ธอส. ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 4 ปีนี้ ตามทิศทาง กนง.

ธอส. ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 4 ปีนี้ ตามทิศทาง กนง.

ธอส. ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 4 ปีนี้ ตามทิศทาง กนง.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า บอร์ด ธอส.ได้ประชุมวางแผนทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเบื้องต้นประเมินว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้ น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ขณะที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 66 อีกอย่างน้อย 0.50% ต่อปี ทำให้คาดว่าในช่วง 2 ปีนี้ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 1%

“ในการประชุม กนง. รอบเดือน ส.ค. 65 หากมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารก็ตรึงไว้ถึงเดือน ต.ค. โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก และครั้งเดียวของปีนี้ ที่เฉลี่ย 0.125%-0.150% ต่อปี ส่วนที่เหลือ คาดว่าธนาคารจะทยอยปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 1/66” นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย ยอมรับว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนของ ธอส. เพิ่มขึ้น เพราะต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากทันที ส่วนฝั่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น อยู่ที่แต่ละธนาคารจะพิจารณาบริหารต้นทุนอย่างไร ซึ่งในปีนี้ก็ยังมีเวลาเหลืออีก 5 เดือน แต่จากการประมาณการคาดว่าการตรึงดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือและลดภาระให้ประชาชน จะทำให้ ธอส. มีต้นทุนในปีนี้เพิ่มขึ้น ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนปี 66 คาดว่าจะกระทบประมาณ 1,300 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ว่าเงินงวดของลูกค้าก็จะยังไม่ปรับขึ้นในทันที ถ้ายังเป็นการชำระดอกเบี้ยและยังมีเงินบางส่วนที่ไปตัดเงินต้น แต่ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจนกระชั้นมาก ๆ เงินงวดไม่พอที่จะนำไปหักเงินต้น ก็จะต้องมีการขึ้นเงินงวด หรือจ่ายภายใต้เงินงวดเท่าเดิม แต่ตัดเงินต้นน้อยกว่าเดิม ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ต้องขยายเงินงวดออกไปเป็นระยะยาวมากขึ้น

กรรมการผู้จัดการ ธอส. มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบกับลูกค้าในกลุ่มเปราะบางที่ต้องการกู้บ้าน แต่ฐานเงินเดือนไม่สูงมากเป็นหลัก เช่น เงินเดือน 20,000 บาท ต้องการกู้ซื้อบ้านราคา 3,000,000 บาท ธนาคารอาจจะต้องลดวงเงินกู้ ส่งผลทำให้กลุ่มเปราะบางดังกล่าวมีบ้านที่ต้องการยากขึ้น ขณะที่กลุ่มที่มีความสามารถในการกู้เดิม ก็จะเข้าหาธนาคารเพื่อเลือกแพ็คเกจสินเชื่อที่สามารถชำระได้โดยไม่มีปัญหามากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook