กอบศักดิ์ เตือนรับมือมรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ในรอบ 80 ปี

กอบศักดิ์ เตือนรับมือมรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ในรอบ 80 ปี

กอบศักดิ์ เตือนรับมือมรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ในรอบ 80 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "Perfect Storm" คำที่ไม่อยากพูดถึง แต่จากสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นคงยากที่จะหลีกเลี่ยง และต้องยอมรับความจริง เพื่อเตรียมรับมืออย่างเหมาะสม โดยล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว MD หรือ กรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประะเทศได้ออกมาพูดที่ World Economic Forum ว่า โลกกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ท้าทายที่สุด นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้านับไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ ท้าทายสุดในรอบ 80 ปี! สอดรับกับผู้นำขององค์กรระดับโลกต่างๆ เช่น UNCTAD องค์การการค้าโลก สถาบันการเงิน นักวิชาการชั้นนำของโลก ที่ออกมาเตือนเป็นเสียงเดียวกันว่า มรสุมเศรษฐกิจกำลังก่อตัว Perfect Storm กำลังมา เรากำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของเศรษฐกิจ ที่ไม่ง่าย โดยมรสุมลูกนี้ เริ่มจาก 3 ทวีป

ทวีปยุโรป สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้นำไปสู่

  • วิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ (Geopolitical Crisis) ที่อะไรก็เกิดได้ ถ้ายังไม่ยอมหยุดกัน ซึ่งปัญหานี้กำลังยกระดับขึ้นเป็นการแบ่งขั้วทางการเมือง ตลอดจนการแยกส่วนของระบบเศรษฐกิจโลก ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
  • วิกฤตราคาพลังงาน ที่ราคาน้ำมันโลกในปัจจุบันอยู่ที่ 110-120 ดอลลาร์/บาเรล กดดันให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงในประเทศต่างๆ อย่างในไทย เราเริ่มเห็นราคาน้ำมันที่ 50 บาท/ลิตรแล้ว
  • วิกฤตอาหารโลก ที่กระทบคนนับเป็นร้อยล้านคน และอาจนำไปสู่การประท้วง รวมถึงวิกฤตเชิงสังคมและการเมืองในประเทศต่างๆ

ทวีปอเมริกา จากความผิดพลาดของเฟดในการประเมินผลกระทบจากโควิด ทำให้เฟดมือหนัก ใส่ยากระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปมากกว่าควร ทั้งในเรื่องดอกเบี้ยและในเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จึงมีปัญหาในการควบคุมเงินเฟ้อ จนต้องมาวิ่งไล่ปัญหาอยู่ในขณะนี้ นำไปสู่

  • วิกฤตความผันผวนในตลาดการเงินโลก ที่หลายเดือนที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ผันผวนแปรปรวน เหวี่ยงไปมา ทั้งในส่วนของ ราคาหลักทรัพย์ พันธบัตร คริปโต ค่าเงิน ทำให้ฟองสบู่ที่พองขึ้นมากในช่วงโควิด ยุบตัวลงมา สร้างความเสียหายให้กับทุกคน อย่างกว้างขวาง
  • โอกาสที่จะเกิด Recession ในสหรัฐและประเทศต่างๆ ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ จากดอกเบี้ยของเฟดที่จะต้องขึ้นไป จนสูงพอที่จะปราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัด และยิ่งวิกฤตในยุโรปไม่ยอมจบ หรือลุกลาม ปัญหาเงินเฟ้อก็จะยิ่งยืดเยื้อ และทำให้เฟดต้องใช้ยาแรงยิ่งขึ้น
  • โอกาสการเกิด Emerging Market Crisis ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่ในขณะนี้ เราเริ่มเห็นประเทศเล็กๆ ซึ่งอ่อนแอ เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน กำลังเผชิญกับวิกฤต และปัญหานี้กำลังลุกลามไปทดสอบประเทศอื่นๆ เช่น เนปาล จากการที่นักลงทุนพยายามหาว่า "ใครจะเป็นรายต่อไป" โดยทั้งหมดเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ เฟดเพิ่งจะเริ่มการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง และยังไม่ได้ดึงสภาพคล่องกลับ

ทวีปเอเชีย จากจีนที่มีปัญหาความเปราะบางจากฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สะสมตัวมาเป็นเวลาหลายสิบปี และเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เริ่มต้นจาก Evergrande และลุกลามไปบริษัทอื่นๆ ทำให้จีนต้องเข้าสู่โหมด Clean up ที่จะต้องใช้เวลา 1-2 ปี ในการจัดการให้ทุกอย่างเข้าที

ปัญหานี้ทำให้เศรษฐกิจจีน ซึ่งปกติจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเศรษฐกิจโลก ชะลอตัวลงมาก (กระทบต่อการขยายตัวของโลก ของสหรัฐ และของทุกคน ในช่วงที่ทุกคนอ่อนแอ) ทั้งยังมีโอกาสที่จะลุกลามบานปลาย กลายเป็นวิกฤตเต็มรูปแบบในจีนได้ หากจัดการไม่ดี

พร้อมกันนั้น การต่อสู้กับโควิดของจีน โดยใช้นโยบายที่เข้มงวด ทยอยปิดเมืองสำคัญต่างๆ เพื่อให้บรรลุถึงนโยบาย Zero-Covid กำลังกระทบต่อการนำเข้า การส่งออก และห่วงโซ่การผลิตของโลก อย่างมีนัยยะสำคัญ

ปัญหาในสามทวีปนี้ กำลังซ้ำเสริมซึ่งกันและกัน เหมือนกับพายุไต้ฝุ่น/พายุเฮอริเคน 3 ลูกที่กำลังผสานกันเป็นเนื้อเดียว นำไปสู่ Perfect Storm ที่อยู่ข้างหน้าเราในขณะนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook