ออมสิน ให้กู้ตกงาน

ออมสิน ให้กู้ตกงาน

ออมสิน ให้กู้ตกงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธนาคารออมสิน ทุ่มสุดตัว ปลายมี.ค. ออก 2 โครงการช่วยเหลือคนตกงานและผู้ประกอบการ

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนมี.ค. นี้จะเปิดตัว 2 โครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อคนตกงาน และบริการ แฟกตอริง โดยทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างการวางกรอบและเงื่อนไขในการให้บริการ


สินเชื่อ สำหรับคนตกงานหรือถูกปลดออกจากงาน จะอยู่ภายใต้โครงการธนาคารประชาชน แต่จะเพื่อเงื่อนไขพิเศษสำหรับคนตกงานโดยเฉพาะ เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถขอสินเชื่อไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ค้ำประกัน ในวงเงินรายละไม่เกิน 1 แสนบาท ขณะเดียวกันยังปรับเพิ่มวงเงินกู้เริ่มต้นสำหรับลูกค้ารายใหม่ จาก 3 หมื่นบาท เป็น 5 หมื่นบาท

ทั้งนี้ เมื่อปี 2551 มีประชาชนมาขอสินเชื่อในโครงการธนาคารประชาชน 1.7 แสนราย และคาดว่าในปี 2552 จะมีประชาชนมาขอสินเชื่อในโครงการดังกล่าว 2.5 แสนราย

"แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ไม่เป็นห่วงว่าสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนจะกลายเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพราะธนาคารออมสินมีระบบการติดตามที่ดี ทำให้ปัจจุบันโครงการนี้มีเอ็นพีแอลเพียง 7-8% ของสินเชื่อคงค้างเท่านั้น" นายเลอศักดิ์ กล่าว

สำหรับการให้บริการแฟกตอริง หรือบริการรับซื้อบัญชีลูกหนี้การค้าเพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการให้สินเชื่อ โดยตั้งวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาท

นายเลอศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2552 ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อสุทธิ 5.6 หมื่นล้านบาท โดยยังคงรักษาสัดส่วนลูกค้ารายย่อยไว้ที่ 80-85% และเพิ่มเงินฝากอย่างน้อย 3.5 หมื่นล้านบาท โดย 66% เป็นเงินฝากประจำ

"ธนาคารออมสินมีสัดส่วนเงินฝากประจำมากกว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีประมาณ 50% ทำให้มีต้นทุนเงินฝากเฉลี่ย 2.3% สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ธนาคารออมสินยังมีต้นทุนแฝงในการดูแลสังคมและพนักงานเกษียณประมาณ 1.7-1.8% ขณะที่มีรายรับเฉลี่ย 5.5% เพราะฉะนั้นธนาคารมีส่วนต่างดอกเบี้ยเท่ากับ 1.5% เท่านั้น" นายเลอศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ในปี 2551 มีสัดส่วน เอ็นพีแอลเพียง 3.31% ของสินเชื่อรวม ซึ่งคาดว่าในปี 2552 จะสามารถปรับลดลงต่ำกว่า 3% ได้ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร โดยมีแผนที่จะตั้งฝ่ายงานบังคับคดีเพื่อดูแลสินทรัพย์ที่ได้จากการบังคับคดี

นอกจากนี้ นายเลอศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีของบริษัท การบินไทย ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากการบินไทย ซึ่งหากได้รับการติดต่อมาจะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ

"ถ้าต้องรักษาสัดส่วนลูกค้ารายย่อยไว้ประมาณ 85% เพราะฉะนั้นถ้าให้สินเชื่อ กับการบินไทยแล้วจะนำเงินไปช่วยเหลือกิจกรรมอย่างอื่น เช่น การจำนำข้าว ธนาคารยังคงบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" นายเลอศักดิ์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook