ลดหย่อนภาษีปี 2564 เช็คเลยมีรายการอะไรบ้าง ก่อนคำนวณยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เตรียมยื่นภาษีปี 2564 เช็ครายการลดหย่อนภาษี ตัวช่วยดีๆ ที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้
เป็นประจำทุกปีที่ผู้มีรายได้จะต้องเตรียมวางแผน และคำนวณค่าใช้จ่ายบางรายการเพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษี และคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เพราะนอกจากจะช่วยให้จ่ายภาษีน้อยลง หรือได้เงินคืนภาษีกลับมาแล้ว ยังจะสามารถนำเงินดังกล่าวได้ทำอย่างอื่นได้ ซึ่งรายการลดหย่อนภาษีในปี 2564 จะมีอะไรบ้าง ไปเช็คลิสต์พร้อมๆ กันเลย
- วิธียื่นภาษีปี 2564 ออนไลน์ด้วยตนเอง ฉบับละเอียด (มีภาพ)
- ตรวจสอบด่วน! ขอคืนภาษี แต่ยังไม่ได้เงิน เช็คที่นี่
รายการลดหย่อนภาษีปี 2564 มีอะไรบ้าง?
กลุ่มลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
- ลดหย่อนส่วนบุคคล จำนวน 60,000 บาท
- ลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ จำนวน 60,000 บาท สำหรับสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรส และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้
- ลดหย่อนบุตร จำนวน 30,000 บาทต่อคน ต้องเป็นบุตรตามกฎหมาย และบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี หรือ 25 ปีซึ่งอยู่ระหว่างการเรียน ในกรณีที่มีลูก 2 คนขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท
- ลดหย่อนค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตร หักค่าใช้จ่ายตามจริงสูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท ต้องใช้เอกสารใบรับรองแพทย์และใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาล
- ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา จำนวนคนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 4 คน โดยจะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท
- ลดหย่อนค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท ซึ่งผู้ลดหย่อนภาษีต้องเป็นผู้ดูแลที่ระบุในบัตรคนพิการเท่านั้น
กลุ่มลดหย่อนภาษี กลุ่มประกันชีวิต-การลงทุน
- เบี้ยประกันชีวิต ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท ประกันสุขภาพโควิด-19 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ได้เช่นกัน (เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท)
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี (บิดามารดา ต้องมีรายได้ทั้งปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท และเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย)
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ* ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund) * หรือกองทุนรวม SSF ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) * ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ* ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) * ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน* ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) * ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท
- ประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท
*เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน และ กอช.รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กลุ่มลดหย่อนภาษี กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ดอกเบี้ย เงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตัวเองหรือบนที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรืออาคาร หรือคอนโดมิเนียม โดยเราต้องอยู่อาศัยด้วย เว้นแต่ มีเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัย
- เป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐต่าง ๆ โดยทรัพย์สินที่กู้ต้องใช้มาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) ด้วย
- หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
กลุ่มลดหย่อนภาษี กลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคพรรคการเมือง ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ได้ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน เป็นการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ให้แก่วัดวาอาราม มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล สถานสงเคราะห์ ฯลฯ