ค่าเงินบาทวันนี้ 14/9/65 เปิดที่ระดับ 36.64 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนัก
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 14/9/65 เปิดที่ระดับ 36.64 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนัก หลังดอลลาร์แข็งค่า บอนด์ยีลด์พุ่ง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.64 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าหนัก”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.27 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว (เงินบาทผันผวนหนักในช่วงตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าจากระดับ 36.20 บาทต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 36.54 บาทต่อดอลลาร์)
นอกจากนี้ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด อาจกลับมากดดันให้ นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยออกมาได้บ้าง ซึ่งต้องจับตาแรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติว่าจะรุนแรงขนาดไหน อย่างไรก็ดี คาดว่า แรงขายหุ้นไทยโดยนักลงทุนต่างชาติอาจไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากสัดส่วนใหญ่ของตลาดหุ้นไทย คือ หุ้นกลุ่ม Old Economy ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยหรือบอนด์ยีลด์น้อยกว่า หุ้นกลุ่ม Tech ที่มีน้ำหนักมากในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
นอกจากนี้หากผู้เล่นในตลาดบอนด์ยังคงมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจทำให้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี (ที่อาจเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ) เป็นไปอย่างจำกัด เพราะผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยซื้อในช่วงบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งมองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะดังกล่าวเช่นกัน ทำให้โดยรวมฟันด์โฟลว์อาจไม่ได้ไหลออกจากตลาดทุนไทยรุนแรง แม้ว่าตลาดจะกลับมากังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
ทั้งนี้อีกตัวแปรที่ต้องจับตา คือ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะราคาย่อตัว ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะสั้นได้ แต่หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ก็จะสามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน (Correlation เงินบาทกับราคาทองคำ สูงกว่า 72%) อนึ่ง การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเผชิญแนวต้านในช่วง 36.75-36.80 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้ส่งออกจำนวนมากอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับในระยะนี้จะยังคงอยู่ในช่วง 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้คงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อย่างรวดเร็ว หลังจากที่รายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาหมวดอาหารและพลังงาน ของเดือนสิงหาคม ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 6.3% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 6.1% สร้างความกังวลให้กับผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ (ล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 33% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง +1.00% ในการประชุมเดือนกันยายน)
ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์รุนแรง โดยเฉพาะ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Meta -9.4%, Amazon -7.1%, Apple -5.9% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -5.16% เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวลดลงถึง -4.32%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็ปรับตัวลงแรงกว่า -1.55% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ นำโดย Adyen -8.0%, ASML -4.1% ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Equinor +1.6% หลังราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับตัวลงรุนแรงเหมือนกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ (ราคาน้ำมันดิบ WTI เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 87-88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มประเมินโอกาสเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง และมองว่าจุดสูงสุดของดอกเบี้ยเฟด (Terminal Rate) อาจสูงถึง 4.25%-4.50% ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ระยะสั้น อย่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.77% ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวอย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี ก็ปรับตัวขึ้นต่อใกล้ระดับ 3.45%
อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าแม้ตลาดจะมองว่าเฟดอาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทว่า ผู้เล่นบางส่วนกลับมองว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ทำให้ยังคงมีผู้เล่นส่วนหนึ่งทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.50% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ไปได้หรือไม่ เพราะหากปรับตัวขึ้นทะลุระดับดังกล่าว อาจส่งผลให้ ตลาดบอนด์ยังคงเผชิญความผันผวนในระยะสั้น จากการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พุ่งขึ้นสู่ระดับ 109.85 จุด จากที่อ่อนค่าลงสู่ระดับ 107.8 จุด ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยแรงหนุนของเงินดอลลาร์นั้นมาจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ
นอกจากนี้ภาวะปิดรับความเสี่ยงอย่างรุนแรงของตลาดยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อยู่ อนึ่ง การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กลับมากดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงกว่า -1.4% สู่ระดับ 1,712 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นแรงซื้อของผู้เล่นบางส่วนกลับเข้ามา ทำให้ราคาทองคำยังสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่อยากถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนักหรือถดถอยในปีหน้า
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตารายงานเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ โดยตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ในเดือนสิงหาคมจะเร่งขึ้นแตะระดับ 10.2% และอาจยิ่งหนุนให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย +0.50% ในการประชุมเดือนกันยายน เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ แม้ว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจะเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้อสูงที่ส่งผลให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอังกฤษดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1980 จะกดดันให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม หดตัวกว่า -0.5%m/m