ส่องโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท รัฐบาลจ่ายเยียวยา-ฟื้นฟู ไปกับอะไรบ้าง
เป็นเวลา 2 ปีแล้วที่ไทยและทั่วโลกยังคงเผชิญหน้ากับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2564 ที่ทำให้รัฐบาลต้องประกาศควบคุมเข้มในพื้นที่ 29 จังหวัด ส่งผลให้กิจการ หรือกิจกรรมที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยต้องชะงักตัว การเยียวยา หรือฟื้นฟูเพื่อประคับประคองระบบเศรษฐกิจไทยให้เดินต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลอยู่ไม่น้อย และแน่นอนว่าปี 2564 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่รัฐบาลมีการอนุมัติโครงการเยียวยา แก้ปัญหาโควิด-19 หลายๆ โครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
โดยวงเงินดังกล่าวได้มีการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ รวมถึงภาคประชาชนไปแล้วเท่าไหร่บ้าง Sanook Money จะพามาเจาะรายละเอียดการใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับนี้กัน
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ข้อมูลโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก. กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลโครงการได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
โครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีถูกแบ่งออกเป็น 3 แผน ได้แก่ แผนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข, แผนงานช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ประชาชน-เกษตรกร-ผู้ประกอบการ และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
หากเจาะลงรายละเอียดจะพบว่า แผนงานด้านการเยียวยาช่วยเหลือ ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ มีกรอบวงเงินมากเป็นอันดับ 1 คือ 701,238 ล้านบาท ,วงเงินที่อนุมัติแล้ว 690,136.57 ล้านบาท, ผลการเบิกจ่าย 634,194.48 ล้านบาท และมียอดคงเหลือ 11,101.427 ล้านบาท
ขณะที่แผนงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มีกรอบวงเงิน 253,762 ล้านบาท, วงเงินที่อนุมัติแล้ว 246,212.97 ล้านบาท, ผลเบิกจ่าย 71,144.23 ล้านบาท และมียอดคงเหลือ 7,549.02 ล้านบาท
ส่วนแผนงานด้านการแพทย์-สาธารณสุข มีกรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท, วงเงินที่อนุมัติแล้ว 44,478.69 ล้านบาท, ผลเบิกจ่าย 11,623.229 ล้านบาท และมียอดคงเหลือ 521.305 ล้านบาท
ทีนี้เรามาดูรายละเอียดโครงการที่ผ่านการอนุมัติกันว่าถูกใช้ไปกับโครงการใดบ้าง โดย Sanook Money จะคัดเฉพาะ Highlight ที่หลายคนเห็นชื่อโครงการจะต้องจำได้ว่าเคยเป็นประเด็น Talk of The Town กันเลยทีเดียว ซึ่งโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี มีตัวอย่างโครงการดังนี้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
- โครงการกำลังใจ วงเงินอนุมัติ 2,400,000,000 บาท
- แพ็คเกจกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ-บุคลากรด้านการท่องเที่ยว โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณการท่องเที่ยวศึกษาดูงาน 2 วัน 1 คืน คนละ 2,000 บาท เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวในไทยที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เน้นกลุ่มผู้เดินทางเป็นบุคลากรด่านหน้าในระบบสาธารณสุขไทย เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่หัวหน้างานสาธารณสุข
- โครงการเราเที่ยวด้วยกัน วงเงินอนุมัติ 15,000,000,000 บาท
- ช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งโรงแรม-ที่พัก สายการบิน ร้านค้า ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจสปา และขนส่ง โดยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิส่วนลดที่พักที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยมีเงื่อนไขการใช้สิทธิ เช่น รัฐสนับสนุนค่าที่พัก 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน, สนับสนุนคูปองอาหาร-ท่องเที่ยว 600 บาทต่อห้องต่อคืนเมื่อ Check-in โรงแรม และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 2 สิทธิผู้โดยสาร ต่อ 1 ห้องโรงแรมที่จอง ทั้งนี้เงินสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินเท่ากับ 40% ของราคาค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 2,000 บาท ต่อผู้โดยสาร เป็นต้น
- โครงการทัวร์เที่ยวไทย วงเงินอนุมัติ 5,000,000,000 บาท
- เป็นการเยียวยาผู้ประกอบการ-บุคลากรด้านการท่องเที่ยว โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณท่องเที่ยวในการเดินทางอย่างน้อย 3 วัน 2 คืน คนละไม่เกิน 5,000 บาท 1 คนต่อ 1 สิทธิ โดยให้เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวภายในประเทศที่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
กรมควบคุมโรค
- โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 35 ล้านโดส วงเงินอนุมัติ 6,378,225,000 บาท
- เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด 19 สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่บุคลากรและประชาชน กลุ่มเสี่ยง จำนวน 35 ล้านโดส
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
- เร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนไทย วงเงินอนุมัติ 1,810,680,000 บาท
- เพื่อใช้คนไทยได้ใช้วัคซีนโควิด-19 ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาวัคซีนสำเร็จเป็นลำดับตันๆ ของโลก และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เพียงพอสำหรับการใช้ในประเทศ และสามารถส่งออกเพื่อจำหน่ายในตลาดโลก อีกทั้งมีขีดความสามารถในการพัฒนาวัคซีนได้เองเมื่อมีการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในอนาคต
สำนักงานประกันสังคม
- โครงการ ม.33 เรารักกัน วงเงินอนุมัติ 48,841,470,000 บาท
- ช่วยเหลือ เยียวยา และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วยการจ่ายวงเงินคนละ 6,000 บาท (รอบแรก 4,000 บาท บวกรอบสองอีก 2,000 บาท)ผ่านการโอนเข้าแอปฯ เป๋าตัง (G-Wallet) หรือบัตรประชาชนแบบสมาร์การ์ด ใช้ซื้อสินค้า-บริการกับร้านค้าร่วมโครงการฯ
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วงเงินอนุมัติ 19,990,806,000 บาท
- เพื่อเยียวยากลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการที่ได้รับผลกระทบทางสังคมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคม ลดผลกระทบ จากภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว รวมถึงลดความเสี่ยงในการรับหรือแพร่กระจายโรค
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
- โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินอนุมัติ 150,000,000,000 บาท
- ช่วยเหลือ เยียวยา ให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง วงเงินอนุมัติ 170,000,000,000 บาท
- เยียวยาให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการหลายประเภทที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่นๆ หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามแนวทางและวิธีการในการดำเนินโครงการฯ ที่กระทรวงการคลังกำหนด
- โครงการคนละครึ่ง เฟส 1 (30,000,000,000 บาท) เฟส 2 (22,500,000,000 บาท) และเฟส 3 (93,000,000,000 บาท) รวมวงเงินที่อนุมัติไปแล้วราว 145,500,000,000 บาท
- ฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนของค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป อันจะเป็นการเพิ่มอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย เป็นต้น ให้มีรายได้จากการขายสินค้า
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส 1 (20,922,777,000 บาท) เฟส 2 (20,635,492,500) และเฟส 3 (16,380,190,800 บาท) รวมวงเงินที่อนุมัติ 57,938,460,300 บาท
- ช่วยเหลือเยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มผู้มีบัตรฯ ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้กลุ่มผู้มีบัตรฯ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ มีรายได้ลดลงและไม่สามารถหารายได้จาก แหล่งอื่นมาทดแทนได้
- โครงการเราชนะ วงเงินอนุมัติ 280,242,000,000 บาท
- ช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19
- โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ วงเงินอนุมัติ 28,000,000,000 บาท
- ฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยมี 3 แผนงานด้วยกันดังนี้
อันดับ 1 ที่มีกรอบวงเงินสูงสุด ยังคงเป็นแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย โดยมีกรอบวงเงิน 300,000 ล้านบาท ขณะนี้ถูกอนุมัติไปแล้ว 50% มีวงเงินที่อนุมัติแล้ว 125,794.3 ล้านบาท ผลเบิกจ่าย 104,887.42 ล้านบาท และคงเหลือ 174,205.6 ล้านบาท
แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 61% ทำให้มีวงเงินที่อนุมัติแล้ว 18,372.04 ล้านบาท ผลเบิกจ่าย 4,077.76 ล้านบาท คงเหลือ 11,627 ล้านบาท
สำหรับโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มีตัวอย่างโครงการดังนี้
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
- มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบัน อุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน วงเงินอนุมัติ 10,000,000,000 บาท
- เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้กับนิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน รวมถึง นักศึกษาระดับปริญญาตรีของสถาบันการอาชีวศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- โครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วงเงินอนุมัติ 13,230,400,000 บาท
- เพื่อช่วยเหลือให้ครอบคลุมกลุ่มผู้เรียนที่เรียนในสถานศึกษาสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มด้อยโอกาส และกลุ่มเด็กพิการ รวมถึงช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
- มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบัน อุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน วงเงินอนุมัติ 10,000,000,000 บาท
- ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้กับนิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน รวมถึง นักศึกษาระดับปริญญาตรีของสถาบันการอาชีวศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
สำนักงานประกันสังคม
- โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (สิงหาคม 2564) วงเงินอนุมัติ 16,103,328,000 บาท
- เยียวยาความเดือนร้อนเพิ่มเติมอีก 1 เดือน (สิงหาคม 2564) แก่นายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 ประเภทกิจการ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) และข้อกำหนด (ฉบับที่ 28) ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 13 จังหวัด
- โครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด วงเงินอนุมัติ 77,785,060,000 บาท
- เยียวยา บรรเทาความเดือนร้อนแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25 ฉบับที่ 27 ฉบับที่ 28 และฉบับที่ 30) ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 29 จังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ
กรมควบคุมโรค
- โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 12,000,000 โดส (Sinovac) วงเงินอนุมัติ 4,254,360,000 บาท
- เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด 19 สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 12,000,000 โดส
- โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 20,001,150 โดส (Pfizer) วงเงินอนุมัติ 9,372,764,500 บาท
- เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด 19 สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 20,001,150 โดส
- โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 9,998,820 โดส (Pfizer) วงเงินอนุมัติ 4,744,916,600 บาท
- เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด 19 สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 9,998,820 โดส
ส่วนแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 170,000 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีวงเงินที่อนุมัติแต่อย่างใด