วันแม่ 2565 หอการค้า คาดเงินสะพัด 10,880 ล้านบาท

วันแม่ 2565 หอการค้า คาดเงินสะพัด 10,880 ล้านบาท

วันแม่ 2565 หอการค้า คาดเงินสะพัด 10,880 ล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ “ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันแม่ ปี 2565” ซึ่งดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28 ก.ค.- 2 ส.ค. 65 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 1,288 คนทั่วประเทศ พบว่า วันแม่ปี 2565 นี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 10,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปี 63 (ปี 64 ไม่ได้ทำการสำรวจ เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด) โดยเม็ดเงินดังกล่าว แบ่งเป็นการใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ 10,012 ล้านบาท และการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 870 ล้านบาท

ผลการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ 40.2% ระบุว่า ให้งบประมาณการใช้จ่ายในช่วงวันแม่ปีนี้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นวันพิเศษ, มีรายได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น ขณะที่ 36.5% ให้งบประมาณการใช้จ่ายลดลง เพราะต้องประหยัดมากขึ้น, มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, เศรษฐกิจยังไม่ดี, มีหนี้มาก และรายได้ลดลง เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมที่จะทำในวันแม่ปีนี้มากที่สุด คือ พาแม่ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน รองลงมา คือ พาแม่ไปทำบุญ และทำอาหารรับประทานกันเองที่บ้าน ส่วนของขวัญที่จะให้ในวันแม่ปีนี้ อันดับแรก คือ เงิน/ทอง รองลงมา คือ พวงมาลัย/ดอกไม้ และเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย

ส่วนการวางแผนพาแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดนั้น ส่วนใหญ่ 91.1% ตอบว่าไม่ไป มีเพียง 8.9% ที่ตอบว่าไป ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาเดินทาง 2-3 วัน ในช่วงวันหยุดระหว่างวันที่ 12-14 ส.ค.นี้

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากปริมาณเม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดในช่วงวันแม่ปี 65 ที่ 10,883 ล้านบาท ขยายตัว 9% จากปี 63 นั้น ถือว่าเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 55 ซึ่งทำให้เห็นว่านับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดในประเทศเมื่อปี 63 จนถึงปัจจุบันนี้ ประชาชนมองว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น จึงทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้นในช่วงวันแม่ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบอ่อนๆ จากผลพวงของภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา ภายหลังการเปิดประเทศ ขณะที่การส่งออกยังสามารถเติบโตได้ดี ส่งผลให้เศรษฐกิจในเมืองใหญ่ๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยเหล่านี้เริ่มฟื้นตัวได้ แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบเปราะบาง ซึ่งทำให้รัฐบาลยังจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพ และราคาพลังงาน

“ผลสำรวจนี้ ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแบบอ่อนๆ ความกังวลปัญหาโควิดเริ่มเบาบางลง จึงทำให้ประชาชนเริ่มมีการออกไปท่องเที่ยว ทำงาน ทำกิจกรรมมากขึ้น จะมีการพาแม่ไปท่องเที่ยว ใช้จ่ายนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่าอัตราการขยายตัวที่ 9% ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 55” นายธนวรรธน์ ระบุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook