โดนแล้ว! ถูกมิจฉาชีพฉกเงินจากบัญชี ต้องทำอย่างไรดี
อีกคดีใหญ่ที่ต้องระแวงสมุดบัญชี หลังวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์เตือนเป็นอุทาหรณ์เมื่อเจ้าตัวโดนสูบเงินออกจากบัญชีโดยไม่รู้ตัวกว่า 19 ครั้งภายในไม่กี่ชั่วโมง ล่าสุดได้มีผู้เสียหายจากมิจฉาชีพนักสูบจำนวนมากเข้าร่วมกลุ่ม “แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว” จนมียอดสมาชิกกว่า 5 หมื่นคน
ข้อมูลภายในกลุ่มพบว่าการสูบเงินของบรรดามิจฉาชีพมีลักษณะใกล้เคียงกันคือจะค่อยๆ รูดเงินจากบัญชีเหยื่อทีละไม่กี่สิบบาทเพื่อให้ถึงยอดเงินที่ sms ของเบอร์เจ้าของบัญชีแจ้งเตือนช้าลง และทำในเวลาเช้ามืดเพราะเหยื่อยังคงนอนหลับอยู่ คดียักยอกนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปีก่อน และกลับมาอีกครั้งโดยมีผู้เสียหายถูกฉกเงินหมดบัญชีในเวลาเพียง 10 นาที
ทำอย่างไรเมื่อเงินหายจากบัญชี
สำหรับท่านใดที่รู้ตัวเงินหายไปจากบัญชีให้รีบปฏิบัติโดยติดต่อธนาคารต้นสังกัด ดังนี้
- แคปหน้าจอการโอนเงินเข้า-ออกของบัญชีที่โดนยักยอกไว้เป็นหลักฐาน
- แจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อนำใบบันทึกประจำวันจาก สน.
- ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ธนาคารพร้อมยื่นหลักฐาน
- ติดต่อธนาคารพร้อมแสดงหลักฐานถูกยักยอกและใบแจ้งความเพื่อให้มีน้ำหนักในการยกเลิก
วิธียกเลิกการผูกบัตรกับ Shopee
ผู้ใช้งานในกลุ่มพบว่าผู้เสียหายบางส่วนสันนิษฐานว่าถูกดูดข้อมูลการเงินผ่านการผูกบัตรไว้กับแอปพลิเคชันซื้อของอย่าง shopee ผู้เสียหายสามารถยกเลิกการผูกบัตรกับแอปฯ ดังกล่าว ดังนี้
- โหลดแอปฯ Shopeepay (ไม่สามารยกเลิกบัตรได้ผ่านแอพ Shopee ธรรมดา)
- เข้าไปที่หน้าแรก > วอลเลต
- กดที่บัตรที่ต้องการผูกบัญชีแล้วกดยกดลิกได้ทันที
วิธีการติดต่อกับ Facebook กรณีถูกยักยอกไปจ่ายค่าโฆษณา
นอกจากนี้ผู้เสียหายอีกส่วนพบว่าโดนยักยอกเงินผ่านบัตรธุรกรรมที่ผูกไว้กับเฟซบุ๊กเพื่อจ่ายหนีโฆษณาเช่นเดียวกัน สำหรับผู้เสียหายที่โดนกรณีดังกล่าวสามารถติดต่อกับเฟซบุ๊กเพื่อขอเงินคืนได้ ดังนี้
- ช่องค้นหาบนเฟซบุ๊กกดค้นหา Facebook pay
- กดเข้าไปที่ Facebook pay
- หน้าเมนูเลือก ความช่วยเหลือ > ติดต่อเรา > อีเมลถึงเรา
- กดคำว่า แจ้งปัญหา เลือก : โฆษณา > ฉันมีคำถามเกี่ยวกับการชำระเงิน > ฉันไม่ได้อนุญาตการชำระเงินนี้
- กรอกข้อมูลตามที่เฟซบุ๊กระบุเพื่อเป็นหลักฐานในการขอเงินคืน
ทั้งนี้ ในขณะทำการตรวจสอบและติดต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าของบัญชีควรย้ายเงินที่เหลือไปยังบัญชีที่ปลอดภัยหรือถอนเงินจากบัญชีไว้ก่อนเพื่อป้องกันเงินรั่วไหลเพิ่มเติมจนกว่าจะดำเนินการสำเร็จ