เทคโนโลยีป้อนเข้าปาก

เทคโนโลยีป้อนเข้าปาก

เทคโนโลยีป้อนเข้าปาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ต้องเข้าครัวทำกับข้าว ไม่ต้องเดินออกไปซื้อ ไม่ต้องรอสายโทรศัพท์ อาหารจานเด็ดก็มาส่งถึงปลายลิ้น
ในวันที่หิมะตกหนักทั่วทั้งเมืองนิวยอร์ค ย่านพลุกพล่านอย่างTime Squareใจกลางเกาะ Manhattanนั้นดูเงียบสงบกว่าปกติ การเดินถนนนาทีนี้น่าจะเหนื่อยไม่แพ้การเดินขึ้นเขา เพราะพื้นที่เคยราบเรียบนั้น บัดนี้ขาวโพลนไปด้วยหิมะหนาเตอะ ทั้งๆที่เทศบาล

เมืองนำรถกวาดหิมะมาทำความสะอาดไปบ้างแล้ว โชคดีเหลือเกินที่วันนี้ดิฉันไม่ต้องออกไปมหาวิทยาลัย
บนห้องพักชั้น5 ที่ไม่มีอะไรเหลือในตู้เย็นนอกเสียจากไอศกรีมค้างปีและมันฝรั่งถุงเล็กๆถุงเดียว ดิฉันกำลังนั่งเหม่อไปนอกหน้าต่างพลางคิดว่าจะกินอะไรดี การจะให้ผู้หญิงตัวเล็กๆสวมเสื้อสองชั้นพันผ้าพันคอปิดปากปิดหน้า ใส่เสื้อโค้ชที่มีหมวกคลุมหัวทับอีกที เดินลุยหิมะและลมแรงออกไปซื้อของกินดูจะโหดร้ายเกินไปสำหรับตัวเอง ดิฉันจึงตัดสินใจโทรศัพท์สั่งอาหารจากร้านอาหารไทยเจ้าประจำ

อ่อนใจตรงที่โทรศัพท์สองคู่สายของร้านอาหารไทยแห่งนี้ไม่ว่างเลย ดิฉันพยายามโทรอยู่เกือบครึ่งชั่วโมงกว่าจะมีผู้รับสาย แต่แค่บอกชื่อที่อยู่สายโทรศัพท์เจ้ากรรมก็หลุด โทรกลับอีกครั้งกลับเป็นไม่ว่างอีกแล้ว โมโหหิวจนอยากจะเป็นนางเอกมิวสิคที่ขว้างโทรศัพท์ทิ้ง ดีที่สติยังยั้งคิดได้ว่าประเดี๋ยวจะไม่มีอุปกรณ์นำพามาซึ่งอาหารประทังชีวิต

ดิฉันตัดสินใจโทรไปร้านอาหารเวียดนามพลางแกะถุงมันฝรั่งมาเคลือบกระเพาะอาหาร ปรากฏว่าสายไม่ว่างเช่นกัน ดิฉันลองซ้ำกับร้านพิซซ่าอีกสองแห่ง ผลที่ได้ไม่ต่างกัน นี่คงเป็นเพราะสภาพอากาศที่ทำให้ทุกคนพร้อมใจกันโทรสั่งให้มาส่งอาหารแทนที่จะเดินออกไปทานที่ร้าน การจราจรทางสายโทรศัพท์ไปสู่ร้านอาหารดีๆย่านนี้จึงแน่นขนัดเลยทีเดียว


แบบนี้คงเหลือทางเลือกเดียวคือสั่งอาหารทางอินเทอร์เน็ต !

มีร้านอาหารหลายร้านในมหานครนิวยอร์คที่รับสั่งอาหารออนไลน์โดยผ่าน website ของตัวเองหรือผ่านwebsite ตัวกลางอย่าง Seamless.com ดิฉันได้แต่เคยดูโฆษณา ฟังเพื่อนๆเล่า หรืออย่างดีก็มีเพื่อนสั่งอาหารออนไลน์มาให้กิน แต่ไม่เคยลองสั่งเองดูสักครั้ง

วันนี้ดิฉันเริ่มประสบการณ์สั่งอาหารออนไลน์กับ website ร้านอาหารไทยที่เมื่อสักครู่โทรไปแล้วสายหลุด เนื่องจากคุ้นเคยกับการบริการและอาหารของร้านนี้ดี จะได้พิสูจน์ความรวดเร็วและคุณภาพว่าเหมือนกับการไปรับประทานที่ร้านหรือโทรศัพท์สั่งให้มาส่งหรือไม่

เมื่อเข้า website ของร้านจะพบปุ่มให้เลือกสั่งอาหารออนไลน์ (Order Online) อยู่บนหน้าแรก หลังจากที่ click เข้าไป ระบบให้ดิฉันเลือกว่าจะสั่งอาหารจากสาขาไหน ร้านนี้มี 2 สาขาคือสาขาที่ตั้งอยู่ใน Brooklyn และอีกสาขาตั้งในใจกลาง Manhattan ซึ่งแน่นอนว่าดิฉันอยู่ใกล้สาขาหลังมากกว่า ทั้งสองสาขาจะบอกพื้นที่ในการส่งอาหารชัดเจนว่ายินดีจะบริการไกลแค่ไหน ใครที่อยู่นอกพื้นที่ให้บริการของทั้งสองสาขาหรืออยากไปรับอาหารเอง ทางร้านก็มีช่อง "Self Pick up"ให้เป็นทางเลือกกับลูกค้า

หลังจากที่เลือกสาขาได้แล้ว ลูกค้ายังสามารถเลือกได้ว่าจะให้ส่งเมื่อไหร่ ด้วยความนึกสนุกดิฉันลองเลือกเวลาตีสอง ซึ่งระบบจะร้องเตือนว่าไม่สามารถทำรายการได้ เพราะเป็นเวลาที่ร้านปิด ผู้สร้าง website คงคิดมาแล้วว่าคงมีคนอยากจะเล่นพิเรนทร์แบบนี้เป็นแน่จึงทำการป้องกันไว้เรียบร้อย ให้เลือกได้เฉพาะเวลาที่ร้านเปิด ดิฉันเลือกให้ส่งในอีกครึ่งชั่วโมงข้างหน้าซึ่งเป็นเวลาที่เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากหากเร็วกว่านี้ ระบบก็จะร้องเตือนอีกเช่นกันว่าไม่สามารถทำรายการได้เนื่องจากเร็วเกินไป
ถัดมาถึงเวลาที่จะต้องเลือกเมนูอาหาร

ในหน้าเมนูอาหารนี้มีอาหารเหมือนไปรับประทานด้วยตัวเองที่ร้านทุกรายการ เหมือนแม้กระทั่งลำดับเลขที่ของอาหาร ราคาก็เท่ากัน เพียงแต่เมนูออนไลน์นี้มีหมายเหตุตัวใหญ่มากทั้งด้านบนและท้ายเมนูว่า การสั่งหนึ่งครั้งต้องสั่งขั้นต่ำ $15 ส่วนวิธีการบอกคอมพิวเตอร์ว่าดิฉันจะรับประทานอาหารจานไหนก็ไม่ยาก แค่กด Click ท้ายรายการอาหารซึ่งมีปุ่มบอกอยู่แล้ว Click 1ครั้งแปลว่าสั่งหนึ่งจาน Click 2 ครั้งก็สองจาน ถ้า Click ผิดก็สามารถ Cancel ได้

ด้วยความคิดถึงอาหารรสจัดเมนูแรกที่Clickเลือก คือ ส้มตำ($5)ทันใดนั้นหน้าต่าง Pop-up ก็เด้งขึ้นมาเป็นคำอธิบายว่าส้มตำ ประกอบไปด้วย มะละกอ มะเขือเทศ ถั่วลิสง และรายละเอียดส่วนประกอบอื่นๆ พร้อมลักษณะอาหารพอสังเขป มีรูปพริกบ่งบอกว่าจานนี้เผ็ด (คงไม่รู้สินะว่าดิฉันเป็นคนไทย รู้จักส้มตำเป็นอย่างดี) มีช่องให้กรอกความเรื่องมากเพิ่มเติมได้ เช่น ดิฉันไม่ชอบถั่ว จึงพิมพ์เพิ่มว่าไม่เอาถั่วลิสง ต้องการเผ็ดแบบน้ำตาไหล หรือแม้กระทั่งต้องการส้มตำแยกน้ำ เป็นต้น ใส่ความเรื่องมากส่วนตัวเรียบร้อยแล้วก็กด Ok จากนั้นจึงเลือกอาหารจานถัดไป ซึ่งได้แก่ ผัดไทกุ้ง($9) แกงเขียวหวานที่เสิร์ฟมาพร้อมข้าวหอมมะลิจากเมืองไทย($10) และข้าวผัดไก่ ($10) รวมแล้วราคาก่อนภาษีเท่ากับ $34 เมื่อรวมภาษี 8.875% ประมาณ $3 ดิฉันต้องเตรียมเงินสดไว้จ่ายทางร้าน $37 แต่เนื่องจากเงินสดในกระเป๋ารวมกับการทุบกระปุกแล้วมีอยู่ $18 ดิฉันจึงเลือกที่จะใช้บัตร ATM (debit card) ในการชำระเงินแทน

เนื่องจากดิฉันไม่เคยเป็นลูกค้าผ่าน website นี้มาก่อนจึงต้องเสียเวลากรอกข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และค่อยตามด้วยเลขบัตรเดบิต จากนั้นระบบก็ให้กดยืนยันรายการอาหารอีกครั้งหนึ่งก่อน Submit ซึ่งเป็นอันจบกระบวนการ
ระบบขึ้นยืนยันการสั่งอาหารของดิฉันและขึ้นเวลาการสั่งที่ 12:17PM

ระหว่างรออาหารมาส่งดิฉันไม่ลืมที่จะเตรียมเงินสด $4 (ประมาณ10% ของค่าอาหาร) เพื่อเป็นค่าบริการให้กับพนักงานส่งอาหารของทางร้าน เนื่องจากเป็นธรรมเนียมของฝรั่งที่ว่า หากเราใช้บริการใดๆ เราควรมี Tip ให้กับพนักงานผู้ให้บริการเสมอ
รอเพียงไม่นาน เสียงกริ่งหน้าห้องก็ดังขึ้น อาหารที่จะช่วยประทังชีวิตไปได้สองวันมาถึงแล้ว ดิฉันเซ็นสลิปบัตรพร้อมกับยื่นเงินสด $4ให้กับพนักงานชาว Mexican ผู้ซึ่งมอมแมมไปด้วยหิมะ พร้อมกับกล่าวขอบคุณที่ลุยหิมะฝ่าลมแรงแทนดิฉัน
ดิฉันปิดประตูห้องพร้อมกับเหลือบไปดูเวลาตอนนี้ 12:49PM เวลาเลยที่สัญญาไว้เพียงสองนาที ถือว่าผ่าน และเมื่อเปิดกล่องอาหารดู ส้มตำที่แยกน้ำมาเรียบร้อยตามที่สั่ง สีจัดจ้านบ่งบอกว่าเผ็ดน้ำตาไหล และไม่เห็นแม้เงาถั่วลิสงตามที่สั่งไป อาหารอย่างอื่น


ได้ครบตามที่จ่ายเงิน ถือว่าผ่านอีกเช่นกัน

ดิฉันอดใจไม่ไหวรีบแกะตะเกียบที่ห่อมาในซองกระดาษอย่างดี ชิมผัดไทกุ้งก่อน ยังร้อนๆอยู่เลย รสชาติก็อร่อยเหมือนกินที่ร้านไม่มีผิด ถือว่าผ่านหมดทุกประเด็นที่อยากจะพิสูจน์
เช่นนี้แล้วดิฉันจึงใช้บริการซ้ำอีกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจากwebsite ร้านอาหารเจ้าเดิม หรือเจ้าอื่น หรือแม้กระทั่ง web ตัวกลางดังๆที่มีอาหารจากหลายร้านอย่าง delivery.com และ eat24hours.com รวมไปถึง grubhub.com ที่เพิ่งประกาศรวมกับ Seamless.com ไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ปัจจุบันยังรอความชัดเจนเรื่องwebsiteของทั้งคู่อยู่ว่าจะรวมกันหรือไม่)

ทุก website ที่กล่าวมาทั้งหมด ดิฉันขอแนะนำท่านผู้อ่านที่มีโอกาสมาเยี่ยมแดนลุงแซมให้ลองใช้ดู เพราะนอกจากจะได้อาหารครบถ้วน คุณภาพตามที่ต้องการและรวดเร็วทันใจ โดยไม่ต้องอารมณ์เสียกับการรอสายนานๆแล้ว ยังไม่ต้องกลัวว่าเราจะคุยโทรศัพท์กับฝรั่งไม่รู้เรื่องเวลาสั่งอาหารอีกด้วย

 

 


Profile นักเขียน
ปุ้ม - วัชราภรณ์ สุวินย์ชัย
เริ่มจากสายงานข่าวเศรษฐกิจและตลาดทุนผ่านประสบการณ์ในงานสื่อสายตลาดทุน
ทั้งจัดรายการวิทยุ ดำเนินรายการโทรทัศน์และเป็นผู้เขียนรับเชิญในนิตยสารด้านตลาดทุน
หลังจากนั้นได้เดินทางไปเรียนต่อทาง Finance ที่ มหานครนิวยอร์ค และสอบ CFA level 1&2 ผ่านก่อนที่จะกลับมาเมืองไทยเพื่อเริ่มงานในสายตลาดทุน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook