สหฟาร์มติดหนี้กฟภ.800ล้าน ขู่ตัดไฟบีบวางประกัน 26ก.ค.
กฟภ.บี้ "สหฟาร์ม" ชำระหนี้ค่าไฟฟ้า เผยค้างจ่ายตั้งแต่ปี รวมเบ็ดเสร็จ 800 ล้านบาท ตั้งเงื่อนไขให้วางหลักประกันหรือแบงก์การันตี 200 ล้านบาท ภายใน 26 กรกฎาคมนี้ แลกกับการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้โรงงานตามปกติถึงเดือนสิงหาคม ส่วนหนี้ที่เหลือให้ทยอยชำระเป็นงวด ๆ
การประกาศปิด 2 โรงเชือดไก่ของบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเนื้อไก่และไก่แปรรูปยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ ที่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 600,000 ตัว
ต่อ วัน และโรงเชือดที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังการผลิตประมาณ 400,000 ตัวต่อวัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประสบปัญหามีภาระหนี้สินกว่า 30,000 ล้านบาท จากการขยายกำลังการผลิตเกินตัว ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกในแวดวงธุรกิจ เนื่องจากมีหนี้ค้างจ่ายธนาคารพาณิชย์ ซัพพลายเออร์ที่ขายวัตถุดิบ ขายพันธุ์ไก่ เกษตรกรที่ทำไก่ประกัน รวมถึงการค้างค่าจ้างพนักงานกว่า 10,000 คน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ทุกคนไม่มีเงินจ่ายชำระหนี้ธนาคารเจ้าหนี้เช่นกัน
แหล่งข่าว จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางบริษัทสหฟาร์มได้ติดค้างชำระค่าไฟฟ้ากับ กฟภ.ด้วย ทั้งนี้ บริษัทสหฟาร์มได้ทำเรื่องขอมายังนายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล
ผู้ว่าการ กฟภ.จะขอเวลาผ่อนปรนหนี้ และขอใช้ไฟฟ้า 17 มิเตอร์ต่อไป ถึงเดือนสิงหาคม 2556 โดยทางบริษัทสหฟาร์มได้แจ้งให้ทาง กฟภ.ทราบว่ากำลังอยู่ระหว่างขอวงเงินสินเชื่อไปยังธนาคารกรุงไทยประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท
เพื่อนำเงินมาดำเนินธุรกิจต่อ โดยธนาคารกรุงไทยแจ้งว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดประมาณเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งนายนำชัยผู้ว่าการอนุญาตให้ แต่มีเงื่อนไขว่าทางบริษัทสหฟาร์มต้องมีหลักประกันมาวางในการใช้ไฟประมาณ 200 ล้านบาท ภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 ถือเป็นการวางหลักประกันสำหรับการใช้ไฟในปัจจุบัน รวมถึงการใช้ไฟในอนาคตถึงเดือนสิงหาคม
การค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้าของ บริษัทสหฟาร์ม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน มีหนี้ค้างค่าไฟฟ้าเก่า 800 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2555 กับหนี้ใหม่ที่เพิ่งเริ่มค้างชำระตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 โดยส่วนของหนี้ที่ติดค้างเก่าประมาณ 800 ล้านบาท
นายนำชัยได้มีนโยบายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา ประกอบด้วยระดับรองผู้ว่าการ ฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงฝ่ายกฎหมาย และได้เข้าไปเจรจากับทางบริษัท เนื่องจากบริษัทสหฟาร์มเป็นบริษัทใหญ่
หากมีการตัดไฟทันทีจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ จึงได้ข้อสรุปให้ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลา 2 ปี หรือ 24 เดือน ซึ่งหนี้ก้อนนี้ได้ทยอยผ่อนชำระมาแล้วเป็นเดือนที่ 4 แล้ว ซึ่งในการเจรจา ทางบริษัทสหฟาร์มได้แจ้งให้ทาง กฟภ.ทราบถึงแผนการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับทางสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่มี มาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนของหนี้ก้อนใหม่ที่เพิ่งเริ่มค้างชำระตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 2556 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งทาง กฟภ.ได้มีการหารือในคณะทำงาน และเข้าไปเจรจากับบริษัทสหฟาร์มอีกครั้ง ทางบริษัทสหฟาร์มได้แจ้งให้ทาง กฟภ.ทราบว่าอยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาจะสนับสนุน เงินทุนเสริมสภาพคล่องให้กับทางบริษัทสหฟาร์มประมาณ 2,000 ล้านบาท
จึงขอให้ กฟภ.ผ่อนปรนให้ใช้ไฟไปถึงเดือนสิงหาคม 2556 โดยแจ้งว่าขั้นตอนการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหมดจะจบภายในเดือนสิงหาคม 2556
เมื่อ ประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง กฟภ.จึงได้ส่งหนังสือแจ้งให้บริษัทสหฟาร์มรับทราบว่าทาง กฟภ.มีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่จะผ่อนปรนช่วยเหลือ แต่ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม
โดยหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่เดือนพฤษาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม และไฟที่จะขอใช้ไปถึงเดือนสิงหาคม 2556 ทาง กฟภ.จะอนุมัติให้ แต่ทางบริษัทสหฟาร์มต้องหาเงินจำนวน 200 ล้านบาท มาวางค้ำประกันกับ กฟภ.ภายในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ โดยหลักทรัพย์ที่นำมาวางค้ำประกันจะเป็นที่ดิน หรือจะเป็นแบงก์การันตีจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้มาวางค้ำประกันก็ได้
"ทาง กฟภ.อยากให้ทางบริษัทสหฟาร์มดำเนินกิจการต่อไปได้ บริษัทสหฟาร์มเป็นลูกค้ากับ กฟภ.มาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี การที่ กฟภ.จะพิจารณาตัดไฟในกรณีบริษัทขนาดใหญ่ ทางคณะกรรมการจะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาโดยให้เวลากับบริษัท ไม่ใช่ตัดไฟทันที เพราะทราบดีว่าบริษัทใหญ่ผลกระทบยิ่งมีมาก เช่น ในส่วนของฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ โรงเรือนเลี้ยงไก่ ระบบการให้อาหารสัตว์ เป็นต้น
หากตัดไฟจะได้รับผลกระทบไก่ตายได้ ไก่พ่อแม่พันธุ์มีราคาสูง ดังนั้น หากบริษัทขนาดใหญ่ทั่วไปมีปัญหาค้างค่าไฟ ทางผู้ว่าการมีนโยบายให้เข้าไปเจรจาก่อน และให้เวลา โดยแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า บางรายจะได้เตรียมเครื่องปั่นไฟสำรองมารองรับ เป็นต้น
สำหรับบริษัทสหฟาร์มในภาวะปกติ จะใช้ไฟของ กฟภ.ประมาณ 40 มิเตอร์ จ่ายค่าไฟประมาณเดือนละ 100 กว่าล้านบาท ปัจจุบันได้ลดการใช้ลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ทำให้เหลือจ่ายค่าไฟประมาณ 50-60 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีการย้ายส่วนของการทำงานที่อาจเหมือนกันไปอยู่รวมกัน เช่น ส่วนการเลี้ยงปริมาณไก่ที่ลดลงในโรงเรือนใด ก็ย้ายอีกส่วนมารวมกัน ก็สามารถให้ กฟภ.ยกเลิกการใช้มิเตอร์ไฟส่วนนั้นไปได้ ดังนั้น ทาง กฟภ.จึงนำค่าไฟมาเฉลี่ย และให้วางค้ำประกันที่วงเงิน 200 ล้านบาท
นาย สัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวไว้ว่า กระทรวงจะเข้าไปช่วยเจรจาให้บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายไก่รายอื่นเข้าไปช่วย รับซื้อไก่จากเกษตรกรที่เป็นลูกเล้าของ บ.สหฟาร์ม ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยเป็นผู้ประสาน เจรจากับบริษัทต่าง ๆ แล้ว จากที่มีการประสานงานกันล่าสุดทราบว่า บ.เบทาโกรได้ตกลงเข้าไปรับซื้อไก่จากเกษตรกรในพื้นที่ จ.ลพบุรีแล้ว