รัฐเล็งเพิ่มเงินสมทบใน กอช. ช่วยผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอในวัยเกษียณ

รัฐเล็งเพิ่มเงินสมทบใน กอช. ช่วยผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอในวัยเกษียณ

รัฐเล็งเพิ่มเงินสมทบใน กอช. ช่วยผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอในวัยเกษียณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายการขับเคลื่อนระบบประกันสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทย” ว่า กระทรวงการคลัง มีนโยบายที่จะดูแลประชาชนที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งมีนโยบายที่จะเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันรัฐยังสมทบต่ำเกินไป แต่การสมทบที่เพิ่มขึ้นสมาชิกก็ต้องจ่ายสมทบเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันเมื่อสมาชิกส่งเงินออมสะสมตั้งแต่ 50 -13,200 บาทต่อปี รัฐจะเติมเงินสมทบเพิ่มให้ตามช่วงอายุของสมาชิก ดังนี้

  • ช่วงอายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 600 บาท (คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 4%)
  • ช่วงอายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 960 บาท (คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 7%)
  • ช่วงอายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 1,200 บาท (คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 9%) โดยเงินสมทบจากรัฐบาลคิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนโดยประมาณ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากโรคระบาด แม้ว่าระบบสาธารณสุขของไทยจะเข้มแข็งเมื่อเทียบกลับหลายประเทศ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจว่าการระบาดจะไม่รุนแรง แต่ในอนาคต การสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจเกี่ยวกับความพร้อมทางด้านการแพทย์ให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยและวัคซีน ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำ ผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงด้านสาธารณสุขในอนาคต

ขณะที่ธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะธุรกิจประกันสุขภาพ ก็ต้องมีการบริหารความเสี่ยงในการออกผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับสถานการณ์โรคระบาดให้มากขึ้น การออกผลิตภัณฑ์จะต้องรอบคอบ ระมัดระวัง และประชาชนควรจะต้องได้รับการคุ้มครองจากการจ่ายค่าเบี้ยให้มากที่สุดด้วย ขณะเดียวกันการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสของธุรกิจประกัน เนื่องจากผู้สูงวัยจะมีความตระหนักด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง

“ระบบประกันภัย มีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งเงินออม และเงินลงทุน ดังนั้นจากประสบการณ์ 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราจะเผชิญในอนาคตจะเป็นพื้นที่ในการทำธุรกิจมากขึ้น อาทิ ด้านสุขภาพ สะท้อนจากปีนี้ประกันชีวิตเติบโตอย่างมาก เพราะประชาชนต้องบริหารความเสี่ยง และตระหนักเรื่องสุขภาพ ด้านการสร้างความมั่นคงให้ชีวิต โดยเฉพาะวัยเกษียณ ขณะเดียวกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทรัพย์สินของภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ก็เป็นโอกาสของธุรกิจประกันภัยเช่นกัน และยังมีเรื่องของสิ่งแวดล้อม ได้ให้การบ้านไปกับ คปภ.ว่า มีความเสี่ยงที่สิ่งแวดล้อมจะถูกทำลาย หากมีประกันเรื่องนี้ จะเป็นหลักประกันให้กับสิ่งแวดล้อม และถือเป็นอีกโอกาสที่ธุรกิจประกันภัยจะขยายโอกาสทางธุรกิจ และช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม” นายอาคม กล่าว

อย่างไรก็ดี เรื่องดิจิทัลก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ และมีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจ ดังนั้น หากธุรกิจประกันภัยจะดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้เป็นอย่างดี

นายอาคม ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2565 ส่งออกขยายตัว 11% จากปี 2564 ที่ขยายตัวได้ 20% ส่วนหนึ่งได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวก็ยังถือเป็นอีกความหวังของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านคนต่อเดือน ทำให้คาดว่าในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 8-10 ล้านคน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของภาคการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยรัฐบาลหวังว่าหากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ถึง 10 ล้านคน ก็คือ 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวปกติที่ 40 ล้านคน หรือคิดเป็น 25% ซึ่งเชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดีจนถึงปี 66

“สิ่งที่เรายังต้องเผชิญอยู่ตอนนี้ คือราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาท ไม่ได้เป็นประโยชน์กับราคาน้ำมัน แต่เรื่องนี้รัฐบาลได้พยายามดูแล และช่วยเหลือภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยพยายามตรึงระดับราคาน้ำมันไว้ให้มากที่สุด เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป” นายอาคม กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook