ข่าวดี! ผู้ประกันตน ครม. เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ
ประกันสังคมมาตรา 33 ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ได้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยมีการปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ การให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน หรือนำไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม, การปรับสิทธิประโยชน์คลอดบุตร, ทุพพลภาพ เป็นต้น
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. .....ฉบับนี้ได้แก่
- การขยายความค้มครองให้ผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้
- การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก) ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)
- การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่ายร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน
- ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย
- แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง
- การแก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้ จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ รวมทั้งเป็นการจัดรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมรองรับสังคมสูงอายุอีกด้วย