ผ่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยภาคอีสานใหญ่ขนาดไหน

ผ่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยภาคอีสานใหญ่ขนาดไหน

ผ่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยภาคอีสานใหญ่ขนาดไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้หรือไม่จำนวนประชากรภาคไหนมีมากที่สุดในไทย คำตอบคือ "ภาคอีสาน" แล้วจริงหรือเปล่าที่คนอีสานส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรมเช่นในอดีต อยากรู้มั้ย? โครงสร้างเศรษฐกิจภาคอีสานในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง คนอีสานมีรายได้ต่อหัวตกปีละเท่าไหร่ Sanook Money มีข้อมูลดีๆ มาฝากกัน

154635

ภาคอีสานมีพื้นที่ 168,854 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ มีเนื้อที่เกษตร 58% และเนื้อที่ป่า 12% ที่สำคัญเป็นภาคหนึ่งที่มีจำนวนประชาชนมากที่สุดในประเทศถึง 21 ล้านคน โดยเป็นกลุ่มแรงงาน 9.6 ล้านคน ทำงานอยู่ในภาคเกษตร 5.8 ล้านคน อยู่นอกภาคเกษตร 4 ล้านคน

ส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยของภาคอีสานจากการทำเกษตรกรรมก็เปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรมากขึ้น โดยมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ภาค (GRP) จำแนกตามสาขาเศรษฐกิจ พบว่าภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 21%, ภาคเกษตรกรรม 19, อื่นๆ 15%, การค้า 14%, การศึกษา 13%, การเงินและการประกันภัย 8%, บริหารราชการ 6% และก่อสร้าง 4%

grp

ในปี 2562 มูลค่าผลิตภัณฑ์รวมภาคอีสานเท่ากับ 1.6 ล้านล้านบาท ในขณะที่ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท แม้ภาคอีสานจะมีพื้นที่ใหญ่และจำนวนประชากรเยอะ แต่ผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัว (GRP) ปี 2562 เท่ากับ 86,171 บาทต่อปี ถือว่าต่ำสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ในขณะที่ GDP ต่อหัวทั้งประเทศเท่ากับ 243,787 บาทต่อคนต่อปี ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือภาคอีสานคือมีรายได้ค่อนข้างกระจุกตัว ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP) เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดเท่ากับ 124,729 บาทต่อปี, นครราชสีมา มี GPP เฉลี่ยต่อหัวสูงสุดเท่ากับ 121,068 บาทต่อปี และจังหวัดเลย มี GPP เฉลี่ยต่อหัวสูงสุดเท่ากับ 101,527 บาทต่อปี และถ้าไปดูสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอีสาน พบว่า จังหวัดนครราชสีมา อยู่ที่ 19.05%, ขอนแก่น อยู่ที่ 13.41%, อุบลราชธานี อยู่ที่ 7.9% และอุดรธานี อยู่ที่ 7.14%

สะท้อนให้เห็นว่าความเจริญที่กระจุกตัวนั้น ทำให้กลุ่มแรงงานต้องเดินทางหรือเคลื่อนย้ายไปทำงานใน 4 จังหวัดที่มีมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน บางคนตัดสินใจหาโอกาสให้กับชีวิตตนเองด้วยการเลือกเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็มี

เมื่อเอ่ยถึงภาคอีสานการทำเกษตรกรรมก็ยังถือเป็นแหล่งพึ่งพิงรายได้ของชาวอีสานเช่นกัน โดยสินค้าเกษตรสำคัญของภาคอีสานในปี 62 พบว่า อ้อยโรงงานผลิตมากเป็นอันดับ 1 ถึง 30.5 ล้านตัน มูลค่าผลผลิต 23,358 ล้านบาท, มันสำปะหลังผลิต 16.2 ล้านตัน มูลค่าผลผลิต 29,256 ล้านบาท, ข้าวนาปีผลิต 12.0 ล้านตัน มูลค่าผลผลิต 161,274 ล้านบาท และยางผลิต 1.10 ล้านตัน มูลค่าการผลิตรวมอื่นๆ 48,074 ล้านบาท

ภาคอีสานก็ยังเป็นหนึ่งจุดสำคัญที่ภาครัฐรวมถึงภาคเอกชนให้ความสำคัญและส่งเสริมเศรษฐกิจในอีสานทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การค้าการลงทุนตามชายแดน เพราะข้อได้เปรียบของภาคอีสานที่นอกจากจะมีจำนวนประชากรและพื้นที่ใหญ่แล้ว ภาคอีสานยังเป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ และภูมิภาคทั่วโลกได้ด้วย หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเศรษฐกิจภาคอีสานจะเป็นอย่างไร และถ้าเศรษฐกิจภาคอีสานมีสัญญาณบวกที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยหนุนให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งได้ทางใดทางหนึ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook