การบริหารกิจการครอบครัว
โดย วิชัย เบญจรงคกุล
หัวข้อเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ยังไม่มีบทสรุปที่ดีที่สุด เนื่องจากแต่ละธุรกิจครอบครัวจะมีเอกลักษณ์ที่พิเศษและแตกต่างกันจากครอบครัวหนึ่งกับอีกครอบครัวหนึ่ง แต่เราอาจสามารถเห็นความคล้ายคลึงกันบ้างในการจัดการธุรกิจของครอบครัวต่าง ๆ แต่จะไม่เหมือนกันในองค์ประกอบในรายละเอียดของแต่ละครอบครัว
แม้แต่ภายในครอบครัวเดียวกัน เราจะพบว่า สมาชิกครอบครัวแต่ละคน หรือในแต่ละรุ่นก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นเราอาจจะเห็นว่ารูปแบบของการจัดการธุรกิจครอบครัวจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะแม้แต่ในบริษัทที่บริหารโดยผู้บริหารมืออาชีพที่มีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงแนวการจัดการและการบริหารได้เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารเช่นกัน
เราจึงไม่สามารถสรุปอย่างที่หลาย ๆ คนมีความเข้าใจว่า ธุรกิจครอบครัวนั้นทำงานแบบไม่มีระบบ หรือเป็นการทำงานแบบที่ไม่มีมาตรฐาน เพราะการเปลี่ยนแปลงในแนววิธีการบริหารจัดการกับกิจการไม่ใช่ตัวชี้วัดของเรื่องมาตรฐานในการบริหารจัดการ แต่น่าจะอยู่กับพฤติกรรมการจัดการของแต่ละองค์กรให้เหมาะสมและนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้
ในปัจจุบันเริ่มจะมีผู้ที่จัดหลักสูตรการอบรมการจัดการธุรกิจครอบครัวให้มีรูปแบบหรือมีการพัฒนาการให้ทันสมัย และพยายามจะช่วยให้สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือ
แม้กระทั่งการเปิดใจคุยกันเพื่อหาทางให้การจัดการธรกิจครอบครัวมีประสิทธิภาพขึ้น
นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สมาชิกของธุรกิจครอบครัวได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แม้ว่าอาจไม่สามารถหาข้อยุติได้อย่างรวดเร็วหรือชัดเจนนัก
(จากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยเข้าร่วมหลักสูตรเหล่านี้มา) แต่เป็นโอกาสที่ความคิดความรู้สึกของแต่ละฝ่ายได้มีการนำมาเปิดเผยกับสมาชิกครอบครัวที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการรับรู้ถึงข้อมูลความคิดของสมาชิกแต่ละคนที่ช่วยบริหารกิจการอยู่ เป็นเรื่องปกติที่ผู้อาวุโสในธุรกิจครอบครัวที่จะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็น และสมาชิกรุ่นใหม่มักจะคิดว่าธุรกิจต้องการมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด
ส่วนผู้อาวุโสที่มีความรู้ และประสบการณ์ก็อาจขาดทักษะในการถ่ายทอดความรู้ในการบริหารของกิจการครอบครัวจึงเกิดปัญหาในการสื่อสารและความเข้าใจระหว่างรุ่น
ทั้งนี้ การถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งด้วยประสบการณ์เฉพาะตัวของผู้ที่เป็นผู้นำ ให้แก่ผู้สืบทอดกิจการที่อาจมีแนวคิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดการที่ตนคิดว่าจะเหมาะสมกับแนวคิดและความเข้าใจของธุรกิจจากมุมมองของตน บางครั้งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแต่บางครั้งก็เป็นทางตรงกันข้าม
การถ่ายทอดกิจการของผู้เป็นเจ้าของและผู้บริหารจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งที่อาจถือว่า ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ คือ การถ่ายทอดกิจการหรือการเริ่มกระบวนการสืบทอดกิจการระหว่างที่ผู้บริหารรุ่นอาวุโสยังคงมีชีวิตอยู่ และสามารถฝึกสอนผู้ที่เป็นทายาทได้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทายาทได้เรียนรู้ และสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ ได้
แต่หากเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันมักเกิดปัญหาการสืบทอดเจตนารมณ์ และกลยุทธ์ที่อาจถือว่าเป็นศาสตร์เฉพาะของกิจการนั้น ๆ โดยส่วนสำคัญที่จะช่วยให้กระบวนการเหล่านี้ประสบผลสำเร็จได้มากคือ การสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัว การรับฟัง การให้ถาม การร่วมระดมความคิด
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้เกิดขึ้นเพื่อที่สมาชิกในครอบครัวสามารถเข้าใจและสามารถบริหารจัดการธุรกิจด้วยทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน
เคล็ดลับอีกอย่างที่เคยมีผู้อาวุโสในธุรกิจครอบครัวได้แนะนำไว้ คือ ควรเปิดเผยความตั้งใจของผู้อาวุโสในการแต่งตั้งมอบหมายภารกิจในการเป็นผู้นำของกิจการกับเหล่าสมาชิกของครอบครัว
และต้องให้เกิดการยอมรับของหมู่สมาชิกครอบครัวเพื่อความสามัคคีของผู้สืบทอดกิจการ
ท่านผู้นั้นเคยแนะนำผมว่า "เราควรคำนึงถึงความรู้สึกและความเข้าใจของลูก ๆ ในสิ่งที่เราตัดสินใจ และเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีที่สุดในขณะที่เรามีชีวิตอยู่"
ทำให้ผมเข้าใจว่า การสื่อสารที่ดีระหว่างสมาชิกครอบครัวในธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก
อย่างน้อยว่า แม้กิจการที่สืบทอดต่อมาอาจไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ แต่ความรักความผูกพันและความเข้าที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัวนั้นคงมีอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในความเป็นครอบครัว
รวมภาพน่ารักๆ ตระกูล "เบญจรงคกุล"