Snapchat มิติใหม่ของการแชร์ภาพ
ปฏิเสธไมได้ว่าการโพสต์ภาพถ่ายออนไลน์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคสมาร์ทโฟนครองเมือง ในงานสัมมนา D11
ซึ่งจัดโดยสำนักข่าว The Wall Street Journal ได้มีการเปิดเผยรายงานแนวโน้มอินเทอร์เน็ตประจำปี 2013 (Internet Trends Report 2013) ที่จัดทำโดย Mary Meeker และ Liang Wu จาก Kleiner Perkins Caufield Byers (KPCB) ว่า ช่วงปีที่ผ่านมามีภาพถ่ายได้รับการแบ่งปันบนโลกออนไลน์โดยเฉลี่ยมากถึง 500 ล้านภาพต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนผู้ที่นำเทรนด์นี้ก็หนีไม่พ้น Facebook ซึ่งยังครองส่วนแบ่งการใช้งานมากที่สุด ตามมาด้วย Instagram แอพพลิเคชั่นแชร์ภาพที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่มาเป็นอันดับสามกลับเป็นแอพฯ น้องใหม่ซึ่งยังอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักนั่นคือ Snapchat
โลกออนไลน์ยุคใหม่ ยิ่งแชร์ยิ่งเสี่ยง!
การมีปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของใครหลายคนไปเสียแล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุใด แน่นอนว่ามันสามารถทำให้เรารับทราบความเป็นไปของเพื่อนฝูง คนที่เราแอบชอบ หรือเพจของแบรนด์ที่เราเป็นลูกค้าขาประจำ ขณะเดียวกันความรวดเร็วและความสามารถในการโต้ตอบกลับได้ทันทีของมันก็เชื้อเชิญให้เราแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวมากยิ่งกว่า ไม่ว่าจะด้วยการการโพสต์สถานะบอกเล่าสิ่งที่ตนพบเจอประจำวัน การเช็กอินสถานที่ที่เราไปเยี่ยมเยียน หรือการโพสต์ภาพและวิดีโอ จึงทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์กลายเป็นเหมือนกับไดอารี่บันทึกเรื่องราวในแต่ละวันสำหรับใครหลายคน
มีผู้เปรียบสื่อสังคมออนไลน์ยุคใหม่ว่าเป็นเหมือนกับ "สมุดบันทึกส่วนตัวที่วางอยู่บนทางเท้า" ที่แน่นอนว่าเจ้าของมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะบันทึกเรื่องราวใดๆ ลงไป แต่ด้วยเหตุที่มันวางอยู่บนพื้นที่สาธารณะก็อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่หวังดีเข้ามาเปิดอ่านหรือเหยียบย่ำได้ทุกเมื่อ ความเป็นจริงดังกล่าวสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกรณีคลิปหรือภาพหลุดคนดังที่แม้ว่าเจ้าตัวจะอ้างว่าโพสต์เล่นๆ ดูในหมู่เพื่อนฝูง แต่ก็ไม่วายถูกมือดีนำไปเผยแพร่ต่อ หรือจะเป็นกรณีพนักงานบริษัทต้องถูกไล่ออกเพราะไปโพสต์ความในใจด่าใครในที่ทำงานเข้า รวมทั้งกรณี "ดราม่า" ทั้งหลายที่มีให้อ่านแก้เซ็งได้ทุกวัน ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาจากธรรมชาติของเครือข่ายสังคมไลน์ส่วนใหญ่ ที่มักบันทึกเนื้อหาที่ผู้ใช้โพสต์ไว้บนเซิร์ฟเวอร์ในลักษณะกึ่งถาวรเพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปมาเสพได้ตลอดเวลา ความจริงอันน่าเจ็บปวดจึงเกิดขึ้น เมื่อเราต้องการแบ่งปันเนื้อหาให้กับเพื่อนฝูง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เนื้อหาทั้งหลายอยู่บนโลกออนไลน์อย่างถาวรรอใครที่หมั่นไส้มาใช้แบล็กเมล์
Snapchat แชร์ปุ๊บ หายปั๊บ
Snapchat บังคับให้ผู้ส่งต้องตั้งเวลาก่อนที่จะส่งภาพไปยังผู้รับ เมื่อเปิดดูเวลาก็จะนับถอยหลังก่อนที่ภาพจะหายไปอย่างถาวร
