กบง. เคาะมาตรการตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เปิดช่องลดภาษีน้ำมัน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้ต้นทุนราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลในประเทศสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ที่ประชุม กบง.จึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ กบง.เห็นชอบ 2 แนวทางหลังจากมาตรการเดิมจะสิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือน ต.ค. 64 นี้ โดยแนวทางที่ 1.ให้ผู้ค้าน้ำมันกลับมาจำหน่ายน้ำมันกลุ่มดีเซลเป็น 3 ชนิดเหมือนเดิม คือ ดีเซลธรรมดา, ดีเซล B7 และ ดีเซล B20 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 เป็นต้นไป และ 2.ให้ตรึงราคากลุ่มดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะดูแลราคาได้ 3-5 เดือนจากนี้ หากราคาน้ำมันดิบโลกไม่สูงเกิน 85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นมาอยู่ระดับ 81-83 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า มติของ กบง.กำหนดให้มีน้ำมันกลุ่มดีเซล 3 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7, น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 พร้อมทั้งให้กำหนดส่วนต่างราคาดีเซล บี7 กับน้ำมันดีเซลธรรมดา ที่ 0.15 บาทต่อลิตร และส่วนต่างราคาดีเซล บี7 กับ บี20 ที่ 0.25 บาทต่อลิตร โดยยังคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
พร้อมทั้ง เห็นชอบแนวทางดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ณ วันที่ 17 ต.ค.64 มีฐานะกองทุนฯ อยู่ที่ 9,207 ล้านบาท) ในการรักษาระดับราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงกู้ยืมเงินเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซล
ทั้งนี้ หากในกรณีราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 87.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือสถานะกองทุนน้ำมันฯ ไม่เพียงพอ ก็จะประสานกระทรวงการคลังเพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นลำดับต่อไป
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กบง.ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. … มอบสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) นำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลให้ส่วนต่างราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลเป็นไปตามกำหนด
และมอบหมาย สนพ. ประสาน สกนช. นำเสนอ กบน.ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุน เพื่อให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลแต่ละชนิด ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการเตรียมเปิดประเทศในหลายประเทศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ วิกฤตการด้านก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ทั้งด้านน้ำมัน ด้านก๊าซปิโตรเลียวเหลว ด้านไฟฟ้า ให้ได้รับความเป็นธรรม เหมาะสมต่อไป
ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถบรรทุกที่ต้องการให้ราคาดีเซลลดลงเหลือไม่เกิน 25 บาท/ลิตรนั้น ทางกระทรวงพลังงานไม่สามารถรับปากได้ และ กบง.เลือกที่จะช่วยโดยดูระบบเศรษฐกิจภาพรวมเป็นหลัก ขณะที่ความเดือดร้อนอื่นๆ ก็จะหามาตรการอื่นๆเสริมต่อไป
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าไม่สามารถจับทิศทางราคาน้ำมันโลกได้ และมีการผันผวนขึ้นและลงบ่อยครั้งในช่วงนี้ แต่ กบง.คาดว่าราคาน้ำมันโลกจะทยอยอ่อนตัวลง เนื่องจากสภาพอากาศหนาวน้อยลง และยืนยันว่ารัฐบาลพยายามดูแลราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อช่วงเหลือประชาชนต่อไป
แต่ขณะเดียวกันก็ขอส่งสัญญาณไปถึงประชาชนให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน เนื่องจากขณะนี้ก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ และได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้แล้ว 20% ของความต้องการทั้งหมด และมีแนวโน้มที่ต้องนำเข้าถึง 30% ในอนาคต จากเดิมที่ไทยมีแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย แต่ปัจจุบันปริมาณลดลงตามอายุการใช้งานกว่า 30 ปี ขณะที่ราคาก๊าซ LNG กลับสูงขึ้นมากถึง 35-38 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งจะมีผลกระทบต่อค่าไฟโดยรวม แต่ขณะนี้กระทรวงพลังงานยังดูแลและตรึงค่าไฟไว้ ดังนั้นจึงขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน
พร้อมกันนี้ กบง.ยืนยันดูแลราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่ราคา 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมต่อไปอย่างน้อยจนถึง ม.ค.65 แม้ราคา LPG โลกจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันก็ตาม
นายกุลิส สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เตรียมหารือผู้ประกอบการน้ำมันในวันที่ 20 ต.ค.64 นี้หลังการประชุม กบง. เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมามากเกินไป โดยจะขอความร่วมมือให้ดูแลค่าการตลาดไว้ระดับเดิมที่ 1.40 บาทต่อลิตรต่อไปก่อน พร้อมกันนี้จะเริ่มกระบวนการกู้เงินเข้ากองทุนน้ำมันฯไม่เกิน 20,000 ล้านบาท โดยเตรียมประสานกระทรวงการคลังเพื่อบรรจุการกู้เงินไว้ในแผนการก่อหนี้สาธารณะก่อน