อนาคต "ยาฮู" ใต้ปีกซีอีโอหญิง 1 ปีผ่านไปอะไรเปลี่ยนแปลง

อนาคต "ยาฮู" ใต้ปีกซีอีโอหญิง 1 ปีผ่านไปอะไรเปลี่ยนแปลง

อนาคต "ยาฮู" ใต้ปีกซีอีโอหญิง 1 ปีผ่านไปอะไรเปลี่ยนแปลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หญิงเหล็กคุณแม่ลูกหนึ่ง "มาริสา เมเยอร์" อดีตผู้บริหารค่าย "กูเกิล" เข้ามารับตำแหน่ง "ซีอีโอ" บริษัทยักษ์วงการอินเทอร์เน็ตโลก "ยาฮู" ครบปีพอดี

"วอลล์สตรีต เจอร์นัล" รายงานว่า มูลค่าหุ้นของ "ยาฮู" พุ่งสูงขึ้นถึง 70% หลังจาก "มาริสา เมเยอร์" เข้ามานั่งเก้าอี้ "ซีอีโอ" เมื่อปีที่แล้ว แม้จะยังไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนนักว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในบริษัทแห่งนี้ตลอดขวบปีที่ผ่านมา

 

 

อย่างไรก็ตาม มูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ "มาริสา" พอมีช่วงพักหายใจสำหรับการปรับจุดยืนบริษัท เพื่อผลักดันการเติบโตของรายได้อย่างยั่งยืนในธุรกิจหลักด้านการโฆษณาออนไลน์ แม้การเดินกลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ยาฮูต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดของตัวเองไปในระหว่างนี้

นอกจากนี้ ยังมอบเวลาอันมีค่าให้ "ซีอีโอ" หญิงพิสูจน์ว่า บริษัทรายเล็กรายน้อยทั้งหลายที่ "ยาฮู" ไล่ซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมาสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมายังในระดับที่น่าพอใจได้หรือไม่ เพราะตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา "ยาฮู" ซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีเกิดใหม่ถึง 17 ราย รวมถึงเว็บบล็อกทัมเบลอร์ (Tumblr)

สำหรับผลตอบแทนในแง่เม็ดเงินที่ "ยาฮู" จะได้กลับคืนจากการซื้อบริษัทเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นภายในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน

เนื่องจากซื้อบริษัทหลายแห่งมาในห้วงที่กำลังอยู่ในช่วงตกที่นั่งลำบาก หรือไม่ก็มีพนักงานเพียงไม่กี่คนไม่ได้เริ่มสร้างรายได้จริงจัง สัญญาการซื้อขายจึงน่าจะนำประโยชน์มาให้ "ยาฮู" ในแง่ของการรวบรวมความสามารถด้านวิศวกรรมและทักษะการจัดการผลิตภัณฑ์เป็นหลัก

"มาริสา เมเยอร์" เป็นอดีตผู้บริหารในบริษัทเสิร์ชเอนจิ้นดัง "กูเกิล" มานานถึง 13 ปี จึงยังผลักดันกลยุทธ์ที่มุ่งไปยังการทำให้ "ยาฮู" หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก อันเป็นจุดยืนคล้ายคลึงกับ "กูเกิล"

แหล่งข่าวทั้งจากในและนอกองค์กรต่างแสดงความคิดเห็นว่า ขวัญกำลังใจของพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจัยหลักที่ทำให้มูลค่าหุ้นของ "ยาฮู" เพิ่มขึ้นมาจากการรับรู้มูลค่าสัดส่วนหุ้นของ "อาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิ้ง" บริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนที่ยาฮูถือหุ้น และกำลังจะเสนอขายหุ้นสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) บรรดานักลงทุนคงจับตามองผลประกอบการของ "ยาฮู" อย่างใกล้ชิดเพื่อวัดระดับผลประกอบการของ "อาลีบาบา" พร้อมกันไปด้วย โดยในแง่รายได้รวมของ "ยาฮู" เมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้นประมาณ 2% มีมูลค่ารวม 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการเติบโตที่น้อยกว่าบริษัทคู่แข่งรายอื่น

เมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา "ยาฮู" ประกาศผลประกอบการไตรมาสล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีผลประกอบการเป็นบวกและลบผสมกันในช่วงหนึ่งปีที่ "มาริสา" เข้ามารับตำแหน่ง "ซีอีโอ" โดยรายได้ช่วงไตรมาส 2 ลดลง 7% หากไม่นับเม็ดเงินที่บริษัทต้องจ่ายให้พาร์ตเนอร์ จะพบว่ารายได้ลดลงเพียง 1% เท่านั้น

ในส่วนรายได้จากการแสดง "โฆษณา" บนเว็บไซต์ "ยาฮู" ซึ่งกินสัดส่วน 40% ของรายได้รวมกลับถดถอยลง 12% โดยโฆษณาผ่าน "เสิร์ชเอนจิ้น" ลดลง 9% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่ารายได้ของยาฮูที่มาจากส่วนของโฆษณาน่าจะลดลง เพราะบริษัทเอเยนซี่โฆษณาหลายแห่งเคยให้ข้อมูลว่าพวกเขาไม่ได้โยกงบประมาณมาเพิ่มกับการลงโฆษณาใน "ยาฮู" มากนัก หรือบางรายถึงกับลดค่าใช้จ่ายด้วยซ้ำ

ขณะที่กำไรของบริษัทส่วนใหญ่ได้อานิสงส์มาจากผลประกอบการของ "อาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิ้ง" ที่ "ยาฮู" ถือหุ้นมากถึง 23.5%

"จอร์แดน โรฮาน" นักวิเคราะห์หุ้นในวงการอินเทอร์เน็ตมือเก๋า บริษัท สไตเฟล นิโคลอส แอนด์ โค แสดงความคิดเห็นว่า หลายคนไม่ได้ตั้งความหวังไว้สูงนักเกี่ยวกับเรื่องที่ "มาริสา เมเยอร์" จะสามารถหันหัวเรือของยาฮูได้ และเธอคนนี้เป็นซีอีโอคนที่ 6 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่บริษัทคู่แข่งอย่าง "กูเกิลและเฟซบุ๊ก" ต่างเดินหน้าแซงยาฮูไปไกลแล้วในอุตสาหกรรมโฆษณาออนไลน์

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารของ "ยาฮู" ยังถกกันด้วยว่า ควรให้บริษัทเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ "มาริสา" เข้ามาถือหางเสือบริษัท ภาพลักษณ์ของ "ยาฮู" ในซิลิกอนวัลเล่ย์ดีขึ้นถนัดตา พนักงาน "ยาฮู" ให้สัมภาษณ์ว่า การได้ทำงานที่ยาฮูไม่ใช่เรื่องน่าละอายอีกต่อไป "โฆษกหญิง" ของยาฮูกล่าวว่า มีจำนวนคนที่เข้ามา

สมัครงานกับบริษัทมากขึ้น และพนักงานก็อยู่กับบริษัทนานขึ้น สังเกตได้จากอัตราการเปลี่ยนพนักงานลดลงจากปีที่แล้วถึงครึ่งหนึ่ง

ช่วงที่ "มาริสา เมเยอร์" เข้ามารับตำแหน่ง คณะกรรมการบริหารของ "ยาฮู" ให้สัญญาว่า พวกเขาจะให้เวลาเธอ 2-3 ปีในการเปลี่ยนทิศทางบริษัท โดยเป้าหมายสูงสุดของเธอคือการทำให้ "ยาฮู" เป็นสิ่งจำเป็นที่คนทั่วไปต้องมีไว้ในโทรศัพท์มือถือของตัวเองให้ได้ ส่งผลให้เธอทุ่มความพยายามส่วนใหญ่ไปที่การปรับเปลี่ยน

รูปแบบแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นยาฮู เมล์, ยาฮู สปอร์ตาคูล่าร์ และแอปหลักที่รวมทุกอย่างของเว็บไซต์ยาฮู

ข้อมูลจากบริษัทโอนาโว่ โมบาย ผู้ผลิตแอปบนไอโฟนและมีผู้ใช้เป็นจำนวนหลายล้านคน ระบุว่าเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีผู้ใช้ไอโฟน 16% ที่ใช้แอปของยาฮูเพิ่มขึ้นจาก 8% ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แม้การเติบโตเทียบไม่ได้กับอัตราการใช้งานแอปของบริษัทคู่แข่ง เช่น เฟซบุ๊ก, กูเกิล และทวิตเตอร์ในเดือนมิถุนายนถึง 80%, 69% และ 31% ตามลำดับ

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ยาฮูหวังใช้เพื่อให้คนมองเห็นแอปของตนบนโทรศัพท์มือถือมากขึ้นคือการเข้าไปพูดคุยกับ "แอปเปิล" เพื่อติดตั้งบริการของ "ยาฮู" ลงในผลิตภัณฑ์ของตัวเองก่อนวางจำหน่าย แต่ยังไม่มีสัญญาณออกมาว่า "แอปเปิล" ยินดีทำตามหรือไม่

หลายฝ่ายมองว่า กลยุทธ์การเข้าซื้อบริษัท "ทัมเบลอร์" เพื่อหวังใช้จับกลุ่มผู้ใช้งานอายุน้อยในระยะยาวเป็นการเดิมพันที่ค่อนข้างเสี่ยง นักวิเคราะห์บางคนมองว่า มูลค่าของ "ทัมเบลอร์" อยู่ในช่วงขาลงมากกว่าขาขึ้น ขณะที่ "มาริสา" เน้นพัฒนาบริการบนเว็บไซต์ เช่น เพิ่มฟังก์ชั่นด้านการปรับแต่งส่วนบุคคล เป็นต้น

แต่ส่วนแบ่งตลาดโฆษณาออนไลน์ของบริษัทยังหดตัวลงต่อเนื่อง โดยบริษัทวิจัย "อีมาร์เก็ตเตอร์" ระบุว่า ปีนี้แชร์ของยาฮูในตลาดโฆษณาออนไลน์ทั่วโลก (มูลค่ารวม 117,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) น่าจะอยู่ที่ 3.1% ลดลงจาก 3.4% จากปีที่แล้ว

"มาริสา" เคยกล่าวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ปัญหาใหญ่ของ "ยาฮู" ขณะนี้คือความประทับใจและอัตราการใช้งานของผู้ใช้ วิธีที่จะเพิ่มรายได้ให้บริษัทได้

คือการเพิ่มอัตราการใช้งาน หรือไม่ก็เพิ่มอัตราค่าบริการ ซึ่งยาฮูประสบความสำเร็จเรื่องการเพิ่มอัตราค่าบริการ และสิ่งที่จำเป็นต้องทำคือเพิ่มอัตราใช้งาน

นอกจากนี้ "เธอ" ยังตัดสินใจยุติโครงการทำงานทางไกลของ "ยาฮู" ที่มีอายุเนิ่นนานพอควร โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ได้ประโยชน์จากวิสัยทัศน์ และการที่พนักงานเข้ามาทำงานด้วยกันอย่างเต็มที่

"มาริสา" เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ "ยาฮู" เป็นทางการวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 คล้อยหลังวันที่เธอประกาศว่าตั้งครรภ์เพียง 1 วัน จากนั้น "ยาฮู" ก็เดินหน้าสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขายหุ้นบางส่วนที่ถืออยู่ใน "อาลีบาบา", การออกข้อห้ามไม่ให้พนักงานทำงานที่บ้าน, การทุ่มทุน 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อเว็บบล็อก "ทัมเบลอร์" และล่าสุดปรับรูปลักษณ์หน้าเว็บไซต์ของตนหลายแห่ง รวมถึงเว็บไซต์แบ่งปันรูปภาพ "ฟลิกเกอร์ (Flickr)"

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ อนาคต "ยาฮู" ใต้ปีกซีอีโอหญิง 1 ปีผ่านไปอะไรเปลี่ยนแปลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook