ประกันสังคม เปิดวิธีขอรับเงินทดแทน 50% ให้ลูกจ้าง ม.33 ว่างงานเหตุน้ำท่วม
ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่างงานเหตุน้ำท่วม ขอรับเงินทดแทนจากเหตุสุดวิสัยได้ 50% ของค่าจ้าง
น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมจนต้องหยุดงานไม่ได้รับค่าจ้าง ถือเป็นเหตุสุดวิสัย สามารถรับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคมได้ ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ตลอดเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ไปทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย แต่ไม่เกิน 180 วัน
ซึ่งการจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจะจ่ายเงินหลังจากวันที่ลูกจ้างมาทำงานได้แล้ว หมายความว่า เมื่อน้ำลดจึงสามารถเบิกกรณีว่างงานเหตุสุดวิสัยได้ ที่สำคัญลูกจ้างไม่ต้องขึ้นทะเบียนว่างงาน และรายงานตัวกับกรมแรงงาน เพราะยังมีสถานะเป็นพนักงานอยู่ไม่ได้ถูกเลิกจ้าง หรือลาออกจากงาน
สำหรับเงื่อนไขการรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจาเหตุน้ำท่วม โฆษกสำนักงานประกันสังคม ระบุมี 2 คือ บริษัทนายจ้างน้ำท่วมไม่สามารถทำงานได้ หรือบ้านลูกจ้างน้ำท่วม แต่จะต้องมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ใน 15 เดือน โดยนับจากวันที่หยุดงาน เช่น หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 ให้นับย้อนหลังตั้งแต่เดือน ก.ย. 64 ไปอีก 15 เดือน ว่ามีการจ่ายเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือไม่ หากทำงานมาโดยตลอด จากนั้น 6 เดือนก็สามารถเบิกว่างงานได้ และจะต้องยื่นแบบ สปส.2-01/7 หมายถึงลูกจ้างยื่นและแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากของลูกจ้าง
ประกันสังคมจะไม่จ่ายเงินล่วงหน้าจะโอนเงินเข้าให้เมื่อครบกำหนด ซึ่งนายจ้างจะต้องรับรองว่าลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้กี่วัน โดยจะมีแบบฟอร์มในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม โดยลูกจ้างจะต้องยื่นทางไปรษณีย์ สามารถเดินทางมายื่นได้หลังจากน้ำลดลงแล้ว
ส่วนวิธียื่นขอรับเงินทดแทนจากเหตุสุดวิสัยจากน้ำท่วมนั้น โฆษกสำนักงานประกันสังคม ระบุ ลูกจ้างสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอรับประโยชน์กรณีว่างงาน หรือ สปส.2-01/7 ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือคลิกที่นี่ กรอกข้อมูลรายละเอียดในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน พร้อมกับแนบเอกสารประกอบการยื่นแบบ สปส.2-01/7 ได้แก่
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากของลูกจ้าง
- หนังสือรับรองจากนายจ้าง ว่าเกิดเหตุน้่ำท่วมจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ชั่วคราว หรือบ้านลูกจ้างน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้
- ไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน
จากนั้นส่งเอกสารดังกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ใกล้เคียง