"หลิน-หลงลับแล"ทุเรียนไฮโซ ยอดขายกระฉูด

"หลิน-หลงลับแล"ทุเรียนไฮโซ ยอดขายกระฉูด

"หลิน-หลงลับแล"ทุเรียนไฮโซ ยอดขายกระฉูด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลไม้เศรษฐกิจแห่งเมืองลับแล ทุเรียน "หลิน-หลงลับแล" ขึ้นชื่อว่า เป็นผลไม้ที่หากินยากและมีราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะ "หลินลับแล"

หากได้ขึ้นไปวางตามห้างสรรพสินค้า สนนราคาไม่ต่ำกว่าลูกละ 1,800 บาท ซึ่งทุเรียนทั้งสองพันธุ์นี้ ได้สร้างรายได้ให้กับชาวสวนและจังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาทต่อปี

ด้วยลักษณะและจุดเด่นของทุเรียนหลงลับแล เป็นทุเรียนที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ขนาดไม่โตมาก มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ผลทรงกลมรี ร่องพูไม่ชัดเจน มีเปลือกบาง เนื้อสีเหลืองค่อนข้างจัด ละเอียดเหนียว กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน อีกทั้งมีลักษณะเด่น อีกอย่างคือ เนื้อแน่น เมล็ดเล็กลีบ

ลักษณะเด่นของ "หลินลับแล" มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ คือมีผลเล็ก น้ำหนัก 1.1-1.8 กิโลกรัม ผลทรงกระบอก ฐานผลเว้าลึก ปลายผลตัด ก้านผลมีขนาดเล็ก หนามผลโค้งแหลมคม เปลือกผลสีเขียวอมเหลือง เนื้อละเอียดมาก สีเหลืองอ่อน รสชาติ หวานมัน กลิ่นอ่อน โดยทั้งหลงและหลินลับแล โดยธรรมชาติ จะออกผลในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี

ณัฐพล โสภณปิยวัฒน์ หนึ่งในเกษตรกรชาวสวนทุเรียนหลงลับแล แห่งเมืองอุตรดิตถ์ที่ปลูกทุเรียนหลินลับแลมาหลายสิบปี เล่าว่าเมื่อก่อนล้มลุกคลุกคลาน และได้รับผลกระทบหลายๆ ด้าน จนต้องให้สภาเกษตรกรเข้ามากำกับดูแลและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลบำรุงดิน การแต่งกิ่ง ช่อ และดอกของทุเรียน เพราะทุเรียนต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี ถึงจะได้ผลผลิต ซึ่งต้องใช้เวลาอดทนในการเฝ้ารอผลผลิต หากไม่ได้ใส่ใจตั้งแต่เริ่มแรกปลูกอาจจะได้ผลผลิตที่ไม่ดี บางปีน้ำมีไม่เพียงพอ และเมื่อสภาเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสวนอย่างถูกต้อง จะเห็นความแตกต่างของสวนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

ขณะที่ ฟื้น โชวันดี สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ และปราชญ์ชาวบ้าน ได้พูดถึงการปลูกทุเรียนพันธุ์หลงลับแล แห่งเมืองอุตรดิตถ์ ว่าสมัยก่อนการปลูกทุเรียนทำแบบชาวบ้าน พอสภาเกษตรกรฯร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิษณุโลก และได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องดิน ว่ามีความเป็นกรดเป็นด่างอย่างไร ปรากฏว่าได้ผล การตกแต่งกิ่ง สมัยก่อนลูกทุเรียนจะออกปลายกิ่ง กลับกลายว่าลูกทุเรียนที่ออกมาจะออกโคน ได้จำนวนลูกที่ออกมามากกว่า เป็นลูกที่ได้คุณภาพ สมบูรณ์ขึ้น เหมาะสมกับตลาดทำให้ได้ราคาที่ดี เกษตรกรก็มีรายได้เพิ่มขึ้น

"ใครที่อยากรับประทานทุเรียนสองพันธุ์นี้ สามารถเข้ามาในตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จะมีตลาดกลางส่งผลไม้ ที่ตลาดเทศบาลตำบลหัวดง ซึ่งในช่วงเวลานี้ หลงลับแลราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-120 บาท ส่วนหลินลับแลราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 220-250 บาท ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับคุณภาพ และจำนวนผลผลิตของชาวสวนในแต่ละวันแต่ถ้า ส่งไปขายตามห้างสรรพสินค้า จะมีการบวกราคาขึ้นอีกหลายเท่าตัว อย่างเช่นที่สยามพารากอน หลินลับแลจะขายอยู่ที่ 1,800 บาทต่อลูก" ปราชญ์ชาวบ้านบอก

ด้าน จรูญ ปัญญายงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล เล่าว่า ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล เป็นทุเรียนพื้นบ้านชนิดเดียว ในประเทศไทยที่มีการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยตัวของมันเอง โดยมีคุณสมบัติเด่นคือ กลิ่นไม่แรง เปลือก บาง มีเม็ดตายเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เนื้อทุเรียนมีความละเอียด นุ่ม หอมมัน ไม่หวาน มากเกินไป จัดเป็นทุเรียนรสชาติดีที่หารับประทานยาก เพราะจะปลูกและให้ผลผลิตดี ในเขตตำบลแม่พูล

อย่างไรก็ตาม ก็มีเกษตรกรบางรายได้เร่งตัดผลผลิตออกจำหน่ายในช่วงต้นฤดู เพื่อหวังได้ราคาดีทั้งที่ทุเรียนยังไม่แก่จัด ส่งผลกระทบถึงชื่อเสียงทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านโบราณพันธุ์นี้ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ทาง อบต.แม่พูลจึงสนับสนุนให้ชมรมชาวสวนขายทุเรียนผ่านเฟซบุ๊ก ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทันสมัย เพื่อจะได้ให้ผู้บริโภคที่ต้องการรับประทาน แต่ไม่มีโอกาสเดินทางมาตำบลแม่พูล ติดต่อกับเจ้าของสวนได้โดยตรง โดยใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า "หลงลับแล" ซึ่งในแต่ละวันจะรายงานราคาทุเรียนที่ขึ้นลงให้ทราบตามปริมาณผลผลิต

ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทางสภาเกษตรกร จึงมีแนวคิดว่า ทำไมเราต้องไปดู หรือตรวจสอบทุกสวน เนื่องจากเราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะนับวันทุเรียนลับแลนั้นหายาก หากไม่ดูแลหรือแก้ไขให้ถูกจุด วันข้างหน้าอาจจะไม่มีทุเรียนลับแลหลงเหลืออยู่ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนเองก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น อยากจะอนุรักษ์และปลูกทุเรียนหลงลับแลเอาไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานไว้ดูและมีการขยายพันธุ์ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่เมืองอุตรดิตถ์ไปอีกนาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook