วิธียื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเมื่อแพ้วัคซีนโควิด-19 สปสช. ย้ำจ่ายเฉพาะคนฉีดฟรีเท่านั้น

วิธียื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเมื่อแพ้วัคซีนโควิด-19 สปสช. ย้ำจ่ายเฉพาะคนฉีดฟรีเท่านั้น

วิธียื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเมื่อแพ้วัคซีนโควิด-19 สปสช. ย้ำจ่ายเฉพาะคนฉีดฟรีเท่านั้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สปสช. แจงจ่ายเงินช่วยเหลือผู้แพ้วัคซันโควิด-19 เฉพาะคนที่ฉีดฟรีเท่านั้น ส่วนวัคซีนทางเลือกที่โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินค่าฉีดไม่อยู่ในเกณฑ์ พร้อมเผยวิธียื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ประชาชนสัญชาติไทยทุกสิทธิการรักษาพยาบาลที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐ หรือวัคซีนที่หน่วยงานและองค์กรจัดหามาให้บริการโดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน หากเกิดความเสียหายขึ้น ประชาชนสามารถยื่นคำร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ แต่ไม่ใช่ทุกรายที่ยื่นเรื่องจะได้รับเงินช่วยเหลือ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งหากเข้าเกณฑ์ของ สปสช. ยืนยันว่าจะมีการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นให้ทุกกรณี ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกที่ทางโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้จัดหา ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งอยู่ในช่วงการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาที่ประชาชนจ่ายเงินซื้อไว้ ถือว่ามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับบริการ ดังนั้นในกรณีนี้ หากเกิดความเสียหายขึ้นจะไม่ครอบคลุมตามเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของ สปสช.

ส่วนกรณีของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และสภากาชาดไทย ที่ประกาศให้หน่วยงานหรือองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการทำเป็นสวัสดิการให้พนักงาน ซื้อวัคซีนโควิดจากราชวิทยาลัยฯ และสภากาชาดไทย โดยหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ซื้อไปต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรีโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน รวมถึงกรณีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และสภากาชาดไทยนำวัคซีนโควิดไปฉีดให้แก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย ดังนั้นหากผู้รับบริการเกิดปัญหาจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 นั่นหมายความว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือจากทาง สปสช. ตามเกณฑ์ แต่ถ้ามีหน่วยงานใดซื้อวัคซีนโควิด-19 จากราชวิทยาลัยฯ และสภากาชาดไทยแล้วไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน ตรงนี้ทาง สปสช. ก็จะไม่เกี่ยวข้อง

เลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า ในส่วนของวัคซีนซิโนฟาร์มที่มีประกันค่าเสียหายไว้นั้น ตรงนี้จะถือว่าเป็นคนละส่วนกันกับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของ สปสช. ฉะนั้นสมมติว่ามีผู้เสียชีวิตจากการรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ทาง สปสช. ก็จะต้องจ่ายในอัตราตามหลักเกณฑ์ เรายึดหลักว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อไหร่ หน่วยงาน องค์กร หรือสถานพยาบาลที่ผู้รับบริการไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ในกรณีได้รับความเสียหายหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด-19 ที่ภาครัฐจัดให้ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ คือ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย โดยสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.

สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330

ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ https://www.nhso.go.th/storage/files/841/001/nhso_VaccinCovid19.pdf

howto

วิธียื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19

  • กรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังจากรับวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง, สวัสดิการข้าราชการ, สวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ตามรายละเอียดต่อไปนี้ *สำหรับสิทธิประกันสังคมยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคม

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

  • ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหาย หรือทายาท
  • กรณีไม่มีทายาท ผู้อุปการะที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล หรือดูแลผู้รับบริการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานพอสมควร หรือหน่วยบริการที่ให้บริการสามารถยื่นคำร้องแทนได้

สถานที่ยื่นคำร้อง

  • โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19
  • สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตพื้นที่ (13 เขต ทั่วประเทศ)

ระยะเวลาในการยื่นคำร้อง

  • ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย

กระบวนการพิจารณา

  • ยื่นคำร้อง
  • คณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ สปสช. พิจารณาคำร้อง
  • ลงมติเห็นชอบที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือหรือไม่จำนวนเท่าใด
  • ในกรณีที่จ่าย สปสช. จะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วัน หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติ
  • กรณีไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

อัตราการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น

  • เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 400,000 บาท
  • เสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 240,000 บาท
  • บาดเจ็บ/บาดเจ็บต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook