เปิด 10 อันดับ ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 65 การแพทย์-อีคอมเมิร์ซมาแรง

เปิด 10 อันดับ ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 65 การแพทย์-อีคอมเมิร์ซมาแรง

เปิด 10 อันดับ ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 65 การแพทย์-อีคอมเมิร์ซมาแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง และ 10 ธุรกิจดาวร่วง ในปี 2565 ว่า สำหรับการจัดอันดับธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ใน ปี 2565 จะมีเกณฑ์การให้คะแนน ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านยอดขาย 20 คะแนน, ด้านต้นทุน 20 คะแนน, กำไรสุทธิ 20 คะแนน, ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน 20 คะแนน และความต้องการ/ความสอดคล้องกับกระแสนิยม 20 คะแนน รวมทั้งหมด 100 คะแนน

โดย 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งในปี 2565 มีดังนี้

  • อับดับ 1 ธุรกิจการแพทย์-ความงาม, ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
  • อันดับ 2 ธุรกิจแพลตฟอร์ม
  • อันดับ 3 ธุรกิจโลจิสติกส์-delivery-คลังสินค้า, ธุรกิจด้าน fintech, ธุรกิจประกันภัย-ประกันชีวิต
  • อันดับ 4 ธุรกิจเวชภัณฑ์ ยา เภสัชภัณฑ์, ธุรกิจเครื่องมือแพทย์
  • อันดับ 5 ธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ-ขายตรง
  • อันดับ 6 ธุรกิจแปรรูปยาง (ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย) ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป
  • อันดับ 7 ธุรกิจคอนเทนต์ youtuber การรีวิวสินค้า, ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ เช่น อาหารสัตว์ การดูแลสุขภาพสัตว์
  • อันดับ 8 ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่
  • อันดับ 9 ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน
  • อันดับ 10 ธุรกิจบันเทิง, ธุรกิจก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์แนวราบ, ธุรกิจท่องเที่ยว และบริการต่อเนื่อง

นายวชิร กล่าวว่า สำหรับธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม ที่ได้รับการจัดอันดับเป็นธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 เพราะมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีส่วนช่วยให้การวิจัยและพัฒนายา การรักษาโรค และวัคซีนให้มีคุณภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ กระแสการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ การกินอาหารสุขภาพ การออกกำลังกาย และการดูแลความงามยังมีต่อเนื่อง การเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ความต้องการใช้บริการด้านการแพทย์เพิ่มสูงขึ้น

โดยในธุรกิจนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ สถานการณ์ด้านรายได้ที่ลดลงมาก จึงทำให้กำลังซื้อลดลง มีการปลอมแปลงทางเวชภัณฑ์ และการหลอกลวงในการให้บริการจนทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ, ต้นทุนการดำเนินธุรกิจยังสูงต่อเนื่อง และการแข่งขันรุนแรงจากทั้งผู้เล่นรายเดิม และรายใหม่จำนวนมาก

ส่วนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่อยู่ในอันดับ 1 เท่ากันนั้น เนื่องจากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พฤติกรรมของประชาชนหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น เพราะลดการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ขณะที่ผู้ประกอบการต่างหันมาทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์กันมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนต่ำ ซื้อ-ขายได้ตลอด 24 ชม. และมีระบบการชำระเงินที่หลากหลาย เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย

แต่ธุรกิจดังกล่าว ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายเก็บภาษีธุรกิจขายสินค้าออนไลน์, ปัญหาการหลอกขายสินค้า และสินค้าไม่ได้คุณภาพ, มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งคู่แข่งรายเดิมและคู่แข่งรายใหม่ ตลอดจนการแข่งขันด้านราคา จึงทำให้กำไรของธุรกิจนี้ค่อนข้างต่ำ

ส่วน 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงในปี 2565 มีดังนี้

  • อันดับ 1 ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐาน เครื่องโทรสาร
  • อันดับ 2 ธุรกิจฟอกย้อม ธุรกิจหัตถกรรมที่ไม่มีการออกแบบ และราคาถูก
  • อันดับ 3 ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ วารสาร, ธุรกิจรับส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้าน และสถานที่ทำงาน
  • อันดับ 4 ธุรกิจโรงพิมพ์ การพิมพ์ เช่น หนังสือ แผ่นพับ, ธุรกิจคนกลาง
  • อันดับ 5 ธุรกิจผลิตและขายต้นไม้-ดอกไม้ประดิษฐ์, ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าโหล
  • อันดับ 6 ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา เซรามิก
  • อันดับ 7 ธุรกิจร้านถ่ายรูป
  • อันดับ 8 ธุรกิจนำเที่ยวในประเทศ
  • อันดับ 9 ธุรกิจผลิตของเด็กเล่น
  • อันดับ 10 ธุรกิจ Call Center

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งในปีหน้า ส่วนมากแล้วจะเป็นธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับโลกยุคใหม่ หรือยุคดิจิทัล เป็นสินค้าหรือบริการที่เข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจด้านคอนเทนต์ บริการเดลิเวอรี่ ธุรกิจ Fintech รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลกในยุคโควิด เช่น ธุรกิจการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ อาหารเสริมสุขภาพ และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“10 ธุรกิจเด่น จะอยู่ในนิยามของคำว่า FUREC โดย F = Fast, U = Urbanization, R = Real time, E = Environment, C = Convenient ซึ่งในยุคโควิด และหลังโควิด ได้เกิดกระแส Cashless เพิ่มมากขึ้น พวกธุรกิจคริปโทฯ จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น แม้แบงก์ชาติจะไม่สนับสนุน แต่เราเชื่อว่าจะมีบทบาทในเชิงธุรกิจมากขึ้น รวมถึง Fintech ที่เข้ามาในยุคของดิจิทัลมากขึ้น และมองว่าปีหน้าเราคงจะกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ธุรกิจอะไรที่ไม่ใช่ modern ไม่ใช่ digital จะเริ่มหายไป เช่น หนังสือ สิ่งพิมพ์ เพราะเหล่านี้จะฝังตัวอยู่ในโทรศัพท์มือถือ” นายธนวรรธน์ ระบุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook