ค่าเงินบาทวันนี้ 9/9/65 เปิดที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว
เงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ หลังธนาคารกลางยุโรปขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ตามคาด แนะจับตาวิกฤตพลังงานในยุโรปรวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจจีน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้รับแรงหนุนจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ที่ได้หนุนให้เงินยูโร (EUR) สามารถทรงตัวเหนือระดับ 1.00 ดอลลาร์ต่อยูโรได้ ทว่า ท่าทีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังหนุนเงินดอลลาร์อยู่นั้นก็เป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้มากในระยะสั้นนี้ นอกจากนี้มองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ทำให้เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ในกรอบกว้างไปก่อน
ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์ หลังนักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าทยอยขายหุ้นไทยต่อเนื่อง (ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า -6.5 พันล้านบาท) และหากนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิ เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ยาก อย่างไรก็ดีมองว่า แรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงได้ หลังเงินบาทส่งสัญญาณกลับตัวเป็นฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจนมากขึ้น (หลังจากที่มองว่าเงินบาทเกิดสัญญาณ RSI Bearish Divergence ในวันจันทร์ที่ผ่านมา) ทำให้เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ 36.20-36.70 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงสั้นนี้
อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้คงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนักมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.45 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์เสี่ยง หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุดได้เน้นย้ำ เฟดจะยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าจะควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ซึ่งลดลงสู่ระดับ 2.22 แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้และสะท้อนภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ก็ยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดคาดว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน (CME FedWatch Tool ระบุโอกาสกว่า 86% ที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย สูงขึ้นจาก 77% ในวันก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็พลิกกลับมาปรับตัวดีขึ้นและปิดตลาดในโซนบวกได้ โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.66% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นกลุ่มการเงิน (Bank of America +3.2%, JP Morgan +2.3%) ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าซื้อหุ้นในกลุ่ม Defensive อาทิ กลุ่มการแพทย์และกลุ่มสาธารณูปโภค ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว หากเฟดเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.50% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร นำโดย Santander +3.4%, Intesa Sanpaolo +2.4% หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) +0.75% ตามคาด สู่ระดับ 0.75% และส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่า ECB จะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกจำกัดด้วย ความกังวลวิกฤตพลังงานที่อาจยิ่งกดดันแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นต่อสู่ระดับ 3.32% เข้าใกล้จุดสูงสุดในปีนี้ ที่ระดับ 3.50% มากขึ้นประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มชะลอลง หากรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้าออกมาชะลอลงมากกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวอาจส่งผลให้บรรดาผู้เล่นต่างรอจังหวะเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ระยะยาว ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.50% ไปได้หรือไม่
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน sideways โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 109.7 จุด โดยแรงกดดันต่อเงินดอลลาร์นั้นมาจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) หลัง ECB เร่งขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากท่าทีของเฟดที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน (แต่ตลาดได้รับรู้มุมมองดังกล่าวไปมากแล้ว ทำให้ผลกระทบต่อเงินดอลลาร์มีอย่างจำกัด) อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหว sideways แต่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กลับมากดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลง สู่ระดับ 1,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการประชุมของบรรดาผู้นำประเทศในสหภาพยุโรป (EU Summit) ที่จะหารือกันถึงมาตรการรับมือวิกฤตพลังงานที่อาจเกิดขึ้น หลังรัสเซียมีแนวโน้มยุติการส่งแก๊สธรรมชาติให้กับยุโรป จนกว่ายุโรปจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ทั้งนี้ ประเมินว่า ยุโรปมีโอกาสที่จะผ่านพ้นวิฤตพลังงานไปได้ หากสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาวไม่ได้เลวร้ายมากนัก หลังอัตราการสำรองแก๊สธรรมชาติได้เร่งขึ้นต่อเนื่องมากกว่าระดับ 80% อีกทั้งหลายประเทศได้เตรียมความพร้อมในการใช้แหล่งพลังงานอื่นเพิ่มเติม อาทิ เยอรมนีได้เตรียมความพร้อมการผลิตพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง