Zipmex แจงไทม์ไลน์ปัญหา ZipUp+ พร้อมยันปรึกษา ก.ล.ต.ทุกขั้นตอน-ทำตามกฏหมาย
นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกแถลงการณ์ความคืบหน้า และสถานการณ์ของบริษัทในวันนี้
ประเด็นที่ 1 ที่มาของปัญหา และรายละเอียดของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากบริษัทฝากเงินไว้กับบริษัทที่เป็นคู่ค้าทางธุรกิจ ได้แก่ บริษัท เซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) ซึ่งจากสถานการณ์ความผันผวนของตลาดคริปโทฯ ในปีนี้ ทางบริษัท ได้รับทราบข้อมูลว่า Celsius เผชิญหน้ากับปัญหาสภาพคล่อง ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.65 และมีการประกาศล้มละลายในวันที่ 14 ก.ค.65 ในทันทีที่เกิดสถานการณ์นี้ขึ้น คณะกรรมการด้านความเสี่ยง และคณะผู้บริหารของซิปเม็กซ์ได้มีการหารือร่วมกันทันที โดยทางบริษัทฯ พบว่า ณ วันที่ Celsius ประกาศล้มละลาย ทางบริษัทฯ มีเงินฝากคงค้างอยู่กับ Celsius โดยประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับ Celsius ทางบริษัทจึงรีบตรวจสอบเงินฝากที่ได้ฝากไว้กับคู่ค้าทางธุรกิจอีกราย ได้แก่ บริษัท บาเบล ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และพบว่า ซิปเม็กซ์มีเงินฝากอยู่กับ Babel Finance ราว 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบัน Babel Finance ยังคงดำเนินกิจการและอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดย Zipmex Asia ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้มีการเจรจาหารือร่วมกับ Babel Finance มาโดยตลอด และพยายามผลักดันให้เกิดข้อสรุปในด้านต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจมหาภาค และความผันผวนของตลาดคริปโทฯ ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในเช้าวันที่ 20 ก.ค.65 ซิปเม็กซ์จึงตัดสินใจรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อมูลเรื่องการฝากคริปโทฯ กับ Babel Finance และ Celsius ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทราบ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส และชัดเจน
ในขณะเดียวกัน ด้วยสภาพคล่อง และการดำเนินงานของซิปเม็กซ์ในเวลานั้น ทาง Zipmex Asia ตั้งใจที่จะรับภาระในกรณีที่เกิดขึ้นจาก Celsius และยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเจรจาร่วมกับ Babel Finance เพื่อนำสินทรัพย์ที่ฝากไว้กลับคืน จนกระทั่งบริษัทมั่นใจว่า Babel Financel จะยังไม่สามารถคืนสินทรัพย์ให้กับบริษัทฯ ในเวลาที่กำหนดได้ และอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของซิปเม็กซ์ บริษัทจึงได้ตัดสินใจแจ้งกับสำนักงาน ก.ล.ต. และมีการหยุดการให้บริการผลิตภัณฑ์ ZipUp+ เป็นการชั่วคราว
ในส่วนของคำถามว่าเหตุใด ซิปเม็กซ์จึงมีการนำเงินไปฝากกับสองบริษัทอย่าง Babel Finance และ Celsius นั้น สืบเนื่องมาจาก ทางบริษัทฯ มีการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน และมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคู่ค้าทางธุรกิจทุกรายอย่างละเอียด อีกทั้ง ทั้งสองบริษัทยังเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีผลประกอบการที่ดีในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจมหภาค และความผันผวนในตลาดคริปโทฯ ในส่วนของสินทรัพย์ที่ทางบริษัทฯ นำไปฝากกับ Babel Finance นั้น มีมูลค่าน้อยกว่า 5% จากสินทรัพย์ทั้งหมดของ Babel Finance
ข้อตกลงระหว่าง ซิปเม็กซ์ และบริษัทคู่ค้า ซึ่งเป็นในรูปแบบของ Yield Program ที่มีลักษณะเดียวกันกับ Celsius และ Babel Finance ถือเป็นการให้บริการปกติที่เกิดขึ้นได้ในอุตสาหกรรมคริปโทฯ ซึ่งซิปเม็กซ์เองมีการคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยทางบริษัทฯ มีการทำ Due Diligence เพื่อบริหารความเสี่ยงก่อนหน้าที่จะมีการทำข้อตกลงใด ๆ ซึ่งจากการทำ Due Diligence มีผลออกมาว่า ทั้งสองบริษัทฯ มีผลประกอบการแข็งแกร่ง โดยได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนดังทั่วโลก และมีการระดมทุน ดังนี้
- Celsius Network มีการระดมทุนกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการระดมทุนรอบ Series B เมื่อปลายปี 54 โดยท้ายที่สุดแล้วได้รับเงินลงทุนสูงถึง 864 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากเบื้องต้นเพียง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ )
- Babel Finance มีการระดมทุนกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการระดมทุนรอบ Series B เมื่อเดือน พ.ค.65 ทำให้มีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเด็นที่ 2 กระบวนการยื่นขอพักชำระหนี้ หรือ Moratorium Relief ของ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ประเทศสิงคโปร์ จากกระแสข่าวว่ายื่นล้มละลายต่อศาลนั้น เป็นการรายงานข่าวที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากทุกบริษัทในเครือของซิปเม็กซ์ไม่มีการยื่นล้มละลายต่อศาลแต่อย่างใด แต่เป็น Moratorium ยื่นขอพักชำระหนี้ที่ทางกลุ่มบริษัท Zipmex ได้ยื่นขอพักชำระหนี้ต่อศาลสิงคโปร์ตามคำแนะนำของทนายความที่ปรึกษาเพื่อช่วยลดผลกระทบในระยะสั้น และให้บริษัทสามารถมีเวลาจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการทำ Due Diligence ของการระดมทุน
ทั้งนี้ การยื่นต่อศาลสิงคโปร์ในครั้งนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อบริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย หรือประเทศอื่น ๆ แต่อย่างใด เพียงแต่ทางบริษัทชี้แจง หรือประกาศในเว็บไซต์ของบริษัทฯ เพื่อสร้างความโปร่งใสต่อการดำเนินงาน โดยกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์ภายในวันที่ 5 ส.ค.65 โดย ซิปเม็กซ์ ประเทศสิงคโปร์ จะเป็นผู้นำส่งเอกสารต่อศาล ภายในวันที่ 12 ส.ค.65 และศาลประเทศสิงคโปร์ ได้มีการกำหนดนัดพิจารณาคำขอพักชำระหนี้ในวันที่ 15 ส.ค.65 บริษัทไม่ได้มีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริง แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการของศาล ซึ่งหากมีความคืบหน้าที่ชัดเจน ทางบริษัทจะแจ้งให้ทราบในลำดับถัดไป
ประเด็นที่ 3 การดำเนินการแก้ไขปัญหา ในขณะที่บริษัทกำลังประสานงานกับ Bable Finance เพื่อให้ได้สินทรัพย์กลับมา แนวทางการแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่ง คือ การที่บริษัทมีการเร่งระดมทุนเพื่อนำเงินเข้ามาหมุนเวียนในบริษัทฯ โดยไม่ต้องรอให้สถานการณ์ของ Babel Finance ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้มีการหารือร่วมกับนักลงทุนหลายราย และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกับนักลงทุนที่มีความสนใจจริง ๆ 2 ราย ตามที่ได้ออกแถลงการณ์ไป ขณะนี้บริษัทเข้าสู่กระบวนการสอบทาน (Due Diligence) คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการดำเนินงานระยะหนึ่ง ซึ่งทางบริษัทเองมีการเดินหน้าเร่งกระบวนการดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีโดยเร็วที่สุด
ในขณะเดียวกันซิปเม็กซ์ยังได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นปัจจุบันที่มีการลงทุนเพิ่มเติมในเหรียญ ZMT สิ่งนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในศักยภาพของเหรียญ ZMT และ Ecosystem ของทางบริษัทฯ ที่ให้บริการอย่างหลากหลาย นอกจากนี้ ในส่วนของแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ZMT ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตาม Roadmap ให้มากที่สุด ตามที่บริษัทได้แจ้งกับลูกค้าไว้
ประเด็นที่ 4 การชี้แจงข้อมูลจากแถลงการณ์ผ่าน Facebook Live ของสำนักงาน ก.ล.ต.จากประเด็นบนสื่อโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นภายหลังจากการไลฟ์แถลงการณ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ทางบริษัทชี้แจงว่าตั้งแต่ซิปเม็กซ์เปิดกิจการ จนถึงเริ่มให้บริการในประเทศไทย บริษัทได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด ผ่านหน่วยงาน Compliance ของบริษัทฯ ทั้งในแง่ของการประสาน และการขอคำปรึกษาจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการออกผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ ZipUp ในอดีต หรือ ZipUp+ ในปัจจุบัน โดยบริษัทประสานงานทั้งในรูปแบบของลายลักษณ์อักษร และทางวาจาอย่างโปร่งใส ซิปเม็กซ์ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการปฏิบัติในกรอบกติกาของกฏหมายอย่างเคร่งครัด
ประเด็นที่ 5 ความคืบหน้าภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ภายในระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร รวมถึงทีมงานซิปเม็กซ์ทุกคน ทำงานอย่างหนักหน่วง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านการเจรจาร่วมกับนักลงทุน การประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการมุ่งหน้าให้บริการลูกค้าอย่างสุดความสามารถ โดยบริษัทจัดตั้งศูนย์บริการลูกค้าพิเศษ (Hotline) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า รวมไปถึงบริษัทฯ จะยังมีการทยอยเปิดให้บริการ Z Wallet โดยจะเป็นการเครดิตไปที่ Trade Wallet เริ่มจาก 5 เหรียญ ได้แก่ ADA, SOL, XRP, BTC และ ETH ภายในสองอาทิตย์นี้ โดยลูกค้าสามารถติดตามกำหนดการเปิดของแต่ละเหรียญอย่างเป็นทางการได้ผ่านทางเว็บไซต์ และช่องทางอื่น ๆ อย่างเป็นทางการของซิปเม็กซ์
อย่างไรก็ตาม บริษัทขอยืนยันว่าจะรีบดำเนินการเปิดให้บริการการใช้งานบนแพลตฟอร์มตามปกติโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และคลายความกังวลให้แก่นักลงทุนทุกราย