เป้อุ้มเด็กสไตล์ญี่ปุ่น จากฝีมือคุณแม่คนไทย

เป้อุ้มเด็กสไตล์ญี่ปุ่น จากฝีมือคุณแม่คนไทย

เป้อุ้มเด็กสไตล์ญี่ปุ่น จากฝีมือคุณแม่คนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากพนักงานบริษัทสู่การเป็นคุณแม่เต็มตัว จึงเกิดไอเดียในการทำธุรกิจยุคดิจิตอล เพื่อลบภาพแม่บ้านที่คอยเลี้ยงลูกโดยให้สามีรับภาระหาค่าใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว ธนีนาถ พลเชียงดี หรือ คุณยุ้ย เจ้าของร้าน www.punnita-baby.com ต่อยอดความคิด ผลิตเป้อุ้มเด็กสไตล์ญี่ปุ่นออกสู่ตลาดประเทศไทย

ทำไมต้องเป็นเป้สไตล์ญี่ปุ่น
คุณยุ้ย เล่าว่า การเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านคนเดียวจะมีข้อเสียตรงที่จะเดินไปไหน จะทำอะไรก็ไม่สะดวก เพราะต้องคอยอุ้มน้องตลอดเวลา เป้อุ้มเด็กที่ขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าก็มักจะมีแต่สินค้าจากฝั่งยุโรปที่มีขนาดใหญ่ เนื้อผ้าแข็ง และมีสีทึบ ไม่ตรงตามความต้องการ จึงลองนำผ้ามาเย็บเป็นเป้อุ้มเด็กแบบญี่ปุ่น เนื่องจากสมัยตอนทำงานอยู่บริษัทของคนญี่ปุ่น เคยเห็นคุณแม่ชาวญี่ปุ่นใช้เป้ในลักษณะนี้ จึงลองแกะแบบแล้วเย็บใช้ดู ปรากฏว่าใช้งานง่ายจึงเกิดเป็นไอเดียนำมาทำขาย เพราะเป็นสินค้าจำเป็นที่คุณแม่ทุกคนจำเป็นต้องใช้

"จุดเด่นของเป้อุ้มเด็กแบบนี้อยู่ที่ความสบายทั้งคนอุ้มและเด็ก ส่วนการเลือกใช้วัตถุดิบต่างๆเราก็เลือกแบบดีที่สุดเหมือนกับใช้เอง เพราะเราเข้าใจว่าคนเป็นแม่ไม่ต้องการให้ลูกได้รับอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นสิ่งระคายเคือง อะไหล่บางชิ้นจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด เป้อุ้มเด็กของทางร้านจะแบ่งออกเป็นสามรุ่น ได้แก่ เบบี้สลิง (babysling), เป้สไตล์ญี่ปุ่น, และเป้แบ็กแพ็ก (Backpack) ส่วนการเลือกใช้งานก็ขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนังของลูก ถ้าเป็นเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือนก็ต้องใช้แบบแรก แต่ถ้าโตขึ้นมาหน่อยก็เป็นอีก 2 แบบหลังเพราะจะมีการกระจายน้ำหนักไปยังเอวและบ่าทั้งสองข้าง"


ครั้งแรกกับธุรกิจออนไลน์

"เราเริ่มจากการเปิดเว็บบล็อกเพื่อขายของ เพราะเมื่อ 4 ปีที่แล้วการเขียนบล็อกนั้นเป็นที่นิยม รวมถึงตอนนั้นเราไม่มีความรู้เรื่องการขายของผ่านอินเตอร์เน็ตจึงไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน พอเวลาผ่านไป 2-3 เดือน กระแสตอบรับดีมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ชื่นชอบในตัวสินค้า เราจึงขยายไปสู่เว็บไซต์แบบจริงจัง เนื่องจากเป็นช่องทางที่ช่วยให้เราสามารถทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลลูก แล้วหลังจากที่คนเริ่มรู้จักเว็บไซต์มากขึ้น ก็ได้เพิ่มรายการสินค้าอย่าง ผ้าคลุมให้นม สายรัดกันเด็กตกเก้าอี้ และเบาะนั่งในรถยนต์ ส่วนสินค้าอื่นๆที่เกี่ยวกับแม่และเด็กอื่นๆที่นำมาเสริมในร้านก็จะคัดสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นที่นิยมทั้งในหมู่คุณแม่ชาวไทยและญี่ปุ่น"

คุณยุ้ยเล่าต่อว่า เว็บไซต์ที่ทำนั้นเป็นเว็บไซต์ 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น เพื่อรองรับความต้องการทางภาษาของคุณแม่ชาวญี่ปุ่นที่ติดตามสามีมาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะบางทีคุณแม่เหล่านี้ไม่ได้มีลูกคนเดียว การไปเดินเลือกซื้อเป้อุ้มเด็กตามห้างสรรพสินค้าอาจไม่สะดวก อีกทั้งพฤติกรรมของคุณแม่ชาวญี่ปุ่นนั้นคุ้นเคยกับสินค้าเป้อุ้มเด็กอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีคำถามในเรื่องของการใช้งานหรือข้อสงสัยต่างๆ อาทิ ใช้แล้วเด็กจะขาถ่าง ขาโก่งหรือไม่ เพราะจะทราบดีว่าเรื่องขาถ่าง ขาโก่งนั้นเป็นพันธุกรรมของเด็กไม่เกี่ยวกับเป้ และคุณแม่ชาวญี่ปุ่นจะมีเป้อุ้มเด็ก 3 -4 อัน ในลักษณะที่แตกต่างกันเพื่อการใช้งานที่ต่างออกไปในแต่ละวัน


ขยายตลาดโดยการโฆษณา
ทีนี้การประชาสัมพันธ์จึงอาจต้องแบ่งเป็นสองส่วนเพื่อสำหรับลูกค้าคนไทยและลูกค้าคนญี่ปุ่น สำหรับกลุ่มคุณแม่ชาวญี่ปุ่นนั้นจะประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ลงในนิตยสารภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นวิธีการที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักเรามากขึ้นและมีเปอร์เซ็นต์ในการตัดสินใจซื้อมากกว่าหาเจอในอินเทอร์เน็ต เพราะชาวญี่ปุ่นที่มาอยู่ต่างแดนนั้นจะเชื่อในสิ่งที่คนญี่ปุ่นด้วยกันบอกต่อมากกว่า นอกจากนั้นทางร้านยังทำโฆษณาผ่าน Google AdWords เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าสู่กลุ่มลูกค้าโดยตรงและเป็นการขยายฐานตลาดให้กับสินค้า ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นคนญี่ปุ่น


อีกทั้งทางร้านยังมีโปรโมชั่นมอบของขวัญพิเศษให้กับลูกค้าที่เข้ามาร่วมสนุกบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยให้ลูกค้าถ่ายภาพคู่กับสินค้าลงในอินสตาแกรม ติดแทค #punnita พร้อมเล่าความประทับใจต่อสินค้า จากนั้นให้แชร์ภาพต่อไปยังเฟสบุ๊คของตนเอง วิธีนี้จะเปรียบเสมือนเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ร้านทางอ้อม เพราะแน่นอนว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านจะเป็นกลุ่มคุณแม่ ซึ่งกลุ่มคุณแม่เหล่านี้จะเพื่อนที่เป็นคุณแม่อายุใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดการบอกต่อได้โดยง่าย ถือเป็นข้อได้เปรียบของสินค้าเฉพาะกลุ่มแบบเป้อุ้มเด็ก ทั้งนี้นอกจากช่องทางออนไลน์แล้ว ทางร้านยังมีการวางสินค้าที่เดอะมอลล์ทุกสาขาในกรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัดก็มีขายตามร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้คุณแม่อีกกลุ่มที่ต้องการเห็นสินค้าจริงมีโอกาสได้เลือกซื้อ


จุดขายที่อยู่ที่ "คุณภาพและความจริงใจ"
คุณยุ้ย เล่าต่ออีกว่า สิ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการทำร้านออนไลน์คือ สินค้าที่นำมาขายนั้นต้องมีคุณภาพ เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่มีโอกาสเห็นสินค้าจริงมั่นใจได้ว่าทางร้านจะส่งสินค้าคุณภาพดีไปให้ เพราะฉะนั้นภาพถ่ายที่อยู่ในเว็บไซต์ต้องเหมือนสินค้าจริงลูกค้าถึงจะพอใจ อีกทั้งสำหรับเป้อุ้มเด็กนั้นมีปัญหาอยู่ที่บางครั้งช่างเย็บผ้าไม่พอกับจำนวนสินค้าที่มีคนสั่ง เนื่องจากต้องใช้ช่างเย็บผ้าที่มีฝีมือ บางเวลาสินค้าจึงอาจขาดสต๊อก ทางร้านก็ต้องสื่อสารกับลูกค้าให้ชัดเจนโดยแนะนำสินค้าที่สามารถใช้แทนกันได้ หรือหากลูกค้าสามารถรอได้ก็จะให้สั่งจองไว้ก่อน ซึ่งก็ต้องให้ลูกค้ารอไม่เกิน 1 เดือน


คุณยุ้ย ฝากถึงผู้ที่ต้องการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ว่า "การเลือกสินค้าเข้ามาขายนั้นควรเริ่มจากสินค้าที่ทดลองใช้เอง เพราะจะทำให้เราเข้าใจในตัวสินค้าที่ขายดีที่สุด อีกทั้งแพ็กเกจภายนอกก็มีความสำคัญ ต้องดูทันสมัยและน่าเชื่อถือ ส่วนการพูดคุยกับลูกค้าอย่างเป็นกันเองนั้นช่วยให้ลูกค้าเปิดใจ วางใจในสินค้า นอกจากนั้นเราต้องเปิดทางให้ลูกค้าเข้าถึงได้ตลอดเวลาโดยการใช้ช่องทางต่างๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเชื่อมั่นถึงสินค้าและบริการ เพราะทุกอย่างล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญในการต่อธุรกิจออนไลน์ทั้งสิ้น"

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ เป้อุ้มเด็กสไตล์ญี่ปุ่น จากฝีมือคุณแม่คนไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook