4แบงก์เจ้าหนี้ขีดเส้นตาย"สหฟาร์ม" จี้ฟื้นฟูหาผู้ร่วมทุนตัดขายทรัพย์สิน
สหฟาร์มเผชิญภาวะขาดสภาพคล่องหนัก หนี้สินท่วม 14,000 ล้านบาท ด้าน 4 ธนาคารเจ้าหนี้ประชุมหารือร่วม ยื่นเงื่อนไข 3 ข้อให้สหฟาร์มเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ แลกการปล่อยเงินกู้งวดใหม่ 2,100 ล้านบาท ซัพพลายเออร์ขีดเส้นตายให้เวลาอีก 5 สัปดาห์
บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเนื้อไก่และไก่แปรรูปรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งมี นายแพทย์ปัญญา โชติเทวัญ เป็นประธานบริหารเครือสหฟาร์ม กำลังประสบปัญหาการดำเนินการอย่างหนัก จากปัญหาหนี้สินกับสถาบันการเงิน ติดหนี้ซัพพลายเออร์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ มีมูลหนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
จนกระทั่งบริษัทขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ รวมถึงการจ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้กับพนักงานล่าช้า สุดท้ายถึงขั้นประกาศปิดโรงเชือดไก่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กำลังการผลิตประมาณ 600,000 ตัว/วัน ขณะที่โรงเชือดไก่ที่ จ.ลพบุรี ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 400,000 ตัว/วัน ก็ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ไปบางส่วน
แหล่งข่าวจากสหฟาร์มยอมรับกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทกำลังขาดสภาพคล่องและได้แจ้งให้กับพนักงานของบริษัททราบถึงสถานการณ์ของบริษัทแล้วโดยขณะนี้ทางกลุ่มผู้บริหารบริษัทสหฟาร์มกำลังเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ ในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคับประคองกิจการให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยบริษัทมีหนี้สินทั้งหมด 14,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารธนชาติ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) หนี้ทั้งหมดเข้าเกณฑ์ที่จะเป็นหนี้เสียแล้ว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบงบการเงินล่าสุดของบริษัทสหฟาร์ม ที่แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 ปรากฏบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นจำนวน 6,309.50 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวมเป็นจำนวนเงิน 3,291.75 ล้านบาท มีผลประกอบการขาดทุนเป็นจำนวนเงิน 1,465.12 ล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนทางการเงินแสดงถึงปัญหาในทางลบและผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ยืมและเจ้าหนี้ในระหว่างปี 2555 และได้มีการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ใหม่กับธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่งในเดือนธันวาคม 2555ผลประกอบการขาดทุน 1,465.12 ล้านบาท
ส่วน บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส ซึ่งเป็นบริษัทลูก มีผลการดำเนินงานขาดทุนเป็นจำนวน 1,882.98 ล้านบาท มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวนเงิน 4,927.37 ล้านบาท มีหนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวม 1,716.59 ล้านบาท และบริษัทไม่จ่ายชำระคืนเงินต้นกับธนาคาร แต่ได้ยอมทำบันทึกตกลงสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน 2 แห่งเช่นกัน
ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กล่าวว่า ได้มีการเจรจาในฝั่งเจ้าหนี้ทั้งหมด ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารไทยพาณิชย์ และไอแบงก์ เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับแผนอนุมัติวงเงินกู้ให้กับบริษัท สหฟาร์ม จำนวน 2,100 ล้านบาท เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก 18 เดือนข้างหน้า หลังเกิดปัญหาโรงงานไฟไหม้
โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทสหฟาร์มจะต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ 3 ด้าน ดังนี้ 1) ต้องหาผู้ร่วมทุนใหม่ 2) ปรับโครงสร้างธุรกิจ ยกเลิกการทำธุรกิจแบบครอบครัว 3) การลดกำลังการผลิตและนำที่ดินหรือทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขายออกไป เพื่อนำมาเพิ่มในส่วนของทุนของบริษัท เนื่องจากเจ้าหนี้ทุกรายมีเงื่อนไขก่อนอนุมัติเงินกู้ว่า ทางบริษัทสหฟาร์มจะต้องแสดงให้เห็นว่าจะมีเงินทุนเพิ่มขึ้น หลังจากดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว
นอกจากการเจรจากับสถาบันทางการเงินแล้ว บริษัทยังเปิดการเจรจากับซัพพลายเออร์ผู้ส่งไก่ ขอการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไป โดยการเจรจาล่าสุด กลุ่มซัพพลายเออร์ตกลงจะสนับสนุนทางการเงินให้บริษัทสหฟาร์มต่อไปอีกแค่ 5 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากนั้นยังไม่สามารถบอกได้ว่า กลุ่มซัพพลายเออร์จะหยุดให้การสนับสนุนหรือไม่
แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์กล่าวถึงปัญหาของบริษัทสหฟาร์มว่า บริษัทติดหนี้ซื้อขายพันธุ์ไก่ปู่ย่า (GP) จากต่างประเทศ, บริษัทขายวัตถุดิบที่นำไปทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง, ซัพพลายเออร์ที่ขายผลิตภัณฑ์ยาสัตว์, ซัพพลายเออร์ที่ขายวัตถุดิบให้โรงงานแปรรูปไก่ เช่น แป้งทอดไก่ รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ประกันให้บริษัท โดยมีมูลหนี้ต่ำสุดตั้งแต่ 1 ล้านบาท จนถึงสูงสุดหลัก 100 ล้านบาท ล่าสุดมีซัพพลายเออร์หลายรายเริ่มทยอยเป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก โดยมีบริษัท สหฟาร์ม จำกัด กับบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด บริษัทลูกในเครือสหฟาร์ม ตกเป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
"เท่าที่ทราบ สหฟาร์มติดหนี้ค่าพันธุ์ไก่บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ มูลค่าประมาณเฉียด 100 ล้านบาท เป็นหนี้คนขายวัตถุดิบข้าวโพด มีตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท หนี้บริษัทขายยา ระดับตั้งแต่ 20-100 ล้านบาท ขณะนี้ติดหนี้เกษตรกรที่เลี้ยงไก่ประกันให้ ตั้งแต่ระดับ 1-3 ล้านบาท โดยบริษัทจะมาจับไก่ไปขาย แต่ไม่ได้จ่ายเงินค่าเลี้ยงไก่ให้เกษตรกร" แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนสาเหตุหลักที่บริษัทสหฟาร์มมีหนี้สินมากกว่า 14,000 ล้านบาทในขณะนี้ วงการปศุสัตว์กล่าวว่า เป็นเพราะบริษัทมีการขยายงานเกินตัว และใช้เงินกู้ธนาคารเกือบ 100% ขณะที่ผลกำไรที่เคยมีในอดีตถูกนำไปลงทุนซื้อขายที่ดิน โดยในปี 2553 ในช่วงที่ราคาไก่ปรับสูงขึ้น บริษัทสหฟาร์มได้ขยายกำลังการผลิตมากกว่า 1 เท่าตัว
โดยนายแพทย์ปัญญา โชติเทวัญ ประธานคณะกรรมการบริษัทสหฟาร์ม กล่าวในขณะนั้นว่า บริษัทมีแผนการลงทุนมูลค่า 10,000 ล้านบาทต่อสาธารณชน เพื่อขยายกำลังการผลิตเนื้อไก่เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว พร้อมสร้างโรงงานใหม่ 2 แห่ง ที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดเพชรบูรณ์ และยังขยายกำลังการผลิตโรงงานไส้กรอก ที่จังหวัดเพชรบุรี เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ตัน/เดือน จากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,000 ตัน/เดือน เพื่อสบทบกับกำลังการผลิตเนื้อไก่ใน 2 โรงงานเดิมที่มีกำลังการผลิตโดยรวมอยู่ที่ 8,000 ตัน/เดือน
"ก่อนเกิดไข้หวัดนกปลายปี 2546 ประมาณกันในวงการค้าไก่ว่า สหฟาร์มผลิตไก่ได้ 400,000 ตัว/วัน แต่หลังเกิดไข้หวัดนก กำลังการผลิตลดลงเหลือประมาณ 200,000 ตัว/วัน ซึ่งทุกบริษัทลดกำลังการผลิต เหมือนกันหมด เมื่อไทยพ้นจากการระบาดของไข้หวัดนก ปรากฏกำลังการผลิตไก่ทั้งระบบหายไปมาก จนทำให้ราคาไก่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจนมาสูงสุดช่วงปี 2553 ต่อเนื่อง 2554 ทำให้ทุกบริษัทขยายกำลังการผลิตกันหมด" แหล่งข่าวกล่าว
ในช่วงนั้น ทางบริษัทสหฟาร์มก็ขยายกำลังการผลิตมากที่สุด และประกาศจะขึ้นเป็นผู้ส่งออกไก่อันดับหนึ่งของประเทศ โดยมีเป้าหมายจะเชือดไก่ให้ได้ถึง 1 ล้านตัว/วัน การที่ทุกบริษัทขยายกำลังผลิต ส่งผลกระทบให้ปริมาณไก่ทั้งระบบพุ่งขึ้นไปเกือบ 27 ล้านตัว/สัปดาห์ ซึ่งถือว่า "เกินกว่าความต้องการ" และทุกบริษัทไม่สามารถส่งออกไก่ได้ทั้งตัว โดยเฉพาะเหลือส่วนของเครื่องในมาดัมพ์ราคาขายตลาดภายในประเทศจนขาดทุนไปตาม ๆ กัน ทำให้ราคาลูกไก่ ราคาขายไก่เนื้อ เครื่องในปรับลงหมด ขาดทุนกันถ้วนหน้า เป็นที่มาของปัญหา ทำให้บริษัทสหฟาร์มขาดสภาพคล่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2555 เป็นต้นมา
มีรายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีเข้ามาว่าว จังหวัดได้มีการหารือร่วมกับหน่วยราชการ อาทิ แรงงานจังหวัด เพื่อเตรียมแผนรองรับกรณีการเลิกจ้างของบริษัทสหฟาร์ม ด้วยการประสานกับเครือข่ายในจังหวัดลพบุรีที่ต้องการแรงงาน อาทิ บริษัทเบทาโก บริษัทมินีแบ สามารถจะรับแรงงานได้โรงละประมาณ 200 คน และส่วนแรงงานที่เหลืออีก 2,000 คน ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี ได้ประสานไปยัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจะกระจายแรงงานไปยังโรงงานเครือข่าย