ทางรอดจากวิกฤต Perfect Storm มรสุมเศรษฐกิจรอบใหม่มีวิธีตั้งรับอย่างไร
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊ก ทางรอดจากวิกฤต Perfect Storm ทุกวิกฤต ไม่กระทบทุกคนเท่ากันมีคนได้ คนเสีย มีคนรอด มีคนล้ม
สำหรับวิกฤต Perfect Storm ที่กำลังก่อตัวจากปัญหาในยุโรป สหรัฐ และจีน ก็เช่นเดียวกัน กำลังเปิดโอกาสบางอย่างให้เราหยิบฉวย และยังมีเวลาพอ ให้เราเตรียมการเพื่อก้าวข้ามความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า
1. จะเกิดอะไรขึ้นในช่วงต่อไป?
ความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและสหรัฐ จะนำมาซึ่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และราคาอาหารโลก
เพราะสิ่งที่เกิดในรอบนี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งปกติ แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของดุลอำนาจโลก ที่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่กำลังเล่นเกมแรง เอาอนาคตเป็นเดิมพัน รุกไล่รัสเซียให้โดดเดี่ยว จนมุม ไม่สามารถเป็นคู่แข่งของตนได้ในอนาคต
ล่าสุด เมื่อคืนนี้ สหภาพยุโรปประกาศ Sanctions รอบใหม่ ที่จะห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย (ทางเรือ) และจะลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไป 90% ในช่วงปลายปี
ทั้งหมด จะกระทบต่อราคาพลังงานโลกให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
แต่ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกัน ก็คือ ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตร เพราะว่ารัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยยูเรียอันดับหนึ่งของโลก ที่ประมาณ 13-14% ของตลาด และ รัสเซียกับเบลาลุส (รวมกัน) เป็นผู้ส่งออกโปแตสอันดับหนึ่งของโลก ที่ประมาณ 40-41% ของตลาด
เมื่อราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรสูงยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ก็จะไม่จบง่าย เพิ่มดีกรีความรุนแรงให้กับ "สงครามกับเงินเฟ้อ" ของเฟดและธนาคารกลางประเทศต่างๆ ไปอีกระดับ
เพราะสิ่งที่สำคัญกับธนาคารกลางเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อ Peak แล้ว ไม่ขึ้นต่อ แต่เงินเฟ้อต้องลงมา และต้องลงมาที่เป้าหมาย 2% หรือ 3% แล้วแต่ละประเทศ
มีนัยยะว่า ดอกเบี้ยนโยบายต้องขึ้นไปสูงพอสมควร สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ เพื่อจัดการปัญหาเรื่องนี้ รวมหมายถึง การเร่งดูดสภาพคล่องกลับ ทั้งหมดนี้ จะสร้างความผันผวน แปรปรวนให้กับตลาด เหวี่ยงขึ้นลงไปมา ระหว่างที่ตลาดเดาใจว่า Next move ของธนาคารกลาง คืออะไร และนักลงทุนจะอ่อนไหวต่อคำพูดของบางคน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งด้านบวกและลบ
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ฟองสบู่ที่เคยพองโตขึ้นในช่วงโควิด เช่น Dow Jones, Nasdaq, ราคาพันธบัตร, ราคาคริปโต ก็ได้แฟบลงมาพอสมควร
ล่าสุด ฟองสบู่ตลาดอสังหาของสหรัฐก็กำลังเริ่มออกอาการเช่นกัน ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่จะขึ้นสูงเพื่อสู้เงินเฟ้อ จะนำมาซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ ในที่สุด และอาจจะนำไปสู่ภาวะถดถอยหรือ Recession ใน 1-2 ปีข้างหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น Emerging Markets หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ ที่กู้ยืมเงินมามาก ตั้งแต่ก่อนโควิดและระหว่างโควิด ก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงคับขัน และอาจเข่าอ่อน กลายเป็นวิกฤต เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน และอาจลุกลามไปอีกหลายๆ ประเทศ
เมื่อนักลงทุนได้โจมตีประเทศเล็กๆ เรียบร้อยหมดแล้ว ก็จะค่อยๆ มองหาประเทศที่ใหญ่ขึ้น ภายใต้คำถามว่า "Who is next?" หรือ เหยื่อรายต่อไปจะเป็นใคร ทั้งหมดนี้อาจทำให้ Emerging markets ทั้งกลุ่ม อยู่ภายใต้แรงกดดันจากการโจมตีของนักลงทุนเหล่านี้ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
ท้ายสุด สิ่งที่จีนกำลังเผชิญอยู่ ปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัญหาภายในที่สะสมมาหลายสิบปี ก็จะต้องใช้เวลาในการแก้ไข จากประสบการณ์จากประเทศต่างๆ พบว่า อย่างน้อยๆ เศรษฐกิจจีนจะไม่ค่อยโตไปอีกระยะ และคงต้องใช้เวลา 2-3 ปีขึ้นไป ในการล้างหนี้เสียต่างๆ ให้เรียบร้อย (ไม่ต่างจากไทยหลังปี 1997 และสหรัฐหลังปี 2008)
การที่จีนซึ่งเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โตไม่ได้ จะซ้ำเติมให้ผลกระทบจาก "สงครามในยุโรป" และ "สงครามกับเงินเฟ้อ" แย่ลงไปจากเดิม ก็ได้แต่หวังใจว่า จะมีสิ่งมาช่วยให้ทั้งหมดไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแต่เบากว่าที่คาดไว้ เพราะครั้งนี้ ถ้าไม่มีใครเปลี่ยนใจ ไม่มีใครถอย ในยุโรป ทุกอย่างก็จะเป็น Slow motion train wreck หรือรถไฟที่เบรกแตกรอชนกำแพง
2. ถ้าเป็นเช่นนี้ โอกาสของเราอยู่ตรงไหน ?
โอกาสของไทยมีอยู่หลายจุด
ภาคเกษตร - ในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรให้กับโลก รวมไปถึงเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เราจะได้รับประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ล่าสุด ราคาปาล์ม ราคายาง ดีเป็นพิเศษ ก็ช่วยให้ภาคใต้ของเรา ภาคเกษตรของเราไปได้ดีขึ้น การส่งออกอาหาร จะเป็นอีกอย่างที่ทุกประเทศต้องการจากเรา โดยเฉพาะในยุคข้าวยากหมากแพง และในยุคที่หลายๆ ประเทศกำลังห้ามการส่งออกอาหารเพื่อปกป้องประชาชนของเขาเอง
ภาคท่องเที่ยว - ในฐานะพื้นที่ที่สงบสุดในโลก และการเปิดประเทศที่จะเอื้ออำนวย ไทยก็จะเป็นจุดหมายต้นๆ ในการกลับมาของนักท่องเที่ยว ล่าสุด ตลาดอสังหาฯ ที่ภูเก็ต ปีนี้ยอดขายคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50% จากการซื้อของคนยุโรป รัสเซีย และสหรัฐ ที่หาบ้านหลังที่สอง หลบร้อนมาหาเย็น
ภาคการลงทุน - ความขัดแย้งเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐ-รัสเซีย ระหว่างสหรัฐ-จีน ที่กำลังลุกลามบานปลาย จะส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากต้องมองหาพื้นที่ใหม่ในการลงทุน ซึ่งหมายความว่าอาเซียนจะเป็นจุดการลงทุนที่น่าสนใจที่สุดในโลกในช่วงต่อไป
ยิ่งอินเดียยังสั่งซื้อสิ่งต่าง ๆ จากรัสเซีย ยังคงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียเอาไว้ อาเซียนก็จะยิ่งดูโดดเด่นยิ่งขึ้น ในสายตาของนักลงทุนที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจเอเชีย ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ส่วนจะได้มากได้น้อยก็จะอยู่กับฝีมือในการจับปลาของเรา
3. แล้วเราต้องเตรียมการอย่างไร เพื่อรับมือกับ Perfect Storm ?
ยามที่มีโรคระบาด เราต้องสุขภาพดี ยามที่ฝนจะมา เราต้องหาเสื้อมากันฝน ยามที่พายุไต้ฝุ่นเข้า ชาวประมงต้องรู้จักหลบอยู่บ้าน ใช้เวลาเตรียมการซ่อมแหอวน พร้อมหยิบฉวยโอกาสจับปลาหลังจากนั้น ซึ่งจะมีปลามากมายรออยู่
เรื่องแรกที่ต้องทำ คือ การบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงาน ซึ่งในส่วนนี้ คงต้องช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ที่กว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นให้ทันกับเงินเฟ้อก็ต้องอีกระยะหนึ่ง โดยสำหรับพนักงานปกติ ก็คงต้องต้นปีหน้า
อย่างไรก็ตาม จากความยืดเยื้อของวิกฤตในยุโรป ราคาพลังงานโลกอาจจะสูงไป 1-2 ปี รัฐคงสามารถช่วยพยุงราคาได้เพียงระยะหนึ่ง แล้วคงต้องค่อยๆ ปล่อยให้เพิ่มเป็นขั้นบันได (ชะลอไว้ได้มากที่สุด ก็ปลายปี) เพราะไม่เช่นนั้น หากฝืนเอาไว้ เมื่อรัฐหมดเงิน ไปปล่อยทีเดียว ก็จะช็อคระบบ แล้วจะเสียหายมาก
เรื่องที่สองที่ต้องทำ คือ "สร้าง Momentum ให้เศรษฐกิจไทย" เพื่อให้มีกำลังพอ ที่จะสามารถผ่านวิกฤตลูกนี้ไปให้ได้ การหยิบฉวยโอกาสต่างๆ ที่เปิดขึ้น ในภาคเกษตร ในภาคท่องเที่ยว ในภาคการลงทุน จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ และเป็นภูมิคุ้มกันภัยให้กับประเทศ
ราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ จะช่วยคนไทยในภาคเกษตรประมาณ 20 ล้านคน แต่สิ่งที่รัฐต้องช่วยทุกคน ก็คือ การเตรียมการเรื่องปุ๋ย ที่ราคาแพงและอาจขาดแคลนในอนาคต
หากทำได้ คน 1/3 ของประเทศ ก็จะได้ประโยชน์จากวิกฤต Perfect Storm
ภาคท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ไม่มีใครมาเที่ยวไทยกว่า 2 ปี ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการฟันฝ่าปัญหารอบนี้ ภาคท่องเที่ยวโดยรวม มีขนาดประมาณ 15% ของ GDP จ้างงานคนที่เกี่ยวเนื่องนับ 10 ล้านคน
ส่วนที่เป็นการเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ มีขนาดประมาณ 2/3 หรือ 10% ของ GDP ที่หายไปมา 2 ปีกว่าๆ ถ้าเราพลิกฟื้นมาได้ 20-30% ก็จะหมายความว่า GDP ของไทยปีนี้ จะขยายตัวได้เพิ่มจากส่วนอื่นๆ อีก 2-3%
ล่าสุด ตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดือนพฤษภาคม ที่ประมาณ 5 แสนคน มีนัยยะต่อไปว่า โรงแรมต่างๆ เริ่มที่จะเรียกพนักงานกลับมา และช่วงของการฟื้นตัวของภาคนี้กำลังมาถึง
สอดรับกับภาพของสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังคึกคักขึ้นอย่างผิดหูผิดตา หากเราบุกเรื่องชวนคนมาเที่ยวไทยอย่างเต็มที่ ก็จะมีส่วนสำคัญในการสร้าง Momentum ให้เศรษฐกิจไทย ให้พร้อมที่จะเข้าไปสู่ช่วง Perfect Storm ต่อไป
โดยสองส่วนนี้ หมายความว่า คนภาคเกษตร 20 ล้านคน และคนภาคท่องเที่ยวอีก 10 ล้านคน ได้รับประโยชน์บางส่วนจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อรวมถึงการขับเคลื่อนเรื่องโครงการลงทุนใน EEC ที่อนุมัติไว้แล้ว การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การปลดแก้ไขกฏระเบียบต่างๆ เพื่อให้ต่างชาติมาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น ก็จะเป็นเม็ดเงินหนึ่งอีกส่วนหนึ่ง ที่มาช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย ช่วยให้พอจะเดินไปข้างหน้าได้
เรื่องสุดท้ายที่ต้องทำ คือ ปิดจุดอ่อน ทำให้ไทยไม่ดูอ่อนแอ เพราะสิ่งที่รออยู่ ใน 2 ปีข้างหน้า คือ วิกฤต Emerging Markets ที่ประเทศไทยต้องพยายามทำตัวให้ดี ให้แตกต่าง ไม่เป็นเป้าของการโจมตี ในช่วงดังกล่าว นักลงทุนจะพยายามหาว่าใครที่จะเป็นเป้าหมายถัดไป ใครจะเป็นประเทศที่ล้มรายต่อไป ซึ่งหัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ "การไม่ล่อเป้า"
ประเทศที่ไม่อยู่ใน Lists โจมตีของนักลงทุน คือ ประเทศที่มีฐานะการคลังไปได้ ไม่ขาดดุลจนเกินไป ไม่มีหนี้ภาครัฐมากจนเกินไป ดังนี้
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก หรือ ไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเกินไป
- เงินสำรองระหว่างประเทศพอเพียง
- สถาบันการเงินเข้มแข็ง
- บริษัทฐานะดี
- เศรษฐกิจยังขยายตัว
ถ้าประเทศไทยสามารถใช้ช่วงเวลาที่เหลือ สร้าง Momentum ให้กับเศรษฐกิจไทย ให้ยังขยายตัวได้ จากการดูแลภาคการเกษตร การโปรโมทเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้กลับคืนมาใน 2 ปีข้างหน้า ให้ได้สักครึ่งหนึ่งของอดีต (หรือ 15-20 ล้านคนต่อปี) เราก็จะดูดี ในสายตาของนักลงทุน
รายได้จากภาคเกษตรและภาคท่องเที่ยว จะช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น และ GDP ที่ขยายตัวจากส่วนนี้ จะช่วยให้หนี้ภาครัฐต่อ GDP ปรับลดลง ปิดจุดอ่อนของเราไปในตัว
ดังนั้น ในช่วงข้างหน้า เราคงต้องเลือกใช้เงินงบประมาณที่มีจำกัด ให้ไปสู่เรื่องที่สำคัญต่อความเป็นตายของประเทศ ทำให้เงินที่ออกไป 1 บาท มีค่ามากที่สุด ในเรื่องที่ใช่ที่สุด (โครงการอะไรที่เริ่มส่งผลน้อยแล้ว ก็เอาเงินส่วนนั้นมาให้กับโครงการที่ใช่ โครงการที่บรรเทาผลกระทบต่อประชาชน) ฐานะการคลังของเราก็จะดีขึ้นอีกด้านเช่นกัน
ส่วนภาคเอกชนก็สามารถช่วยในการฝ่าวิกฤตได้ โดยดูแลฐานะของตนเองให้อยู่ในระดับที่ดี ให้พร้อมที่จะรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราเตรียมการดีในช่วงเวลาที่พอมีอยู่ เราก็จะผ่านปัญหารอบนี้ไปได้ ถ้าเราไม่เตรียมการ เราอาจจะเอาตัวไม่รอด ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน