จูน เซคิโน สถาปนิกผู้สร้างสรรค์งานบนความอดทน

จูน เซคิโน สถาปนิกผู้สร้างสรรค์งานบนความอดทน

จูน เซคิโน สถาปนิกผู้สร้างสรรค์งานบนความอดทน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวสูงขึ้น ก่อเกิดสิ่งก่อสร้างมากมายทั้งบ้านจัดสรร อาคารสูง และคอนโดหรู ซึ่งล้วนถูกออกแบบผ่านปลายปากกาหรือดินสอของเหล่าสถาปนิกชั้นนำมากมาย

บริษัท จูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์ จำกัด ถือเป็นหนึ่งในหลายๆ บริษัทที่ดำเนินกิจการด้านการออกแบบ ให้คำปรึกษา และพัฒนางานสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ แม้เป็นบริษัทขนาดเล็กที่ไม่ได้โด่งดังอะไรมากนัก แต่ผลงานการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ผ่านมาก็ไม่เป็นสองรองใคร โดยการบริหารงานของสถาปนิกหนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น "จูน เซคิโน"

ทิ้งฝันนักฟุตบอลอาชีพสู่งานสถาปนิก

จูน เซคิโน สถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรง ดีกรีปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต บอกเล่าถึงเรื่องราวที่นำมาสู่การทำงานด้านสถาปัตย์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจหลักจากผลงานของสถาปนิกระดับโลก ผลักดันให้เข้ามาโลดแล่นในวงการงานสถาปนิก
"จริง ๆ อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เพราะเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เล่นจนติดทีมเยาวชน มีโอกาสได้เดินทางไปแข่งฟุตบอลต่างประเทศบ่อยมาก ไปสวีเดน เดนมาร์ก เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ไม่ค่อยได้อยู่เมืองไทย ปีหนึ่งอยู่เมืองนอก 3-4 เดือน
จากการที่ได้เดินทางไปเมืองนอกบ่อย ๆ ทำให้ได้ไปเห็นอาคาร บ้านเมืองของเขา เช่น กรุงสต๊อกโฮล์ม โคเปนเฮเกน ลอนดอน จนเริ่มรู้สึกชอบงานสถาปัตยกรรมและค่อยๆ ซึมซับสิ่งเหล่านั้น

จุดเปลี่ยนจริงๆ คือ ผมได้ดูหนังสือสถาปัตยกรรมของ Tadao Ando และ Louis Kahn ทำให้เกิดความสนใจมากยิ่งขึ้น พอไปญี่ปุ่นได้เห็น The Charch of Light ผลงานชิ้นเอกของ Tadao Ando ยิ่งทำให้เข้าใจว่า การที่ใครสักคนจะสร้างงานสถาปัตยกรรมขึ้นมาสักชิ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว มันเป็นอะไรยากมาก

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่เรียนหนักมาก เรียกว่าหมกหมุ่นเลยก็ได้ ระหว่างเรียนทำงานไปด้วย ไปฝึกงานในออฟฟิตต่าง ๆ ทุกปี และใช้เวลาว่างหมกตัวอยู่กับรุ่นพี่เพื่อสั่งสมประสบการณ์และเรียนรู้วิชาต่าง ๆ จากรุ่นพี่ซึ่งช่วยได้เยอะมาก
เรียนจบมาเป็นช่วงที่ลำบากมาก เพราะเป็นขาลงทางเศรฐกิจ ตอนนั้นไม่เลือกงานเลย มีอะไรทำหมด พอดีได้งานที่บริษัทรุ่นพี่คนหนึ่ง ทำงานทุกวัน เงินเดือนไม่เยอะ ที่ทำงานไกลจากบ้านมาก ตื่นตั้งแต่ตี 5 จากรามคำแหง ไปทำงานนนทบุรี กว่าจะกลับถึงบ้าน 5 ทุ่มทุกวัน

ด้วยความที่อยากเป็นสถาปนิก ผมเรียนรู้งานทุกอย่างตั้งแต่ A-Z ทำได้ประมาณปีกว่า จากนั้นก็ไปทำงานกับบริษัทโน้นบริษัทนี้เรื่อยมา
จริงๆ ไม่ได้อยากเปิดบริษัทเลย แค่ตื่นขึ้นมาได้ทำงานออกแบบก็มีความสุขมากแล้ว ด้วยจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ประกอบกับมีงานขนาดใหญ่เข้ามาหลายร้อยล้าน แต่ที่สำคัญคือ ไม่มีเวลาทำงานส่วนตัวเลย ก็คิดว่าจังหวะนี้แหละลองออกมาเปิดบริษัทของตัวเองดู ถ้าเวิร์คก็ดี แต่ถ้าไม่เวิร์คก็กลับมาทำงานออฟฟิตเหมือนเดิม"