Snapchat คือแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน iPhone และ Android ที่รับการพัฒนาโดยอาศัยหลักการที่สวนทางกับเครือข่ายสังคมออนไลน์แทบทั้งหมด โดยแทนที่ตัวแอพฯ จะบันทึกเนื้อหาที่เราแชร์กับเพื่อนบน Dashboard เพื่อให้ดูได้ภายหลัง แต่กลับให้เราถ่ายภาพหรือวิดีโอพร้อมกับเลือกระยะเวลาที่ต้องการให้เนื้อหาดังกล่าวคงอยู่หลังจากที่เพื่อนเปิดดูแล้ว (ตั้งได้มากสุดไม่เกิน 10 วินาที) ก่อนที่จะหายไปตลอดกาล ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในเครื่อง ในคลาวด์ หรือหน่วยความจำใดๆ ทั้งสิ้น เชื่อหรือไม่ว่าหลักการง่ายๆ เพียงเท่านี้ทำให้ Evan Spiegel และ Bobby Murphy สองผู้ก่อตั้งได้รับเงินลงทุนครั้งล่าสุดมากถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นถึงอนาคตอันสดใสของท่ามกลางกระแสแอพฯ แชร์ภาพและวิดีโอใหม่ๆ ที่ออกมาให้เราเห็นแทบทุกสัปดาห์
แน่นอนว่าด้วยความที่ภาพและวิดีโอที่เราแชร์จะหายไปตลาดกาลนั้น แอพฯ ตัวนี้ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มวัยรุ่นตะวันตกที่นิยมแบ่งปันเนื้อหาประเภท Sexting หรือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ แต่ด้วยความที่ Snapchat กล่าวว่า มีผู้ใช้บริการของตนแชร์ภาพมากถึง 150 ล้านภาพต่อวัน เราคงไม่สามารถเหมารวมได้ว่าบริการนี้เป็นแหล่งซ่องสุมของวัยรุ่นกลัดมันอย่างเดียว และด้วยความนิยมเช่นนี้เองที่ทำให้ Mark Zuckerberg ต้องใจเต้นเป็นเจ้าเข้าถึงกับต้องปล่อยแอพฯ Poke ที่มีหลักการทำงานคล้ายกันออกมา
ด้วยความที่แชร์แล้วหาย Snapchat จึงมักถูกวัยรุ่นนำมาใช้แชร์ภาพที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเพศ
ถึงอยากแชร์ แต่ก็ต้องการความเป็นส่วนตัว
เป็นความจริงที่ว่ายิ่งเราแบ่งปันเนื้อหาของตัวเราเองมากเท่าใด ความเป็นส่วนตัวของเราก็มีแนวโน้มน้อยลงเท่านั้น Snapchat จึงเป็นเหมือนกับแอพฯ ในฝันที่เปิดโอกาสให้เราแชร์ภาพถ่ายหรือวิดีโออะไรก็ได้ในหมู่เพื่อนฝูงโดยไม่ต้องกลัวตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง นอกจากนี้ความเปิดกว้างของโลกออนไลน์ยังบีบบังคับให้เราต้องคิดก่อนทำหลายตลบ ไม่เว้นแม้แต่การโพสต์ภาพถ่ายของตนเองที่หลายคนต้องนำไปผ่านกระบวนการแต่งหน้าในแอพพลิเคชั่น เมื่อทุกคนในโลกออนไลน์ต่างมุ่งนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูดีเช่นนี้ โลกเสมือนจึงยังแตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริงอยู่วันยังค่ำ (และนับวันก็ยิ่งไม่น่าเชื่อถือขึ้นทุกที ฮา!) แต่แอพฯ นี้สามารถทลายข้อจำกัดดังกล่าวด้วยการให้เราแชร์กับผู้ที่เราต้องการโดยตรงได้ไม่ว่าภาพหรือวิดีโอจะดูแย่หรือเป็นโมเมนต์ที่น่าอับอายมากขนาดไหน
ที่สำคัญคือ Snapchat ยังเอื้อให้เกิดการสื่อสารที่เป็นธรรมชาติมากกว่า เพราะการสื่อสารด้วยคำพูด โดยเฉพาะการทักทายนั้น ย่อมเกิดขึ้นแล้วหมดไปภายในระยะเวลาอันสั้น คงมีน้อยคนที่ต้องการทราบยอดตอบกลับของทวีตสวัสดีตอนเช้าของตนเมื่อปีที่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การสื่อสารในบางกรณีก็ไม่ต้องการการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อาจจะด้วยวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร หรือด้วยความไม่เหมาะสมของภาวะแวดล้อมที่ไม่มีความเป็นส่วนตัวมากพอ Snapchat จึงเป็นแอพฯ ทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่อยากแชร์แต่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่าที่เครื่องมือกระแสหลักสามารถมอบให้
ระวังไว้ ช่องโหว่ยังมี!
ด้วยเหตุที่เป็นของใหม่ Snapchat จึงยังมีช่องโหว่อีกมากที่กำลังรอคอยการอุด เริ่มจากถึงแม้ว่าแอพฯ จะลบภาพทิ้งเมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้ แต่ผู้พัฒนาก็ย้ำเตือนว่าผู้รับสามารถเซฟภาพเก็บไว้ในเครื่องได้ด้วยวิธีจับภาพหน้าจอมือถือ ที่ผ่านมาจึงอาจยังมีข่าวภาพหลุดจากแอพฯ นี้ออกมาให้เห็นบ้าง แต่ผู้พัฒนาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะได้ปรับปรุงให้แอพฯ แจ้งเตือนไปยังผู้ส่งหากผู้รับจับภาพหน้าจอไว้ได้ทัน และที่ผมค้นพบเพิ่มเติมก็คือ แอพฯ เวอร์ชั่นล่าสุดบังคับให้ผู้รับต้องนำนิ้วจิ้มหน้าจอค้างไว้ตลอดเวลาเพื่อชมภาพ หากนำนิ้วออกภาพก็จะทำลายตัวเองทันที ที่เป็นเช่นนี้ก็เชื่อว่าผู้พัฒนาต้องการให้จับภาพหน้าจอยากขึ้นนั่นเอง
แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้ค้นพบว่าภาพที่ใช้ Snapchat ถ่ายนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ถูกทำลายไปไหน แต่กลับฝังตัวอยู่ในมือถือที่สามารถถูกขุดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ ฟังดูอาจน่ากลัว แต่กรรมวิธีนี้ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคขั้นสูงและต้องทำการแฮกตัวเครื่องเท่านั้น ไม่สามารถทำโดยใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมจากระยะไกลได้ อีกทั้ง Decipher Forensics หนึ่งในบริษัทที่อ้างว่าสามารถกระทำการดังกล่าวได้ก็ตั้งราคาค่าบริการไว้สูงมากราว 300-500 เหรียญสหรัฐ (ราว 9,000-15,000 บาท) ต่อเครื่อง จึงทำให้ผู้ที่ต้องการหาภาพที่ถูกลบโดย Snapchat ต้องลงทุนสูงสักหน่อย
ไม่ชัวร์อย่าแชร์
มีบทเรียนมากมายในปัจจุบันที่สอนให้เรารู้ว่าอย่าแชร์เนื้อหาใดๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการเข้าใจผิด ไม่ว่าจะเป็นจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีกลาย หรือขยับใกล้ตัวเข้ามาอีกก็เป็นกรณีภาพส่วนตัวได้รับการเผยแพร่โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องการ แม้ว่า Snapchat จะให้เราแชร์ภาพหรือวิดีโอระหว่างเพื่อนสนิทโดยมีโอกาสรั่วไหลน้อยมาก จึงมีประโยชน์มากเช่นเดียวกับโลกออนไลน์เปิดโอกาสให้เราทำสิ่งใดๆ ได้มากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เนื่องจากมันยังคงเป็นเครื่องมือที่มีช่องโหว่ ก็คงจะไม่มีวิธีป้องกันความผิดพลาดใดที่จะดีไปกว่าการตั้งสติให้มั่นและคิดถึงผลที่อาจตามมาก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์เนื้อหาใดลงไปครับ
Profile นักเขียน
falcon_mach_v-สรนาถ รัตนโรจน์มงคล
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 ชื่นชอบและติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็กและบ้าคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่จำความได้ แต่เนื่องจากชอบอ่านข่าวและบทความตามเว็บไซต์มากกว่านั่งเขียนโปรแกรมจึงได้ตัดสินใจเรียนด้านนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพรับราชการ และเป็นนักเขียนบทความไอทีอิสระให้กับสื่อต่างๆ