จับตา ศึกรัสเซีย-ยูเครน หากยืดเยื้อกระทบต่อธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กระทั่งนำไปสู่มาตรการตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศ
สำหรับผลกระทบของไทยนั้นในขณะนี้คือ ราคาน้ำมัน ยิ่งสถานการณ์มีความตึงเครียด ยิ่งส่งให้ต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนด้านธุรกิจ ราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมาก ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีความผันผวนสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนอาจย้ายไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย
ส่วนลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ของธนาคารที่ค้าขายกับคู่ค้าในรัสเซีย และยูเครน ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับการเกษตร อุปกรณ์ก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าขายกับคู่ค้าในรัสเซีย และยูเครนมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมด โดยธนาคารได้ติดตามสถานการณ์ระหว่างยูเครน และรัสเซียอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้คำแนะนำกับลูกค้า ให้ระมัดระวังการทำธุรกรรมการค้าต่างประเทศกับทั้ง 2 ประเทศในช่วงนี้ เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน กรณีมีการนำเข้า-ส่งออก หรือธุรกรรมโอนเงินกับทั้ง 2 ประเทศ อาจมีความเสี่ยงได้รับเงินล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าที่อยู่ในไทย รัสเซีย หรือยูเครน
สิ่งที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์ดังกล่าวจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศ จะนำมาใช้กับรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ และตลาดเงินของรัสเซีย รวมถึงผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในยุโรป สถาบันการเงินและภาคธุรกิจของยุโรปที่มีสัดส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจในรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้การค้าระหว่างไทย-รัสเซีย-ยูเครน มีอุปสรรคในการทำธุรกรรมทางการเงิน
ทั้งการหาธนาคารรับรองการเปิดบัญชีธุรกิจข้ามชาติ (แอล/ซี) การชำระเงิน และการโอนเงินต่างๆ หากสถานการณ์พลิกผันไปสู่สงครามที่ขยายวงกว้าง เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะหดตัว และเกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงจากราคาพลังงานที่พุ่ง แต่เชื่อว่าหลายฝ่ายมีความพยายามที่จะเจรจาให้มีข้อยุติโดยเร็ว โดยธนาคารกสิกรไทยจะเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของลูกค้า และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับข้อมูลการส่งออกของไทยไปยังรัสเซีย และยูเครน พบว่าเมื่อปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังรัสเซียราว 1,028 ล้านดอลลาร์ เติบโตถึง 42% โดยการส่งออกของรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 0.4% ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลก ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, เม็ดพลาสติก และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น โดยสินค้าหลายรายการเป็นการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ที่ไทยได้รับจากกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ CIS (Commonwealth of Independent States มีสมาชิก 12 ประเทศ รวมรัสเซีย)
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังยูเครนในปี 2564 พบว่ามีมูลค่าราว 135 ล้านดอลลาร์ เติบโต 35.7% เช่นกัน แต่สัดส่วนยังน้อยมาก โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ รถยนต์ และชิ้นส่วน, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น