ค่าเงินบาทวันนี้ 5/9/65 เปิดที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ พลิกแข็งค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 5/9/65 เปิดที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ พลิกแข็งค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 5/9/65 เปิดที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ พลิกแข็งค่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ พลิกแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 36.74 บาทต่อดอลลาร์ จับตาการประชุมอีซีบี

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.74 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด อนึ่ง เงินบาทอาจส่งสัญญาณกลับตัว แข็งค่าขึ้นได้จากสัญญาณเชิงเทคนิคัล “Bearish Divergence” ของ RSI ที่เริ่มก่อตัวขึ้น ทั้งนี้ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ (ล่าสุด ราคาทองคำเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทราว 62%)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เงินดอลลาร์อาจผันผวน “Sideways”โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม ECB โดยหาก ECB เร่งขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อาจช่วยพยุงค่าเงินยูโรและกดดันเงินดอลลาร์

แนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.35-36.95 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย มาตรการ Lockdown ในจีน และวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรป กดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง

ในสัปดาห์นี้มองว่า ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึง ถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งล่าสุด ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ชี้ว่า ตลาดมองเฟดมีโอกาส 57% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนกันยายน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจนั้น ตลาดประเมินว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนสิงหาคม อาจปรับตัวลงสู่ระดับ 55.4 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) สะท้อนว่า ภาคการบริการสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากพฤติกรรมของชาวอเมริกันที่เริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของตลาดบ้านสหรัฐฯ ที่เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยบ้าน ตามการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

ขณะที่ยุโรป – ไฮไลท์สำคัญในสัปดาห์นี้ จะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงจะหนุนให้ ECB ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) +0.75% สู่ระดับ 0.75%

ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาการปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อใหม่ของ ECB ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ หากเผชิญกับวิกฤตพลังงานในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ ตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองของอังกฤษ หลังพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) จะประกาศผลการเลือกผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนาย Boris Johnson โดยมีความเป็นไปได้ว่า นายกฯ อังกฤษคนใหม่อาจเป็น นาย Rishi Sunak อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในตลาดการเงินทั้ง Investment Bank และ Hedge Fund

ด้านเอเชีย – ตลาดมองว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกอาจสะท้อนผ่านยอดการส่งออกของจีน (Exports) ในเดือนสิงหาคม ที่จะโตราว +12%y/y ลดลงจาก +18% ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ยอดการนำเข้า (Imports) อาจขยายตัวเล็กน้อย +1.1%y/y สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเช่นกัน ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ตลาดมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) รวมถึง ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 2.35% (ขึ้น 0.50%) และ 2.25% (ขึ้น 0.25%) ตามลำดับ หลังเงินเฟ้อในทั้งสองประเทศอยู่ในระดับสูง อีกทั้งเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวดีขึ้น รับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

ฝั่งไทย –คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนสิงหาคมอาจเร่งขึ้นเล็กน้อย +0.1% จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 7.92% โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจที่หนุนให้ราคาสินค้าและบริการโดยรวม ยกเว้นราคาสินค้าพลังงานปรับตัวขึ้นต่อได้

ส่วนการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นปัจจัยที่กดดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งนี้ มองว่า อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง (แต่ไม่สูงเกินคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปมาก) และการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 28 กันยายนได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook