใน 5 ปี จะช่วยเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติในไทยรวมถึงปริมาณเม็ดเงินที่ไหลลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ดังนี้

  1. เพิ่มจำนวนชาวต่างขาติที่พำนักอาศัยในประเทศไทยได้ 1 ล้านคน
  2. เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจได้มากถึง 1 ล้านล้านบาท
  3. เพิ่มปริมาณเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจกว่า 8 แสนล้านบาท
  4. เพิ่มรายได้ทางภาษี 2.7 แสนล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าว ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ดำเนินการภายใน 90 วัน (3 เดือน) และจะต้องกลับมารายความคืบหน้าผลการพิจารณาผ่าน สศช. อีกครั้ง เพื่อที่จะได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป เท่ากับว่ามาตรการนี้ยังไม่แล้วเสร็จ 100% และอาจมีการปรับแก้ไขในรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม ทีนี้เราก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าเราจะได้เห็นมาตรการดึงเม็ดเงินจากเศรษฐีต่างชาติทันภายในสิ้นปี 2564 หรือไม่ แล้วข้อกังวัลถึงการปรับแก้ไขกฎหมายถือครองที่ดินต่างชาติจะได้บทสรุปอย่างไร และใครจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์กันแน่ คงต้องติดตามกันต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook