ศึกรัสเซีย-ยูเครน กระทบอาหารสัตว์จ่อหยุดไลน์ผลิต เหตุไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน

ศึกรัสเซีย-ยูเครน กระทบอาหารสัตว์จ่อหยุดไลน์ผลิต เหตุไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน

ศึกรัสเซีย-ยูเครน กระทบอาหารสัตว์จ่อหยุดไลน์ผลิต เหตุไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำระดับราคาอาหารพุ่งทั่วโลกรวมถึงไทย สัญญาณส่อเค้ารุนแรง เหตุขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างหนัก เมื่อผนวกอุปสรรคจากมาตรการรัฐยิ่งปิดตายโรงงาน หลายแห่งเริ่มหยุดไลน์การผลิต คาดปริมาณอาหารสัตว์ปีนี้จะลดลง 4 ล้านตัน กระทบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ส่งผลปริมาณเนื้อสัตว์ในตลาดลดลง และไทยอาจไม่สามารถส่งออกอาหารให้ลูกค้าต่างประเทศได้ตามออเดอร์

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า ในฐานะต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหารได้เห็นภาพรวมของสถานการณ์สงครามยูเครน ที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตอาหารของประเทศ ตั้งแต่ระดับราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ไปจนถึงมาตรการรัฐของไทยที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการจัดหาวัตถุดิบ

ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก เมื่อเกิดสงครามทำให้ระดับราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นทันที เป็น 12.75 บาทต่อกิโลกรัม จากราคา 8.91 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2564 ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย พุ่งสูงกว่าตลาดโลกไปอยู่ที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 15 บาทต่อกิโลกรัม แม้จะราคาแพงขนาดไหน แต่ก็ไม่มีผลผลิตข้าวโพดออกสู่ตลาดแล้ว จากความต้องการใช้ข้าวโพดทั้งหมด 7.98 ล้านตัน ยังขาดแคลนถึง 3.18 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบทดแทน ซึ่งได้แก่ “ข้าวสาลี” ที่กำลังมีราคาพุ่งสูงสุดจากสงครามดังกล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาจะสูงเพียงใดก็ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีมาได้ เนื่องจากมีอุปสรรคจากมาตรการ 3:1 ที่รัฐบังคับให้ต้องซื้อผลผลิตข้าวโพด 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน แต่ประเด็นคือไม่มีข้าวโพดในประเทศให้ซื้อแล้ว จึงทำให้โรงงานอาหารสัตว์ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้

“เมื่อไม่มีข้าวโพดในประเทศให้ซื้อ 3 ส่วนเพื่อนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วนตามเงื่อนไข 3:1 จึงเท่ากับเป็นการบล็อกกระบวนการผลิตของโรงงานอาหารสัตว์ไปโดยปริยาย เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน ล่าสุด โรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลือง อ้างผลกระทบจากสงครามยูเครนประกาศราคาขายกากถั่วเหลืองที่ 22.50 บาทต่อกิโลกรัม จากราคา 18.91 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2564 เท่ากับปิดทางเดินต่อของโรงงานอาหารสัตว์ทันที โดยที่ยังไม่รวมต้นทุนค่าขนส่งจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น” นายพรศิลป์กล่าว

มาตรการรัฐอีกข้อคือการควบคุมบังคับไม่ให้อาหารสัตว์ขายได้ในราคาตามกลไกตลาด เป็นเหตุให้ราคาขายไม่สอดคล้องต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นรอบด้าน ไม่เพียงเท่านั้น รัฐยังคงมีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากถั่วเหลืองที่ 2% เป็นภาระต้นทุนซ้ำเติมโดยใช่เหตุ ทั้งๆ ที่การงดภาษีนี้ไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองแต่อย่างใด

เมื่อไม่สามารถหาวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์ได้หรือแม้จะหามาผลิตได้แต่ก็ต้องขายในราคาขาดทุน ดังนั้น ทางออกของสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหลายแห่ง จึงจำเป็นต้องทยอยลดกำลังการผลิตและปิดไลน์การผลิตอาหารสัตว์ลงบางส่วน

“สมาพันธ์ฯ ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลแล้วหลายครั้ง ทั้งที่ผ่านกระทรวงพาณิชย์และทำหนังสือด่วนที่สุดถึงท่านนายกรัฐมนตรี เนื่องจากกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงรอบด้านจากสถานการณ์นี้ การผลิตอาหารสัตว์ในแต่ละปีที่มีประมาณ 22 ล้านตัน เป็นไปได้ที่ปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 17-18 ล้านตัน หรือหายไปกว่า 4 ล้านตัน” นายพรศิลป์กล่าวและว่าการลดลงของอาหารสัตว์หลายล้านตันเช่นนี้ จะส่งผลต่อเนื่องไปทั้งห่วงโซ่ปศุสัตว์ นั่นคือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไม่มีอาหารเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจำเป็นต้องพักเล้างดการเลี้ยง กระทบปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทั้งเพื่อผู้บริโภคในประเทศและส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของชาติ

“ท่ามกลางกระแสสงครามยูเครนที่กำลังเกิดขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้น แต่ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก กลับต้องชะลอปริมาณการผลิตอาหารเพราะอุปสรรคจากมาตรการรัฐ ก็ได้แต่หวังว่า ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเร่งแก้ปัญหานี้โดยด่วนที่สุดตามที่สมาพันธ์ฯได้เสนอผ่านหนังสือถึงท่านไปแล้ว ก่อนจะเกิดวิกฤตอาหารซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศ” นายพรศิลป์กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook