วิธีสมัครประกันสังคม เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ออนไลน์

วิธีสมัครประกันสังคม เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ออนไลน์

วิธีสมัครประกันสังคม เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ผ่านช่องทางออนไลน์สำนักงานประกันสังคม เช็กเลยมีเงื่อนไขอะไรบ้าง

ผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจเป็นบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบก่อนออกจากงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม โดยได้รับการคุ้มครอง 6 กรณี ดังนี้

  • กรณีเจ็บป่วย
  • กรณีทุพพลภาพ
  • กรณีคลอดบุตร
  • กรณีตาย
  • กรณีสงเคราะห์บุตร
  • กรณีชราภาพ

ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคม อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ด้วยการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ผ่านระบบออนไลน์โดยมีเอกสาร-วิธีการดังนี้

ประกันสังคมมาตรา 39 ใช้เอกสารอะไรบ้าง

  • แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)
  • บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา

วิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 39 แบบออนไลน์

  1. สมัครประกันสังคม มาตรา 39 ผ่านระบบ e-Service บนเว็บไซต์ www.sso.go.th
  2. เข้าสู่ระบบ สมาชิกผู้ประกันตน
  3. เลือกหัวข้อ “สมัครมาตรา 39” เพื่อเข้าสู่หน้าจอระบบสมัคร
  4. ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ทำการอ่านข้อตกลงและเงื่อนไขครบทุกข้อโดยละเอียด
  5. กรอกใบสมัครให้ครบถ้วน
  6. รอรับผลการอนุมัติเป็นผู้ประกันตน ประกันสังคมมาตรา 39

สมัครประกันสังคมมาตรา 39 แบบเอกสาร

  1. ดาวน์โหลดเอกสาร แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)
  2. แนบบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่มีเลขบัตรประชาชนและรูปถ่ายที่ราชการออกให้ พร้อมสำเนา
  3. ส่งแบบคำขอและเอกสารการสมัครมาตรา 39 ผ่านช่องทางที่สะดวก
  • สมัครทางสำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน
  • สมัครทางไปรษณีย์ระบบลงทะเบียน
  • สมัครทางโทรสาร (FAX)
  • สมัครทางออนไลน์ผ่านระบบอีเมลล์
  • สมัครทางออนไลน์ผ่านระบบไลน์

ประกันสังคมมาตรา 39 จ่ายเท่าไหร่

ประกันสังคมมาตรา 39 จ่ายเดือนละ 432 บาท โดยเป็นเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาท เท่ากันทุกคน คิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (9% x 4,800 = 432)

ประกันสังคมมาตรา 39 จ่ายที่ไหนได้บ้าง

วิธีจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 39

  1. จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา พร้อมแบบส่งเงินสมทบฯ (สปส. 1-11)
  2. หักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มี 6 ธนาคาร ดังนี้
    • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)

หมายเหตุ

  • กรณีหักผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขอรับหนังสือยินยอมให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาที่เปิดบัญชี หรือ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่)
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปรับลดค่าธรรมเนียมรายการละ 5 บาท (เดิมคิดค่าธรรมเนียม 10 บาท)

จ่ายด้วยเงินสดที่

  1. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  3. ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
  4. จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7- ELEVEN ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท สามารถจ่ายเงินสมทบได้ทุกสาขา
  5. จ่ายเป็นธนาณัติ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ พร้อมแบบส่งเงินสมทบ สปส. 1-11 ถึงสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา (กรณีจ่ายผ่านธนาณัติ แนะนำให้สอบถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่า สั่งจ่าย ตู้ ป.ณ. ใด)
  6. จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ จะมีค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท
  7. จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เพย์สบายที่มีสัญลักษณ์ "แจ๋ว" ทุกสาขาทั่วประเทศ จะมีค่าธรรมเนียม 10 บาท

หน้าที่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39

  1. ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน
  2. แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงให้สำนักงานประกันสังคมดังนี้
    • กรณีเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ตามแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ (สปส. 1-34)
    • กรณีเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล หรือแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ต้องแจ้งทันทีพร้อมแนบสำเนาหลักฐาน
    • กรณีประสงค์ลาออกหรือกลับเข้าทำงานและมีสถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรทันทีตามแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 (สปส.1-21)

เหตุที่ทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน

  • ตาย
  • กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
  • ลาออก
  • ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ)
  • ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน)

หมายเหตุ

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้เข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ทำงานในสถานประกอบการ/นายจ้างใหม่) นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนได้ภาย ใน 30 วันนับแต่วันที่เข้าทำงาน โดยผู้ประกันตนไม่ต้องไปดำเนินการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-21) แต่อย่างใด

ยกเว้น กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีการค้างชำระเงินสมทบจะต้องไปดำเนินการแจ้งการลาออก (สปส.1-21) ด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สมัครไว้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook