"สหฟาร์ม"หนี้ทะลัก3หมื่นล้าน ประกันแหยงแจ้งเลิกคุ้มครอง

"สหฟาร์ม"หนี้ทะลัก3หมื่นล้าน ประกันแหยงแจ้งเลิกคุ้มครอง

"สหฟาร์ม"หนี้ทะลัก3หมื่นล้าน ประกันแหยงแจ้งเลิกคุ้มครอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วงในชี้ "สหฟาร์ม" ร่อแร่ตั้งแต่ปี 2555 หนี้ทะลัก 3 หมื่นล้าน ขณะที่บริษัทประกันแหยง "สหฟาร์ม" ค้างค่าเบี้ย ร่อน จ.ม.ยกเลิกคุ้มครอง ผู้ส่งออกไก่จ้องชิงตลาด "รัสเซีย-แอฟริกาใต้" ที่สหฟาร์มส่งออกรายใหญ่กว่าแสนตัน


ผู้ส่งออกเล็งเสียบ สหฟาร์ม

แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประกาศปิด 2 โรงเชือดไก่ของบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเนื้อไก่และไก่แปรรูป ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ ที่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 600,000 ตัวต่อวัน และโรงเชือดที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังการผลิตประมาณ 400,000 ตัวต่อวัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดปัญหาภาระหนี้สินล้นพ้นตัวจากการขยายกำลังการผลิตเกินตัว ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกในแวดวงธุรกิจ เนื่องจากหนี้ค้างจ่ายธนาคารพาณิชย์ ซัพพลายเออร์ที่ขายวัตถุดิบ ขายพันธุ์ไก่ เกษตรกรที่ทำไก่ประกัน รวมถึงการค้างค่าจ้างพนักงานกว่า 10,000 คน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้ทุกคนไม่มีเงินจ่ายชำระหนี้ธนาคารเจ้าหนี้เช่นกัน

ขณะนี้ในวงการผู้ส่งออกกำลังติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของสหฟาร์มอย่างใกล้ชิด ว่าจะใส่เม็ดเงินให้สามารถกลับมาผลิตไก่ส่งออกได้เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะหากโรงเชือด 2 แห่งไม่สามารถกลับมาผลิตได้ บริษัทอื่นพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตทดแทน โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดรัสเซียและตลาดแอฟริกาใต้ ซึ่งปีที่ผ่านมา

บริษัทสหฟาร์มมียอดรวมการส่งออกเฉลี่ยประมาณ 100,000 ตันต่อปี หรือประมาณ 20% จากยอดการส่งออกรวมทั้งระบบปี 2555 ประมาณ 552,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท


ออกอาการตั้งแต่ปี 2555

"สหฟาร์มออกอาการซวนเซตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 มาถึงช่วงต้นปี 2556 ทางสหฟาร์มเริ่มไม่มีสินค้าส่งออกให้ลูกค้าได้ตามจำนวน ทำให้ลูกค้าต่างประเทศบางรายต้องไปหาซื้อเนื้อไก่จากผู้ส่งออกรายอื่นทดแทนส่วนที่ขาดไป แต่หากสหฟาร์มไม่สามารถเปิดโรงเชือด 2 แห่งต่อไปได้ บริษัทใหญ่ ๆ ในวงการพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันที เพราะส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตเพียงพอที่จะทำได้ และปีนี้ตลาดหลักอย่างยุโรปและอีกหลายประเทศ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ได้เริ่มอนุญาตให้ไทยนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังประเทศไทยปลอดจากโรคไข้หวัดนกมาเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน รวมถึงตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นที่ได้มาตรวจสอบระบบไปเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา ทุกคนคาดหวังว่าญี่ปุ่นจะอนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งได้ภายในปีนี้"

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยเปิดเผยตัวเลขการส่งออกเนื้อไก่และไก่แปรรูปช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 (มกราคม-พฤษภาคม) ประเทศไทยมียอดการส่งออกไก่เพิ่มขึ้นประมาณ 4.7% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นตลาดยุโรปประมาณ 108,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,300 ล้านบาท และตลาดญี่ปุ่นประมาณ 81,600 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทั้งปีทางสมาคมผู้ผลิตไก่วางเป้าหมายว่า ยอดการส่งออกไก่ปี 2556 คาดว่าจะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากยอดรวมการส่งออกไก่ทั้งระบบปี 2555 ประมาณ 552,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท


หนี้ปูดกว่า 3 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธนาคารเริ่มรับรู้ปัญหาของบริษัทสหฟาร์มตั้งแต่ปลายปี"55 และเมื่อเดือน ม.ค. 56 สหฟาร์มมีการยื่นเรื่องถึงเจ้าหนี้รายใหญ่ของธนาคารทุกรายเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ จึงเริ่มเห็นปัญหาของสหฟาร์มเป็นรูปธรรมตั้งแต่นั้นมา โดยในการปรับโครงสร้างหนี้มีการตั้งที่ปรึกษาการเงิน 3 ราย ประกอบด้วยบริษัทกรุงไทยแอดไวซ์เซอร์รี่ จำกัด (KTBA) และบริษัทเพลินจิต แคปปิตอล จำกัด และบริษัท เอินส์ท แอนด์ ยัง จำกัด และเมื่อช่วงสิ้น มี.ค. 56 เจ้าหนี้ได้สรุปแผนการปรับโครงสร้างหนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า เจ้าหนี้ได้ยื่นข้อเสนอ 3 เงื่อนไขคือ การตัดขายสินทรัพย์ หรือที่ดินที่มีอยู่เพื่อนำมาเพิ่มทุน หรือหาพันธมิตรใหม่เพื่อเข้ามาเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่ง รวมถึงการยกเลิกระบบดูแลธุรกิจแบบครอบครัว โดยให้เวลาสหฟาร์มถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ว่าจะสามารถทำตามเงื่อนไขได้หรือไม่ ก่อนตกลงอนุมัติสินเชื่อรอบใหม่ 2,100 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินธุรกิจต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวออกมาว่า สหฟาร์มได้ปิดโรงงาน 2 แห่งนั้นก็คงต้องประเมินสถานการณ์กันใหม่

ทั้งนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดทำแผนปรับโครงสร้างหนี้ พบว่าสหฟาร์มมีมูลหนี้ทั้งหมดกว่า 30,000 ล้านบาท จากเจ้าหนี้ทั้งหมด 50 ราย เป็นหนี้สถาบันการเงินประมาณ 14,000 ล้านบาท มาจาก 8 สถาบันการเงิน รายใหญ่คือธนาคารกรุงไทย มูลหนี้ 6,900 ล้านบาท,ไอแบงก์ 1,600 ล้านบาท, ธนาคารไทยพาณิชย์ 1,000 ล้านบาท และธนาคารธนชาต 3,000 ล้านบาท

ส่วนอีก 4 แห่งมีมูลหนี้หลักร้อยล้าน ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, เอสเอ็มอีแบงก์, เอ็กซิมแบงก์ และธนาคารกรุงเทพ นอกจากนี้สหฟาร์มยังมีหนี้การค้าจากซัพพลายเออร์ต่าง ๆ อีกกว่าหมื่นล้านบาท


ไอแบงก์ชี้หลักทรัพย์ค้ำประกันคุ้ม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ไอแบงก์ปล่อยสินเชื่อให้กับสหฟาร์มเมื่อต้นปี"55 และได้มีการตั้งสำรองการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวแล้ว 100% ทั้งนี้ หากสหฟาร์มไม่สามารถชำระหนี้ได้จนทำให้กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ธนาคารเชื่อว่าจะไม่กระทบสถานะธนาคาร เนื่องจากสหฟาร์มได้นำที่ดินพร้อมโรงงานที่ลพบุรีมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งตีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับ เจ้าหนี้สถาบันการเงินอื่น ๆ ที่สหฟาร์มก็มีการนำสินทรัพย์ซึ่งเป็นทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปใช้ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อเช่นเดียวกัน รวมถึงกรณีบ้านสุขาวดีซึ่งมีกระแสข่าวว่า ทางสหฟาร์มเร่ขายเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง เท่าที่ทราบก็ติดจำนองอยู่กับธนาคารกรุงเทพ


เอสซีบี ไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่

นายอาทิตย์ นันทวิทยา รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ขอปฏิเสธและยืนยันว่า ธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปล่อยสินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือ

กลุ่มสหฟาร์มที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้น และปัจจุบันสหฟาร์มไม่ได้เป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารแต่อย่างใด หลังจากในอดีตเคยเป็นลูกค้าในช่วงหลายปีก่อน แต่เกิดกรณีการผิดชำระหนี้จนกลายเป็นหนี้เสียจึงนำไปสู่การตั้งสำรองของธนาคาร จึงไม่มีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มอีก โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของฝ่ายที่ดูแลเรื่องหนี้เสียแล้ว เข้าใจว่าเหลือน้อยมาก ไม่ถึงพันล้านบาท


เมืองไทยฯอ่วม รับประกันยกเครือ

ทั้งนี้ โรงงานของสหฟาร์มที่ จ.ลพบุรีนั้นได้ทำประกันภัยไว้กับหลายบริษัท โดยข้อมูลจากสำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แจ้งว่า มีโรงงานแปรรูปชิ้นส่วนไก่สด ซึ่งทำประกันไว้ในวงเงิน 171 ล้านบาท รับประกันภัยโดย บมจ.เมืองไทยประกันภัย ทุนประกัน 136.8 ล้านบาท และ บมจ.ประกันคุ้มภัย ทุนประกัน 34.2 ล้านบาท นอกจากนี้โรงงานและอาคารต่าง ๆ ในเครือสหฟาร์มนั้นข้อมูลจากสำนักงาน คปภ.ยังแจ้งว่า มี บมจ.เมืองไทยประกันภัย เป็นผู้รับประกันภัยรายใหญ่ที่สุดด้วยเช่นกัน

แม้ความคืบหน้าด้านคดีการวางเพลิงของโรงงานที่ลพบุรีจะอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นการวางเพลิงเพื่อเอาเงินประกันนั้น แหล่งข่าวจากบริษัทประกันวินาศภัยอธิบายว่า โดยหลักการแล้วบริษัทผู้รับประกันภัยก็ยังคงต้องคุ้มครองความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือถูกลอบวางเพลิงโดยบุคคลที่ 3 ก็ตาม เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการจงใจวางเพลิงเพื่อให้ได้เงินประกัน จึงจะไม่ต้องรับผิดชอบ


ประกันร่อน จ.ม.ยกเลิกคุ้มครอง

ด้านนายนที พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยศรีประกันภัย กล่าวว่า ทางบริษัทได้รับประกันภัยโรงงานของสหฟาร์มไว้ด้วยบางส่วน ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่ถูกไฟไหม้ หลังจากตรวจสอบรายละเอียดพบว่าทางผู้เอาประกันยังไม่ได้ชำระค่าเบี้ยประกันของปีนี้ ทั้งที่สัญญาความคุ้มครองได้เริ่มมาแล้วกว่า 180 วัน จากปกติที่จะต้องจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภายใน 60-90 วัน นับจากวันเริ่มต้นคุ้มครองตามสัญญา

"ล่าสุดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของบริษัททำหนังสือแจ้งขอยกเลิกความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยไปแล้ว เนื่องจากผู้เอาประกันภัยไม่ได้ชำระค่าเบี้ยประกัน ที่ผ่านมาถือว่าเรายังโชคดีที่ไม่ได้เกิดเหตุความเสียหายขึ้น ซึ่งปกติแล้วการรับประกันภัยธุรกิจรายใหญ่จะมีเงื่อนไขสัญญาซับซ้อนกว่ารายย่อย จึงยืดหยุ่นเรื่องระยะเวลาจ่ายเบี้ย แต่กรณีนี้ก็ถือว่ายืดหยุ่นมานานมากแล้ว" นายนทีกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook