เครือสหพัฒน์ จ่อหารือกระทรวงพาณิชย์ขึ้นราคามาม่า หลังต้นทุนพุ่งแรง!
เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ระบุ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2 ปี ซ้ำเติมด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมามากกว่า 3 เดือน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมองว่าวิกฤตในครั้งนี้รุนแรงกว่าเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ที่ไทยเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะครั้งนี้เป็นผลกระทบในวงกว้าง เมื่อต้นทุนทุกอย่างขึ้น ราคาสินค้าก็ต้องเพิ่มขึ้น
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นกลุ่มบะหมี่สำเร็จรูป เพราะต้นทุนแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ขึ้นราคาหมด หากไม่ปรับราคาก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ส่วนจะปรับขึ้นเท่าไหร่นั้น ต้องพิจารณาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ยังไม่นิ่ง
นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มผงซักฟอง และสินค้าอีกหลายรายการจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นเช่นกัน ตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องคุยกับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะปรับขึ้นได้เท่าไหร่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าควบคุม
"ถ้ารัฐควบคุมการขึ้นราคาสินค้านาน ก็มีโอกาสที่สินค้าจะขาดตลาด เพราะผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตลง หรือชะลอการผลิต เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า ท้ายที่สุดก็ขาดตลาด" นายบุณยสิทธิ์ กล่าว
จากแนวโน้มราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น บริษัทมองว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เข้ามาช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน คือ การปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน หลังจากค่าครองชีพเพิ่มขึ้นไปแล้ว จากราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น
เมื่อค่าแรงเพิ่ม จะทำให้ประชาชนยังมีความสามารถในการซื้อที่มากขึ้น และเกิดการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่เริ่มฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คลี่คลายลงไปมากแล้ว
อีกประเด็นที่เป็นห่วงคือ อัตราเงินเฟ้อ และสงครามยูเครน รัสเซีย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพราะไทยส่งออกอาหาร จึงเป็นโอกาสที่ดี และกำลังซื้อของผู้บริโภคไทยฟื้นเร็วกว่าประเทศอื่น
ส่วนสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นยาวนาน 2 ปี ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโครงการใหม่ ๆ ของเครือสหพัฒน์ จากปกติจะมีการร่วมทุนกับต่างประเทศ เพื่อลงทุนเพิ่มทุกปี แต่ในช่วงโควิดไม่มีการเซ็นสัญญาเพิ่มเติม เนื่องจากต้องประเมินและพิจารณาผลกระทบจากสงครามด้วย แต่หากมีธุรกิจที่เหมาะสมก็พร้อมจะลงทุน เช่นธุรกิจเพื่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตามหากมองในภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค หลังจากโควิด-19 สิ้นสุดลงไป เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งไนประเทศที่สามารถปรับตัวได้เร็ว และได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออกที่ดีมาอย่างเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีการเติบโตได้
ในส่วนของภาพรวมเครือสหพัฒน์ คาดว่าในปี 2565 รายได้จะยังไม่กลับมาเท่าปีก่อนเกิดโควิดแพร่ระบาด และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 ปีกว่าจะสามารถทำรายได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดได้
"สงครามหนักกว่าโควิด เพราะโควิดจบเร็ว 1-2 ปี ไทยจะฟื้นตัว แต่สงครามยังไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน"
ด้าน นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 ในปีนี้ จะเป็นการจัดงานทั้งรูปแบบ On Site และ Online ในคอนเซ็ปต์ ปลดล็อก ช้อปสวนกระแส เพื่อปลดล็อกค่าครองชีพที่สูงขึ้น
สำหรับงานรูปแบบ On Site จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2565 ที่ไบเทค บางนา บนพื้นที่กว่า 20,900 ตารางเมตร โดยจะมีสินค้าแบรนด์ดังราคาพิเศษมาให้เลือกซื้อกว่า 1,000 คูหา กว่า 100 บริษัท ประกอบด้วยอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องสำอาง เครื่องกีฬา เครื่องใช้ไฟฟ้า