จากลูกจ้างสู่เจ้าของบริษัทรับออกแบบ
บริษัท จูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์ จำกัด เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการออกแบบ ให้คำปรึกษา พัฒนางานสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ และอินทีเรีย ที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญงาน Residence เป็นอย่างมาก
"ออฟิตผมถนัดงาน Residence งานที่ไม่เร่งมาก แต่งานจำพวก Commercial ก็รับทำนะ แต่อาจไม่เร็วปรูดปราดแบบที่อื่น ที่สำคัญคือ บริษัทผมจะไม่รับงานอโคจร ไม่ทำเลย เพราะงานออฟฟิตผมอาจไม่ใช่ในสิ่งที่ทุกคนชอบ ชัดเจนมากถ้าลูกค้าเดินมาหาเราเขาจะรู้ว่าเราทำอะไร และไม่ทำอะไร"


3 ปัญหาหลักของการทำงาน
ปัญหาหลัก ๆ ในการทำงานคงหนีไม่พ้น 3 เรื่องใหญ่ที่สำคัญคือ 1.คน 2.งาน และ 3.เงิน โดยเฉพาะการทำงานสร้างสรรค์ที่ภายในสำนักงานมีคนแนวติสๆ มาอยู่รวมกันหลาย ๆ คน ผมว่าค่อนข้างเป็นเรื่องยากในการบริหารจัดการ
ทว่าทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องของคน หลักๆ คงต้องคิดอยู่เสมอว่า ใจเขา ใจเรา อะไรที่ซับซ้อนก็ปล่อยมันซับซ้อนไป และอะไรที่เรียบง่าย ก็ปล่อยมันไป อย่าทำอะให้มันยากหรือง่าย พยายามปล่อยไปตามธรรมชาติ
สิ่งสำคัญคือ ไม่กดดันและไม่ชี้นำลูกน้อง ต้องปล่อยไปตามข้อแม้ที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะรับแรงกดดันและเฉลิมฉลองไปด้วยกัน


เป้าหมายในการทำธุรกิจที่คิดไว้
เป้าหมายในการทำงานของผมไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย แค่อยากให้คนทำงานทุกคนมีความสุข มีโอกาสได้ไปในที่ๆ อยากไปทุกคน เพื่อตอบโจทย์ฝันของคนทำงานในระดับหนึ่ง ที่ทำงานอยู่ในออฟฟิศแห่งนี้


หลักหรือปรัชญาในการทำงาน
ถ้าอะไรมันง่ายไป จงคิดไว้เถิดปลายทางมันจะยุ่งยาก แต่ถ้าเริ่มยากๆ ปลายทางจะง่าย
ประสบการณ์การเป็นลูกจ้าง นำมาปรัชใช้ในการบริหารงานอย่างไร
ง่ายๆ เลย คือถ้าเราไม่ชอบอะไรในช่วงที่เป็นลูกจ้าง ก็อย่านำมาทำในตอนนี้ แค่นั้นเอง


เสน่ห์ของงานสถาปนิก
ความสุขหรือเสน่ห์ของการทำงานเป็นสถาปนิกคือ เพียงแค่ 10 นาที่ที่ได้เห็นความสำเร็จของการทำงานจากที่เดินทางมาเป็นปี วันที่ได้เข้าไปเห็นงานเสร็จวันแรกร่วมกับเจ้าของบ้าน แล้วเจ้าของงานหันมาบอกกับเราแค่ว่า "โอเคครับ ขอบคุณมาก" เพียงเท่านี้เอง


สถาปนิกที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
สถาปนิกที่ดีในความคิดของผมคือ ไม่ขวาไปหรือซ้ายไป และไม่แสดงตัวเองมากไป แต่จงแสดงตัวตนในงานออกแบบ


ทำงานอย่างไรให้มีความสุข
สำหรับผมคิดว่าปัญหา คือส่วนหนึ่งของการทำงาน ซึ่งปัญหาถือเป็นข้อแม้แรกในการเป็นสถาปนิก


กำลังใจในการทำงาน
พยายามมองหลายๆ ทางไว้ อย่ามองอะไรเพียงด้านเดียว แล้วเราจะพบกับความหอมหวานอย่างแน่นอน
หาความรู้เพิ่มเติมเพี่อนำมาปรับใช้ในการบริหารงานอย่างไร

ผมมีโอกาสได้เรียนรู้จากสายงานอื่นเยอะมากในการบริหารงาน พยายามใช้อารมณ์ทำงานแต่ใช้เหตุผลบริหารพนักงานภายในออฟฟิศ


คำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากเป็น "สถาปนิก"

สิ่งแรกเลยคือ ต้องอดทน อดทน และอดทน เปรียบได้กับดอกไม้ที่มีเวลาเบ่งบานของมัน นั่นคือ เวลา สถาปนิกมีเงื่อนไขของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำงานเป็นอย่างมาก อยากให้น้องๆ ท่องไว้และลงมือทำไปเรื่อยๆ อย่าคิดมาก คิดให้น้อย ทำให้เยอะ


คำแนะนำสำหรับคนทำงานรุ่นใหม่
โลกนี้วัดความสำเร็จของการทำงานด้วยความอดทน การบริหารความกดดัน และการดิลกับคนอื่น

ผู้เขียน : ณัฐกานต์
ช่างภาพ : สุรพงษ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook