ค่าเงินบาทวันนี้ 25/7/65 แข็งค่าขึ้นที่ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ จับตาเฟดเคาะขึ้นดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 25/7/65 แข็งค่าขึ้นที่ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ จับตาเฟดเคาะขึ้นดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 25/7/65 แข็งค่าขึ้นที่ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ จับตาเฟดเคาะขึ้นดอกเบี้ย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 25 ก.ค. 65 เปิดที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ พลิกแข็งค่าจากก่อนหน้านี้ปิดที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แต่ต้องระวังความผันผวนในช่วงการประชุมเฟด ซึ่งตลาดการเงินไทยนั้นปิดทำการ ทำให้ปริมาณการซื้อขายอาจเบาบางลงกว่าปกติ

ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่ารุนแรง หากจีนไม่ได้ใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง นอกจากนี้ เงินบาทอาจได้แรงหนุนจาก แรงซื้อหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำรวมถึง มุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่เริ่มกลับมาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาท (Long THB) ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า เงินดอลลาร์อาจจบรอบขาขึ้นแล้ว หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาดและไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง (Peak Hawkishness ของเฟดได้ผ่านไปแล้ว) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หากตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการและข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปแย่กว่าคาด (กดดันเงินยูโร EUR อ่อนค่าลง)

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.30-36.90 บาทต่อ ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากรายงานผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาดและตลาดเริ่มคลายกังวลโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ในสัปดาห์นี้ มองว่า ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC Meeting) รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ (GDP Q2/2022) และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางตลาดการเงินในช่วงนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ ตลาดมองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อาจสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ในเดือนกรกฎาคม ที่จะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 96.9 จุด กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 อาจขยายตัวเพียง +0.5%q/q จากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูงและผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทว่า Atlanta Fed ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีโอกาสหดตัว -1.6%q/q ในไตรมาสที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะ Technical Recession (เศรษฐกิจหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน) ทั้งนี้ เราคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากขึ้น กอปรกับเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางที่ลดลงต่อเนื่อง จะทำให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.75% สู่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งเรามองว่า หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง ก็อาจบอกได้ว่า นโยบายการเงินเฟดได้มาถึงจุด Peak Hawkishness เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงได้ และนอกเหนือจากผลการประชุมเฟดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Meta (Facebook), Amazon, Apple, Alphabet (Google), และ Microsoft เป็นต้น โดยเราคาดว่า ตลาดพร้อมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนโดยรวมออกมาดีกว่าคาด

ฝั่งยุโรป ความกังวลวิกฤติพลังงานที่อาจเกิดขึ้น หากรัสเซียลดหรือยุติการส่งแก๊สธรรมชาติให้กับยุโรป รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อสูง อาจยิ่งกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนกรกฎาคม ดิ่งลงต่อเนื่องสู่ระดับ 90 จุด นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจยิ่งดูแย่ลงได้ หากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพียง +0.1%q/q หรือราว +3.4%y/y ชะลอตัวลงจาก +0.6%q/q หรือ +5.4%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อสูง อนึ่ง นักวิเคราะห์เริ่มคาดว่า แรงกดดันต่อเงินเฟ้อของยูโรโซนอาจเริ่มลดลงในเดือนกรกฎาคม ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าพลังงาน ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อาจชะลอเหลือ 8.5% ทว่าระดับดังกล่าวก็ยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ 2% ไปมาก ทำให้ ECB ยังมีแนวโน้มเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน จะขยายตัว 0.2%m/m จากอานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทว่า ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ อาจกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนกรกฎาคม จนลดลงสู่ระดับ 31 จุด และอาจกระทบต่อแนวโน้มยอดค้าปลีกในอนาคตได้ในที่สุด

ฝั่งไทย ตลาดมองว่า ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนมิถุนายนอาจโตราว +10%y/y ทว่า ราคาสินค้าพลังงานรวมถึงผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทจะยิ่งหนุนให้ยอดการนำเข้า (Imports) เพิ่มสูงขึ้น +19%y/y ทำให้ ดุลการค้ายังคงขาดดุลราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook