จำกันได้ไหม? ศิริวัฒน์ แซนด์วิช
หลายครั้งที่เรื่องราวของโลกธุรกิจมักผกผัน มีขึ้นมีลง บางอย่างอาจเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะออกแบบยังไงในแต่ละช่วงของวิกฤตและโอกาสที่มีเข้ามา
เช่นเดียวกับเรื่องราวของ ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ อดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเจ้าพ่อตลาดหุ้นที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของแบรนด์แซนด์วิชชื่อดัง ‘ศิริวัฒน์แซนด์วิช' การปรับตัวจากธุรกิจใหญ่ สู่ธุรกิจเล็ก การสร้างเอกลักษณ์ ความจดจำในตัวสินค้าให้กับผู้บริโภค จนถึงแผนงานเพื่อกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่ละช่วงของการเดินทางนั้นเป็นอย่างไร ลองไปติดตามพร้อมๆ กัน
ย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อน หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จนทำให้ธุรกิจล้มละลาย แทบไม่เหลืออะไรเลย สิ่งแรกที่ศิริวัฒน์ บอกกับตัวเอง คือ ทำใจ
"สิ่งแรกที่ต้องทำเลย คือ ทำใจว่าชะตาชีวิตมันผันแปรได้ อย่าไปยึดติด พอทำใจได้ เราจะรู้เองว่าสามารถทำอะไรต่อไปได้บ้าง ตอนนั้นทุนก็ไม่มี คิดว่าจะทำอะไรที่ได้เงินมาเลี้ยงลูกน้องได้
ก็ปรึกษากับภรรยาเลยคิดกันว่าต้องทำอาหารขาย ตอนนั้นคิดง่ายๆ เลย เพราะยังไงคนเราก็ต้องกิน แต่ด้วยความที่เราไม่มีองค์ความรู้อะไร เปิดร้านอาหารก็ต้องลงทุนเยอะ ถ้าขายดีกุ๊กลาออกก็แย่อีก
เลยคิดกันว่าทำแซนด์วิชละกัน แค่ซื้อขนมปัง แฮม ชีสมาประกอบกันก็ขายได้แล้ว ก็ลงมือทำกัน เช่าทาวน์เฮ้าส์เล็กๆ เป็นทั้งออฟฟิศและที่ทำแซนด์วิชไปด้วย ใช้ชื่อว่า ‘ศิริวัฒน์แซนด์วิช' ทีแรกขายอยู่ในโรงพยาบาลกรุงเทพฯ อย่างเดียวเป็นเคาน์เตอร์
แต่รายได้ไม่พอ เราเลยขยับขยายให้พนักงานออกไปยืนขายตามจุดต่างๆ เพราะทุนเรามีไม่มาก และวิธีนี้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากด้วย เช้าขายคนทำงานแถวออฟฟิศเยอะๆ
ระหว่างวันขายที่แบงค์ บ่ายขายหน้าโรงเรียน แรกๆ ก็ขายได้ไม่เท่าไหร่ เพราะแซนด์วิชเราแพง คนอื่นขาย 8-10 บาท แต่ของเราขาย 25-30 บาท นั่นเพราะเราใช้ของดี จนเขาซื้อไปลองชิมก็เกิดการบอกต่อปากต่อปาก
ตอนหลังเราจึงทำข้าวกล้องห่อสาหร่ายเพิ่มเข้ามาอีกเมนูด้วย ซึ่งเป็นเจ้าแรกในโลกที่ทำ เราไปจดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว"
นอกจากการเลือกใช้ของดี สิ่งหนึ่งที่ศิริวัฒน์คิดว่าสร้างชื่อเสียงให้กับแซนด์วิชของเขา คือ การที่เขากล้าเปิดเผยตัวตน ยอมรับกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น จนทำให้เป็นที่สนใจของสื่อต่างๆ
"พูดตรงๆ ว่าไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน แต่ยอมรับว่าผมโชคดี เพราะผมยอมรับว่าผมเจ๊งแล้ว เปิดเผยตัวเลย จนมายืนขายของข้างถนน สื่อต่างๆ เขาเลยสนใจทั้งไทยและต่างประเทศ ทำให้คนรู้จักเยอะ ประชาชนที่เห็นข่าวแรกๆ แรกอาจมาซื้อเพราะสงสาร แต่ด้วยความที่ของเราดีจริง เขาเลยกลับมาซื้ออีก ซึ่งผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราซื่อสัตย์กับลูกค้า เขาก็อยู่กับเรา เคยมีคนถามผมว่าคุณรู้ได้ยังไงว่าขายแซนด์วิชข้างถนนแล้วจะได้เกิด ผมตอบไปว่าไม่รู้ แค่ทำให้ดีที่สุด"
จากแซนด์วิชที่โด่งดัง ขยายผลให้ธุรกิจอื่นตามมา จากการพยายามรักษาคุณภาพและใช้ของดีมาตลอด ทำให้สินค้าอื่นติดตลาดได้ไม่ยาก นั่นเพราะความมั่นใจในแบรนด์ โดยทั้งหมดภายใต้บริษัท ทีจีไอเอฟ คอร์ปปอเรชั่น จำกัด
"จากแซนด์วิช ปัจจุบันเราขยายธุรกิจเพิ่มหลายอย่าง เราเปิดร้านขายอาหารเครื่องดื่ม ปัจจุบันรีแบรนด์ใหม่ใช้ชื่อว่า ‘SIRIdeli' (มี 3 สาขา คือ รพ.กรุงเทพ รพ.BNH และรพ.พญาไท 1) ในร้านมีผลิตภัณฑ์มากมาย ทั้งแซนด์วิช ซูซิข้าวกล้อง ปิต้าแซนด์วิช เครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ
โดยพยายามขยายไลน์สินค้าออกไปให้เป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษามากกว่าวันเดียว ได้แก่ ข้าวกล้องอินทรีย์อบกรอบแบรนด์ ‘ศิริวัฒน์แซนด์วิช' และ ‘ไบรซ์' น้ำมะเม่า(Mao Berry) แบรนด์‘ศิริวัฒน์แซนด์วิช' รวมถึงบริการรับจัดคอฟฟี่เบรกในชื่อ ‘Coffee Catering' ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์เราพยายามใช้สัญลักษณ์หรือชื่อศิริวัฒน์แซนด์วิชเข้าไปด้วย
ให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเราใช้ของดี ไม่ทำให้เขาผิดหวัง สินค้าบางตัวอย่างข้าวกล้องอินทรีย์อบกรอบเราก็ได้ขึ้นไปขายบนสายการบินถึง 2 สาย คือ การบินไทยและแอร์เอเชียด้วย โดยเราพยายามคัดสรรสินค้าที่คุณภาพดีมาขายให้กับลูกค้า ส่วนใหญ่อยู่ที่มาตรฐาน 4-5 ดาวทั้งนั้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เราจะใช้ลักษณะ OEM คือ จ้างผลิตให้ นำไปขายทั้งที่ร้านเราเองและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ"
ศิริวัฒน์กล่าวว่าสิ่งที่เขายึดถือมาตลอด และทำให้ประสบความสำเร็จทุกครั้งไม่ว่าธุรกิจใหญ่หรือเล็ก มีอยู่ 2 ข้อ ด้วยกัน คือ ความซื่อสัตย์และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
"ตั้งแต่ทำธุรกิจมาไม่ว่าจะตอนทำคอนโด แซนด์วิช หรือผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด คือ การรักษามาตรฐาน เลือกใช้ของที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งคือ การแสดงความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ
เขาก็จะอยู่กับเราไปตลอด ในส่วนของคู่ค้าหรือลูกน้องด้วยเช่นกัน หากเรามีความซื่อสัตย์ต่อกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ดูแลกันและกัน ผมซื่อสัตย์กับลูกค้าผมดูแลเรื่องการตลาด โรงงานผลิตซื่อสัตย์กับผม เกษตรกรซื่อสัตย์กับโรงงานผลิต ทุกคนซื่อสัตย์ต่อกันและกัน ไม่ทิ้งกัน เราก็จะเติบโตไปด้วยกันได้
เหมือนที่ผมก็ไม่ทิ้งลูกน้องในช่วงวิกฤต เพราะไม่มีใครทำอะไรคนเดียวได้ อย่างตอนนี้ผมภูมิใจมากที่ทำให้เกษตรกรอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนครที่ปลูกลูกเม่าให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากแต่ก่อนกิโลกรัมละ 7 บาท พอปี 2553 ขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาทได้"
ในอนาคตต่อไปศิริวัฒน์วางแผนธุรกิจไว้ว่า เขาจะนำธุรกิจเข้าตลาดหุ้น เพื่อระดมทุนในการขยายธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งการขยายผลิตภัณฑ์ ขยายสาขา และเปิดแฟรนไชส์ โดยเขามั่นใจว่าการกลับไปครั้งนี้มั่นคงกว่าครั้งก่อนแน่นอน
"เรามั่นใจว่าการกลับไปครั้งนี้มีความมั่นคงมากขึ้นกว่าธุรกิจแต่ก่อนที่ทำ สมัยก่อนเราเป็นนักลงทุนรายใหญ่ แมงเม่าตัวใหญ่ มีชื่อมีเสียง แต่เราไปลงทุนในหุ้นของคนอื่น โดนหลอกก็เยอะ เพราะเราไม่ใช่คนบริหารเอง ไม่ได้ลงมาจับเอง ดูงบสวยหน่อยซื้อ ทั้งที่ไม่รู้ความจริงเป็นอย่างไร แต่นี่เราทำเอง ดังนั้นจึงจีรังยั่งยืนกว่า"
ด้วยหลักแห่งความซื่อสัตย์และมาตรฐานที่ยึดมั่นมาตลอด ทำให้ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร เล็กหรือใหญ่ ก็สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี...